กรมประมงแจง "กระเบนนก" ไม่ผิดกฎหมาย แต่วอนทุกฝ่ายอนุรักษ์

กรมประมงแจงปม "กระเบนนก"! ชี้มาสเตอร์เชฟ "ไม่ผิดกฎหมาย" แต่วอนทุกฝ่ายอนุรักษ์

กรมประมงแจงปม "กระเบนนก"! ชี้มาสเตอร์เชฟ "ไม่ผิดกฎหมาย" แต่วอนทุกฝ่ายอนุรักษ์
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

กรมประมง หน่วยงานในสังกัดของกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ โพสต์เฟซบุ๊กเมื่อช่วงสายวันนี้ (5 มี.ค.) ระบุว่า การนำ ปลากระเบนนก มาทำอาหารในรายการแข่งขันทำอาหารชื่อดัง มาสเตอร์เชฟ ไทยแลนด์ ตอนที่ออกอากาศเมื่อวันอาทิตย์ที่ผ่านมา (3 มี.ค.) ไม่ผิดกฎหมาย แต่แนะนำให้อนุรักษ์มากกว่านำมาบริโภค

รู้ยัง? กระเบนค้างคาว = กระเบนนกจุดขาว

นายอรุณชัย พุทธเจริญ รองอธิบดีกรมประมง เผยว่า ปลากระเบนที่นำมาใช้ทำอาหารในรายการดังกล่าว มี 2 ชนิด คือ กระเบนหิน และ กระเบนนกจุดขาว ซึ่งกระเบนนกจุดขาวนี้เรียกได้อีกหลายชื่อ คือ กระเบนค้างคาว และกระเบนยี่สน โดยกระเบนนกจุดขาวอยู่ในวงศ์ปลากระเบนนก

ไม่ใช่สัตว์ป่าสงวนหรือสัตวป่าคุ้มครอง

โพสต์ดังกล่าวของกรมประมง ระบุต่อไปว่า ปลากระเบนนกไม่ใช่ปลาที่ชาวประมงต้องการจับเป็นพิเศษ แต่เป็นผลพลอยได้จากการใช้อวนจับปลาชนิดอื่น

นอกจากนี้ ปลากระเบนนกไม่ได้อยู่ในรายชื่อสัตว์ป่าสงวนและสัตว๋ป่าคุ้มครองของไทย หรือในบัญชีแนบท้ายอนุสัญญาว่าด้วยการค้าระหว่างประเทศซึ่งชนิดพันธุ์สัตว์ป่าและพืชป่าที่ใกล้จะสูญพันธุ์ (ไซเตส) 

เหลือน้อย-มีแนวโน้มใกล้สูญพันธุ์

อย่างไรก็ตาม สหภาพสากลเพื่อการอนุรักษ์ธรรมชาติและทรัพยากรธรรมชาติ (ไอยูซีเอ็น) ไปสำรวจพบว่าปลากระเบนนกมีแนวโน้มใกล้สูญพันธุ์ จากการทำประมงและการท่องเที่ยว ดังนั้นจึงขอความร่วมมือจากประเทศที่เป็นเจ้าของสัตว์น้ำชนิดนี้ช่วยบริหารจัดการและอนุรักษ์

"ทางสหภาพสากลเพื่อการอนุรักษ์ธรรมชาติและทรัพยากรธรรมชาติ (IUCN) ได้ทำการสำรวจและประเมินสถานภาพรายชื่อปลาฉลามและปลากระเบนทั่วโลกจำนวน 1,038 ชนิด ขึ้นใน IUCN Red List สำหรับปลากระเบนนกชนิดนี้แสดงสถานะให้เป็นสัตว์น้ำชนิดพันธุ์ที่มีแนวโน้มใกล้สูญพันธุ์ (VU)โดยได้ขอความร่วมมือประเทศที่เป็นเจ้าของสัตว์น้ำในบัญชี IUCN Red List ให้ความสำคัญทั้งด้านบริหารจัดการและการอนุรักษ์เนื่องจากการประเมินสถานภาพพบว่ามีแนวโน้มลดลงจากการทำประมงและการท่องเที่ยว"

แนะชาวประมงปล่อยคืนธรรมชาติ-วอนทุกฝ่ายอนุรักษ์

นอกจากนี้กรมประมงเรียกร้องให้ชาวประมงที่จับปลากระเบนและสัตว์น้ำชนิดอื่นๆ ที่ไม่สัตว์น้ำเศรษฐกิจได้ ปล่อยคืนสู่ธรรมชาติ เพราะแม้ว่าไม่ใช่เรื่องผิดกฎหมาย แต่ก็ขอให้ช่วยกันอนุรักษ์

"ขอความร่วมมือพี่น้องชาวประมงหากจับสัตว์น้ำที่ไม่ใช่สัตว์น้ำเศรษฐกิจขอให้ช่วยกันปล่อยคืนสู่ธรรมชาติ เพราะถึงแม้ประเทศไทยจะมีการกำหนดมาตรการในการบริหารทรัพยากรสัตว์น้ำโดยเน้นการทำการประมงที่ยั่งยืนมากยิ่งขึ้น ด้านการอนุรักษ์สัตว์น้ำเป็นเรื่องที่กรมประมงให้ความสำคัญมาโดยตลอด เนื่องจากสัตว์น้ำบางชนิดถึงแม้อาจไม่ใช่สัตว์น้ำเศรษฐกิจและไม่ถูกนิยมมาบริโภค แต่ก็สามารถเป็นดัชนีชี้วัดความสมบูรณ์ของท้องทะเลไทยได้เป็นอย่างดี"

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook