ยุบพรรคไทยรักษาชาติ ไทม์ไลน์จากก้าวแรกสู่วาระสุดท้าย
หลังจาก ศาลรัฐธรรมนูญมีคำวินิจฉัยอย่างเป็นทางการ ยุบพรรคไทยรักษาชาติ และตัดสิทธิ์กรรมการบริหารพรรค 10 ปี พร้อมกับส่งผลให้บรรดาผู้สมัคร ส.ส. ของพรรค ทั้งแบ่งเขต และบัญชีรายชื่อ มีอันต้องพ้นสภาพการเป็นผู้สมัครไปด้วยตามพรรคที่ถูกยุบไป เนื่องจากไม่สามารถหาพรรคสังกัดใหม่ได้ทันภายใน 60 วัน นับถึงวันเลือกตั้ง
จากมติของศาลดังกล่าว พบว่าเหตุการณ์ทั้งหมดเกิดขึ้นมีระยะเวลา 1 เดือนเต็มพอดี ตามลำดับดังนี้
วันที่ 8 ก.พ. 62 เวลา 09.10 น. ร.ท.ปรีชาพล พงษ์พานิช หัวหน้าพรรคไทยรักษาชาติ เสนอพระนาม ทูลกระหม่อมหญิงอุบลรัตนราชกัญญา สิริวัฒนาพรรณวดี อยู่ในบัญชีชื่อแคนดิเดตนายกรัฐมนตรีของพรรคไทยรักษาชาติ
เวลา 13.30 น. นายไพบูลย์ นิติตะวัน หัวหน้าพรรคประชาชนปฏิรูปแถลงด่วนเพื่อให้ กกต.มีคำสั่งให้พรรค ทษช. ระงับการเสนอชื่อนายกรัฐมนตรี เพราะผิด มาตรา 92 พ.ร.ป.พรรคการเมือง ที่แม้ทูลกระหม่อมฯ จะลาออกจากฐานันดรศักดิ์มาเป็นสามัญชนแล้ว แต่ยังคงเป็นสมาชิกพระราชวงศ์ โดยอ้างคำวินิจฉัยศาลรัฐธรรมนูญ ที่ 6/2553 ที่พระมหากษัตริย์ พระราชินี พระรัชทายาท พระบรมวงศ์ ไม่ต้องไปใช้สิทธิ์เลือกตั้ง และในเวลา 22.45 น. สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวโปรดเกล้าฯ พระบรมราชวงศ์ต้องอยู่เหนือการเมือง ดำรงตำแหน่งทางการเมืองไม่ได้ ทูลกระหม่อมฯ ยังเป็นพระบรมราชวงศ์
วันที่ 9 ก.พ. 62 เวลา 12.30 น. พรรคไทยรักษาชาติแถลงการณ์ขอน้อมรับในพระราชโองการ ไว้เหนือเกล้าเหนือกระหม่อม และรอฟังมติ กกต. พร้อมทำตามและเดินหน้าต่อสู่การเลือกตั้ง
วันที่ 10 ก.พ. 62 เวลา 11.00 น. นายศรีสุวรรณ จรรยา เลขาธิการสมาคมองค์การพิทักษ์รัฐธรรมนูญ แจ้งข่าวจะไปยื่น กกต.ให้ยุบพรรคไทยรักษาชาติ
วันที่ 11 ก.พ. 62 เวลา 16.00 น. กกต.ไม่ประกาศชื่อแคนดิเดตนายกรัฐมนตรีจากพรรคไทยรักษาชาติ ระบุเพราะขัดเจตนารมณ์รัฐธรรมนูญ ขัดประเพณีปฏิบัติในการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข
วันที่ 12 ก.พ. 62 เวลา 13.30 น. ร.ท.ปรีชาพล พงษ์พานิช หัวหน้าพรรคปรากฏตัวเข้าพรรคครั้งแรก นับตั้งแต่เสนอชื่อแคนดิเดตนายกฯ และในเวลา 15.30 น. มีรายงานข่าวว่า กกต.มีมติยื่นศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยยุบพรรคไทยรักษาชาติ แต่ในเวลา 17.00 น. ประธาน กกต.ยืนยันยังไม่มีมติ ก่อนที่ในเวลา 19.00 น. ฝ่ายกฎหมายพรรค ทษช.ไปยื่น กกต.ขอใช้สิทธิให้ไต่สวนผู้ถูกกล่าวหา ก่อนส่งเรื่องไปยังศาลรัฐธรรมนูญ
วันที่ 13 ก.พ. 62 เวลา 13.00 น. เลขาธิการ กกต.นำมติ กกต.ยื่นศาลรัฐธรรมนูญให้ยุบพรรคไทยรักษาชาติ และเวลา 15.00 น. หัวหน้าพรรคไทยรักษาชาติแถลงขอความเป็นธรรมชี้แจงหลักฐาน
วันที่ 14 ก.พ. 62 เวลา 11.00 น. จาตุรนต์ ฉายแสง ณัฐวุฒิ ใสยเกื้อ พร้อมแกนนำพรรคแถลงขอยุติการหาเสียงจนกว่าศาลรัฐธรรมนูญจะวินิจฉัยคดียุบพรรค ทษช. และเวลา 14.45 น. ศาลรัฐธรรมนูญมีมติรับคำร้องของ กกต.ไว้พิจารณาวินิจฉัยยุบพรรคไทยรักษาชาติ จากนั้นเวลา 15.00 น. ศาลรัฐธรรมนูญนำคำร้องแจ้งผู้ถูกกล่าวหาที่พรรค ทษช. และเวลา 15.15 น. พรรค ทษช.แถลงน้อมรับมติศาลรัฐธรรมนูญ ระบุขอรวบรวมหลักฐานชี้แจงข้อกล่าวหา
วันที่ 18 ก.พ. 62 เวลา 10.30 น. ร.ท.ปรีชาพล พงษ์พานิช หัวหน้าพรรคไทยรักษาชาติและกรรมการบริหารพรรค เข้ามายังที่ทำการพรรค ขณะที่ฝ่ายกฎหมายสรุปแนวทางสู้คดียุบพรรค
วันที่ 20 ก.พ. 62 ครบกำหนด 7 วันที่ศาลรัฐธรรมนูญให้เวลาพรรคไทยรักษาชาติชี้แจงข้อกล่าวหา โดยพรรคแก้ต่างทั้งสิ้น 8 ข้อ พร้อมยืนยันมีเจตนาบริสุทธิ์ในการยื่นชื่อแคนดิเดตนายกรัฐมนตรี
วันที่ 27 ก.พ. 62 ศาลรัฐธรรมนูญนัดพิจารณาคดียุบพรรคไทยรักษาชาติ และนัดคู่กรณีฟังคำวินิจฉัย
และ 7 มีนาคม 62 เวลา 13.30 น. ศาลรัฐธรรมนูญนัดแถลงด้วยวาจา ปรึกษาหารือ และลงมิติ ก่อนที่เวลา 15.00 น. ให้คู่ความคือ กกต. และพรรคไทยรักษาชาติ มาฟังคำวินิจฉัย ก่อนมีมติยุบพรรค และตัดสิทธิทางการเมืองกรรมการบริหารเป็นเวลา 10 ปี