เลือกตั้ง 2562: เช็กหน้าตัก 3 ขั้ว ใครเป็นต่อ-ใครคุมเกม
เหลืออีกเพียง 3 วันจะถึงวันเลือกตั้ง ประชาชนทั้งประเทศก็จะได้ใช้สิทธิใช้เสียง ตัดสินอนาคตประเทศว่าจะไว้วางใจให้ใครเข้ามาบริหารราชการแผ่นดิน ซึ่งจนถึงตอนนี้ทั้ง 3 ขั้ว ต่างชิงเหลี่ยมกันสุดฤทธิ์ ยังมองไม่ออกว่าใครจะเข้าวิน และจะจับมือกับใครในการจัดตั้งรัฐบาล
พรรคพลังประชารัฐ ที่มี “พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา” เป็นตัวชูโรง ดูเหมือนจะได้เปรียบทุกช่องทางในการแข่งขันครั้งนี้ และบรรดาแกนนำ-คีย์แมนพรรค ล้วนมั่นใจว่าจะสามารถเข้าป้ายได้ตามที่หวังไว้ ส่วนจะถึง 150 ที่นั่งเพื่อโหวตเลือกนายกรัฐมนตรีแบบไม่ต้องง้อพรรคร่วมรัฐบาลหรือไม่ เป็นเรื่องที่น่าลุ้นเพราะถ้าอ้างอิงโพลของมหาวิทยาลัยรังสิต ที่ระบุว่า พลังประชารัฐ จะกวาด ส.ส.ได้มากถึง 110-130 ที่นั่ง เหนือ เพื่อไทย และ ประชาธิปัตย์ เสียอีก จึงเป็นที่มาของการลุยหาเสียงของทุกพรรคอย่างหนัก เพื่อหวังพลิกสถานการณ์กันในช่วงโค้งสุดท้าย
ถ้าผลการให้คะแนนของประชาชนในวันที่ 24 มี.ค.นี้ เป็นไปตามโพลของ ม.รังสิต พรรคพลังประชารัฐก็จะเป็นแกนนำจัดตั้งรัฐบาลแบบไร้ข้อกังขา จะเหลือเพียงการดึงแนวร่วมมาฟอร์มรัฐบาล ให้มีความชัดเจนเท่านั้น ซึ่งเงื่อนไขของ ประชาธิปัตย์ และ ภูมิใจไทย ที่เคยประกาศไว้ก่อนหน้านี้คงไร้ความหมาย สุดท้ายก็คงมาร่วมอยู่ดีเพราะถือว่าประชาชนตัดสินใจแล้ว
แต่หากผลเลือกตั้ง ไม่เป็นไปตามโพล กลายเป็น เพื่อไทย เข้าวิน และตามด้วย ประชาธิปัตย์ ขณะที่ พลังประชารัฐ มาเป็นอันดับที่ 3 จะทำให้ขั้วการเมืองเปลี่ยนแปลงมากแค่ไหนนั้นคงต้องรอดูตัวเลขของแต่ละพรรคอีกทีว่า เพื่อไทย จะสามารถตั้งรัฐบาลและรวมเสียงเพื่อโหวตเลือกนายกฯ ได้หรือไม่
แต่ขณะเดียวกัน ต้องไม่ลืมว่าหาก พลังประชารัฐ มาเป็นอันดับที่ 2 หรือที่ 3 แล้วต้องการที่จะจัดตั้งรัฐบาลโดยการอาศัยเสียงจาก ส.ว. ที่ คสช.แต่งตั้ง 250 คนมาช่วยโหวต ก็สามารถทำได้และไม่ผิดกติกาแต่อย่างใด เพราะรัฐธรรมนูญกำหนดไว้ แต่อาจจะกลายเป็นคำถามตัวโตๆ ว่าเหมาะสมและมีความชอบธรรมหรือไม่ ที่จะไปดำเนินการสวนมติประชาชนแบบนั้น
ทั้งนี้ ด้วยข้อมูลตัวเลข ส.ส.ของทั้ง 3 ขั้ว คือ พลังประชารัฐ เพื่อไทย และ ประชาธิปัตย์ จะได้จากโพลของ ม.รังสิต นั้น พลังประชารัฐ 110-130 ที่นั่ง เพื่อไทย 100-110 ที่นั่ง และประชาธิปัตย์ 86 ที่นั่ง โดยมี ภูมิใจไทย ที่หลายคนมองว่าเป็นตัวแปรที่สำคัญที่สุดได้ 38 ที่นั่ง และ อนาคตใหม่ ได้มา 30 ที่นั้งนั้น โอกาสที่ขั้วการเมืองจะจับมือกันจัดตั้งรัฐบาลก็น่าจะเป็น พลังประชารัฐ-ประชาธิปัตย์-ภูมิใจไทย ด้วยตัวเลข 110+86+38 = 234 เสียง แล้วค่อยไปรวมพรรคเล็กที่เป็นกองหนุนสำคัญอย่าง รวมพลังประชาชาติไทย อีก 25 ที่นั่ง ชาติไทยพัฒนา 19 ที่นั่ง และชาติพัฒนา อีก 13 ที่นั่ง ก็จะทำให้มีเสียงเกินกึ่งหนึ่งของสภาผู้แทนราษฎรแบบไร้ปัญหา ด้วยตัวเลขประมาณ 291 เสียงเลยทีเดียว
อย่างไรก็ตาม ทุกสิ่งทุกอย่างทั้งตัวเลขและแนวทางที่น่าจะเป็นของสมการจัดตั้งรัฐบาล คงต้องรอหลังจากทุกพรรคได้ตัวเลขของตัวเองที่ชัดเจนจากการลงมติของประชาชนมาแล้วเท่านั้น จึงจะสามารถฟันธงได้ว่า ขั้วไหนจะได้จัดตั้ง ขั้วไหนจะมีพลังการต่อรองมากกว่ากัน
แต่ที่สำคัญที่สุดในเวลานี้ อำนาจอยู่ในมือของประชาชน ประชาชนเท่านั้นที่จะเป็นผู้ตัดสินว่าใคร คือ ผู้บริหารประเทศชุดใหม่