สุดยอด นักวิทย์ฯ จีนเปลี่ยนของเสียจากพืช ให้เป็นน้ำมันเครื่องบินเข้มข้น
สำนักข่าวซินหัวรายงานว่า ทีมนักวิทยาศาสตร์ชาวจีนได้ออกแบบกระบวนการที่สามารถแปลงขยะที่เป็นพืชผลจากการเกษตรและท่อนไม้เป็นเชื้อเพลิงเครื่องบินเจ็ทที่มีคุณภาพ ซึ่งอาจจะช่วยลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์จากเครื่องบินและจรวดได้
ผลการศึกษาที่ตีพิมพ์เมื่อวันพฤหัสบดีที่ผ่านมา (21 มี.ค.) ในวารสารจูล (Joule) แสดงให้เห็นว่า พอลิเมอร์ในผนังเซลล์ของพืช ที่มีราคาถูก มีอยู่มากมาย และนำมาใช้หมุนเวียนได้นั้น สามารถนำมาผลิตเป็นเชื้อเพลิงอากาศยานที่มีความเข้มข้นสูงได้
“เชื้อเพลิงชีวภาพของเรามีความสำคัญในแง่ของการลดปริมาณการปล่อยคาร์บอนไดออกไซด์ (CO2) เนื่องจากมันได้มาจากชีวมวล และมีความหนาแน่นสูงกว่าเมื่อเทียบกับเชื้อเพลิงอากาศยานทั่วไป” Li Ning นักวิทยาศาสตร์จากสถาบันฟิสิกส์เคมีต้าเหลียน ภายใต้สภาวิทยาศาสตร์แห่งชาติจีน (Chinese Academy of Sciences: CAS) กล่าว
ผลการศึกษากล่าวว่า การใช้เชื้อเพลิงอากาศยานที่มีความหนาแน่นสูงจะช่วยเพิ่มช่วงน้ำหนักการบรรทุกของเครื่องบินได้อย่างมีนัยสำคัญ โดยไม่ต้องปรับเปลี่ยนปริมาณน้ำมันในถัง
Li และทีมงานใช้เซลลูโลสต้นข้าวสาลีในการทดลองในห้องปฏิบัติการเพื่อผลิตสารผสมระหว่างคาร์บอน-12 และคาร์บอน-18 ที่มีจุดเยือกแข็งต่ำและมีความหนาแน่นสูงกว่าเชื้อเพลิงเครื่องบินเจ็ททั่วไปประมาณ 10 เปอร์เซ็นต์
ผลการศึกษาระบุว่า มันสามารถนำมาใช้เป็นเชื้อเพลิงทดแทนทั่วไปหรือนำมาเป็นสารเติมแต่งเพื่อปรับปรุงประสิทธิภาพของเชื้อเพลิงเครื่องบินเจ็ทชนิดอื่นๆ ได้
“เครื่องบินที่ใช้เชื้อเพลิงตัวนี้จะสามารถบินได้ไกลกว่าและบรรทุกได้มากกว่าเครื่องบินเจ็ทที่ใช้เชื้อเพลิงธรรมดาทั่วไป ซึ่งสามารถช่วยลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ในขณะขึ้นบินและลงจอดได้” Li กล่าว
นักวิทยาศาสตร์คาดว่ากระบวนการดังกล่าวที่ทั้งไม่ซับซ้อน ราคาถูก และประหยัดพลังงาน จะสามารถนำไปใช้ในเชิงพาณิชย์ได้ในเร็ววันนี้