เลือกตั้ง 2562: สูตรตั้งรัฐบาล ลุงตู่ VS เพื่อไทย ฝั่งหนึ่งสบาย อีกฝ่ายหืดจับ!
เมื่อดูจากผลการเลือกตั้ง พบว่าการจัดตั้งรัฐบาลในปี 2562 ไม่ง่ายนัก เพราะพรรคที่ได้จำนวนสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร (ส.ส.) มากที่สุด และได้คะแนนดิบจากประชาชน (Popular Vote) มากที่สุด ไม่ใช่พรรคเดียวกัน ทำให้ทั้ง 2 พรรคต่างอ้างสิทธิ์ว่าตัวเองมีความชอบธรรมที่จะจัดตั้งรัฐบาล และเมื่อดูความเป็นไปได้ ทั้ง 2 พรรคมีความได้เปรียบและเสียเปรียบที่ต่างกันอย่างเห็นได้ชัด เพราะฉะนั้น sanook.com จึงขอพามาดูว่า แนวร่วมของทั้ง 2 พรรคจะจัดตั้งรัฐบาลโดยใช้สูตรใดกันบ้าง
ก่อนอื่น ต้องขออธิบายก่อนว่า การที่จะจัดตั้งรัฐบาลได้นั้น ต้องฝ่าด่านการเลือกตัวนายกรัฐมนตรีให้ได้เสียก่อน เพราะนายกรัฐมนตรีเป็นผู้เลือกรัฐมนตรีมาทำงาน แต่การเลือกนายกรัฐมนตรีครั้งที่จะถึงนี้ไม่ได้ใช้เฉพาะเสียง ส.ส. อย่างเดิม แต่นำสมาชิกวุฒิสภา (ส.ว.) มาร่วมเลือกด้วย แปลว่าต้องได้เสียงมากกว่า 375 เสียง จึงเป็นสาเหตุว่า ทำไมทั้งแนวร่วมพรรคเพื่อไทย และแนวร่วมพรรคพลังประชารัฐ จึงพยายามรวบรวมเสียงให้ถึง 376 เสียงเป็นอย่างต่ำ
สิ่งที่น่าสนใจคือ ส.ว. ทั้ง 250 คนมาจากการแต่งตั้งของคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ทั้งหมด จึงทำให้หลายฝ่ายตั้งข้อสังเกตว่า ส.ว. อาจให้ประโยชน์แก่แนวร่วมพรรคพลังประชารัฐ ที่มี พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา หัวหน้า คสช. เป็นตัวแทนชิงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี
>> เลือกตั้ง 2562: คาดการณ์จำนวน ส.ส. 500 คน 27 พรรคเข้าสภา! พรรคเล็กเพียบ
แนวร่วมเพื่อไทย ค่อนข้างเหนื่อย
เหตุนี้ทำให้แนวร่วมพรรคเพื่อไทย จึงมีความยากลำบากในการจัดตั้งรัฐบาลมากกว่าแนวร่วมพรรคพลังประชารัฐ เพราะต้องรวบรวมเสียงให้เกิน 375 เสียง แต่ลำพัง 7 พรรคที่เป็นแนวร่วม คือ พรรคเพื่อไทย พรรคอนาคตใหม่ พรรคเสรีรวมไทย พรรคประชาชาติ พรรคเศรษฐกิจใหม่ และพรรคพลังปวงชนไทย มีเสียงเพียง 246 เสียงเท่านั้น และยังไม่ถึงกึ่งหนึ่ง
แม้ว่าจะรวมเสียงเกินกึ่งหนึ่งของสภาผู้แทนราษฎรได้แล้ว แต่ก็ยังไม่เพียงพอที่จะได้เสียงเกินกึ่งหนึ่งของทั้งรัฐสภา ดังนั้นนอกจากแนวร่วมของตัวเองแล้ว ยังต้องรวบรวมเสียงพรรคที่ยังไม่ได้ตัดสินใจ และพรรคเล็กให้ได้ โดยโดดเดี่ยว 4 พรรคแนวร่วมพลังประชารัฐ ได้แก่ พรรคพลังประชารัฐ พรรครวมพลังประชาชาติไทย พรรคไทยศรีวิไลย์ และพรรคประชาชนปฏิรูป หากทำเช่นนี้ได้จะทำให้แนวร่วมเพื่อไทย รวมเสียงได้ 377 เสียง
แนวร่วมพลังประชารัฐ: รัฐบาลเสียงข้างน้อย พึ่ง ส.ว.
สถานการณ์ที่ว่ามา ช่างต่างจากแนวร่วมของพรรคพลังประชารัฐเหลือเกิน เพราะว่านอกจากมีแนวร่วมอยู่ด้วยกันอย่างชัดเจนถึง 4 พรรค คือ พรรคพลังประชารัฐ พรรครวมพลังประชาชาติไทย พรรคประชาชนปฏิรูป และพรรคไทยศรีวิไลย์ แล้ว หลายฝ่ายยังมองว่า ส.ว. จำนวน 250 คน ที่ คสช. เป็นผู้ทำคลอดมากับมือนั้น มีแนวโน้มสูงที่จะออกเสียง ยกมือให้ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ซึ่งเป็นหัวหน้า คสช. เป็นนายกรัฐมนตรีต่อไปอีก
ถึงอย่างนั้น แม้ 4 พรรค + ส.ว. จะรวบรวมเสียงได้ถึง 373 เสียงแล้ว ก็ยังไม่เกินกึ่งหนึ่งของรัฐสภา หรือ 376 เสียงอยู่ดี แต่ก็ถือว่าใกล้มาก เพราะฉะนั้นเพียงแค่หาอีกพรรคที่มีแค่ 3 เสียง ฝันที่วาดเอาไว้ ก็คงเป็นจริงได้ไม่ยาก
แต่ถ้าหากใช้วิธีการนี้ สิ่งที่จะตามมาคือการเป็นรัฐบาลที่มีเสียงข้างน้อยในสภาผู้แทนราษฎร จนอาจทำให้การออกกฎหมายหรือโครงการต่างๆ ทำได้ยากหรือเป็นไปไม่ได้ และเมื่อเกิดความขัดแย้งขึ้น รัฐบาลขาดเสถียรภาพ สิ่งที่จะตามมาคือการยุบสภาและเลือกตั้งใหม่
แนวร่วมพลังประชารัฐ: รวมเสียงข้างมากได้ แต่ผ่านกฎหมายยาก
ดังนั้น ถ้าอยากเป็นรัฐบาลไปยาวๆ สิ่งที่จะต้องทำให้ได้ คือการจับมือกับพรรคการเมืองอื่นๆ ให้ได้เสียงมากกว่ากึ่งหนึ่งของสภาผู้แทนราษฎร ซึ่งถ้าไม่นับ ส.ว. 250 คน ยังขาดอีก 125 คน เพราะฉะนั้นจะต้องรวบรวมเสียงพรรคประชาธิปัตย์ (52) พรรคภูมิใจไทย (51) พรรคชาติไทยพัฒนา (10) พรรคชาติพัฒนา (3) และพรรคเล็กอย่างน้อย 12 เสียงจากทั้งหมด 15 เสียงที่เหลืออยู่
หากเป็นไปตามนี้ นอกจาก พล.อ.ประยุทธ์ จะได้รับความไว้วางใจจากรัฐสภาให้เป็นนายกรัฐมนตรีแล้ว รัฐบาลก็ยังมีเสียงข้างมากในสภาผู้แทนราษฎร แต่ก็ต้องยอมรับว่า การผ่านกฎหมายหรือโครงการต่างๆ ก็ไม่ง่าย เพราะมีเสียงมากกว่าแนวร่วมพรรคเพื่อไทย (7 พรรค ที่มีอยู่ 246 เสียง) เพียงแค่ 8 เสียงเท่านั้น
สุดท้ายแล้ว พรรคเพื่อไทยก็อาจจะต้องเหนื่อยในตอนนี้ เพื่อทำให้สูตรตั้งรัฐบาลของตัวเองเกิดขึ้นจริง แต่จะสบายในระยะยาว ขณะเดียวกัน แนวร่วมพรรคพลังประชารัฐอาจสบายตอนนี้เพื่อตั้งรัฐบาล แต่ในวันข้างหน้าเมื่อถึงสนามจริงในสภา คงต้องทำงานกันเหนื่อยเหมือนวิ่งมาราธอนแบบไม่มีวันพัก
>> เลือกตั้ง 2562: ขยับหนีทางตันการเมือง โอกาสเกิดตำนานงูเห่า-รัฐบาลแห่งชาติ ยิ่งสูงขึ้น!