เพื่อนบ้านหวังจีนยกเลิกระเบิดเกาะแก่งในแม่น้ำโขง หลังกระทบระบบนิเวศ-วิถีชีวิต

เพื่อนบ้านหวังจีนยกเลิกระเบิดเกาะแก่งในแม่น้ำโขง หลังกระทบระบบนิเวศ-วิถีชีวิต

เพื่อนบ้านหวังจีนยกเลิกระเบิดเกาะแก่งในแม่น้ำโขง หลังกระทบระบบนิเวศ-วิถีชีวิต
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

แม่น้ำโขงมีความยาวราว 4,900 กิโลเมตร ติดอันดับ 10 ของแม่น้ำที่ยาวที่สุดในโลก อยู่ในเขตประเทศจีนประมาณ 2,000 กิโลเมตร ไหลผ่านประเทศถึง 6 ประเทศ ตั้งแต่ จีน เมียนมา ลาว ไทย กัมพูชา ก่อนไหลลงสู่ทะเลจีนใต้ที่ประเทศเวียดนาม

ลักษณะสำคัญของแม่น้ำโขงคือ มีตลิ่งที่สูงชันมากทั้งสองฝั่ง ไหลเลี้ยวเลาะไปตามไหล่เขา กระแสน้ำจะไหลจากทางเหนือลงสู่ทางใต้ตลอดทั้งปี ระดับน้ำในฤดูฝนกับฤดูแล้งจะมีความแตกต่างกันอย่างมาก

ความเร็วของกระแสน้ำขึ้นอยู่กับแต่ละฤดูกาล ดินในแม่น้ำโขงเป็นดินทราย มีเกาะแก่งน้อยใหญ่กว่าหนึ่งร้อยแห่งเรียงรายตลอดแม่น้ำ บริเวณปากแม่น้ำโขงตรงนั้นมีสามเหลี่ยมดินดอนยักษ์อันได้รับการยกย่องจากนานาชาติว่ามีความหลากหลายทางชีววิทยาและธรณีวิทยาอย่างยิ่ง อีกทั้งตลอดเส้นทางของแม่น้ำโขงยังมีพันธุ์ปลานับพันชนิด โดยเฉพาะปลาบึกซึ่งพบได้เพียงเฉพาะแม่น้ำสายนี้เท่านั้น จึงเป็นแม่น้ำที่สำคัญอย่างยิ่งในระดับโลก

ในอดีตสมัยล่าอาณานิคมเมื่อร้อยกว่าปีมาแล้ว ฝรั่งเศสขยายอำนาจเข้าไปทางตอนใต้ของจีนบริเวณมณฑลหยุนหนานที่เป็นแหล่งทรัพยากรธรรมชาติสำคัญของโลก โดยวางแผนใช้เส้นทางน้ำคือแม่น้ำโขงเป็นเส้นทางคมนาคมและโลจิสติกส์นั่นเอง

ดังนั้นเมื่อฝรั่งเศสเข้ายึดครองเอาดินแดนประเทศเวียดนาม ลาว และกัมพูชาในปัจจุบันนี้ จนตั้งเป็นรัฐอินโดจีนในอารักขาของฝรั่งเศสได้สำเร็จ จึงเริ่มสำรวจลำน้ำโขงกันอย่างจริงจังถึงพบว่า แม่น้ำใหญ่สายนี้คงจะเป็นเส้นทางไปสู่มณฑลหยุนหนานเป็นเรื่องที่เป็นไปไม่ได้ เพราะแม่น้ำแห่งนี้เต็มไปด้วยพื้นที่บริเวณที่มีเกาะแก่งขวางลำน้ำอยู่เต็มไปหมดโดยเฉพาะบริเวณที่เรียกว่า “สี่พันดอน” ซึ่งตั้งอยู่ทางตอนใต้ของประเทศลาวในปัจจุบันนี้

“สี่พันดอน” อาจจะมีความหมายตรงตัวแปลเป็นไทยง่ายๆ ว่า ดินแดนที่มีเกาะแก่งจำนวนมากมายมหาศาล โดยใช้ตัวเลข 4,000 แทนความหมายว่ามากมาย ยิ่งกว่านั้นยังมีน้ำตกที่ใหญ่ที่สุดในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้คือ “คอนพะเพ็ง” อันเป็นปลายส่วนทางตอนเหนือของสี่พันดอนนี่เอง

ในชั้นแรกที่พวกฝรั่งเศสสำรวจพบเกาะแก่งในแม่น้ำโขงพวกนี้ จึงมีความพยายามที่จะระเบิดเกาะแก่งเหล่านี้ทิ้งไปให้หมด คือ การพยายามระเบิดแก่งหลี่ผี ซึ่งก็อยู่ไม่ห่างไปจากน้ำตกคอนพะเพ็งนั่นเอง แต่ก็ต้องล้มเลิกไปเพราะไม่คุ้มทุน ทำให้ความพยายามที่จะระเบิดเกาะแก่งต่างๆ ในแม่น้ำโขงต้องระงับไปร่วมร้อยปี

แต่ในปี พ.ศ. 2543 สาธารณรัฐประชาชนจีนได้ผลักดันข้อตกลงความร่วมมือว่าด้วยการเดินเรือพาณิชย์ในแม่น้ำโขง 4 ชาติ คือ จีน ไทย ลาว และเมียนมา ด้วยการพัฒนาท่าเรือ 14 แห่ง ตั้งแต่เชียงรุ้ง-หลวงพระบาง ระยะทาง 890 กิโลเมตร ได้แก่ ซือเหมา จิ่งหงหรือเชียงรุ้ง เมืองหัง กวนเหล่ย ในจีน, บ้านจิง บ้านโป่ง ของประเทศเมียนมา, ปางทราย ปางเซียงก่อ เมืองมอม บ้านป่าลุน ห้วยทราย หลวงพระบาง ของประเทศลาว และท่าเรือ อ.เชียงแสน อ.เชียงของ ประเทศไทย

โดยจีนเป็นผู้นำในการขับเคลื่อนข้อตกลงดังกล่าวอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะการปรับปรุงร่องน้ำเพื่ออำนวยความสะดวกในการเดินเรือสินค้า เพราะมีเรือสินค้าจีนหลายร้อยลำต่างขนส่งสินค้าไปมาระหว่างท่าเรือเชียงแสน จ.เชียงราย-จีนตอนใต้ โดยเฉพาะท่าเรือกวนเหล่ย ซึ่งเป็นเมืองท่าหน้าด่านของจีนที่กำลังมีการพัฒนาขนานใหญ่อย่างต่อเนื่อง โดยจีนได้ปรับปรุงร่องแม่น้ำโขงในส่วนของจีนเสร็จแล้ว

ส่วนพื้นที่อื่นๆ ที่เกี่ยวข้องกับประเทศสมาชิกได้กำหนดแผนดำเนินการเอาไว้ 2 ระยะ โดยเดิมกำหนดเอาไว้ว่าระยะที่ 1 จะดำเนินการเพื่อเรือขนาดไม่น้อยกว่า 100 ตัน ภายในปี 2545 และระยะที่ 2 จะดำเนินการเพื่อเรือขนาด 300-500 ตันภายในปี 2550 โดยทางการจีนประกาศจะใช้งบประมาณดำเนินการให้เองทั้งหมด

อย่างไรก็ตาม ในการดำเนินโครงการระยะแรกจนถึงปี 2545 นั้นสามารถดำเนินการได้เพียง 10 แห่งจากเดิมที่กำหนดเอาไว้จำนวน 11 แห่ง ตั้งแต่ชายแดนจีน-เมียนมา จนถึงสิ้นสุดชายแดนไทย-สปป.ลาว ที่ อ.เวียงแก่น ระยะทาง 231 กิโลเมตร โดยอยู่ในเขตจีน-เมียนมา 1 แห่ง เมียนมา-ลาว 9 แห่ง และไทย-ลาว 1 แห่ง โดยจีนทำการระเบิดเกาะแก่งในแม่น้ำโขงบางส่วนออก จัดวางป้ายสัญญาณจราจรทางเรือ รวมถึงปรับปรุงท่าเรือต่างๆ อย่างขนานใหญ่ คงเหลือแต่เพียงคอนผีหลง-แขวงหลวงพระบาง ประเทศลาว ที่ยังไม่สามารถเดินหน้าโครงการต่อไปได้ ทำให้การเดินเรือสินค้าแม่น้ำโขงสามารถแล่นไปมาได้ตลอดแนวด้วยระวางบรรทุกเรือกว่า 150 ตัน

แต่การระเบิดเกาะแก่งนั้น นอกจากจะทำลายระบบนิเวศวิทยาซึ่งจะทำให้ธรรมชาติเสียหายแล้ว วิถีชีวิตของผู้คนริมฝั่งแม่น้ำยังจะได้รับผลกระทบรวมถึงเรื่องเขตแดนระหว่างไทยกับเพื่อนบ้านในบริเวณดังกล่าวก็จะได้รับผลกระทบด้วยเช่นกัน จึงมีการคัดค้านอย่างต่อเนื่องจากภาคประชาชนในประเทศไทย

จนกระทั่งวันที่ 9 มีนาคม ที่ผ่านมา นายดอน ปรมัตถ์วินัย รัฐมนตรีว่าการกระทรวงต่างประเทศ ให้สัมภาษณ์ถึงผลการหารือกับนายหวัง อี้ รัฐมนตรีต่างประเทศจีนว่า ได้มีการหารือกันในหลายประเด็น ทั้งประเด็นในภูมิภาคและประเด็นทวิภาคี ซึ่งหนึ่งในนั้นคือประเด็นที่มีข้อห่วงกังวลของประชาชนทั้งในไทย ลาว และเมียนมา เกี่ยวกับการระเบิดเกาะแก่งในแม่น้ำโขง โดยเฉพาะจุดที่เลยขึ้นไปจากบริเวณสามเหลี่ยมทองคำ

นายดอน กล่าวว่า ตนได้หารือและทำความเข้าใจกับนายหวัง อี้ ถึงความห่วงกังวลของประชาชนในพื้นที่ เกี่ยวกับผลกระทบที่อาจจะเกิดขึ้นหากมีการระเบิดเกาะแก่งในแม่น้ำโขง ไม่ว่าจะผลกระทบทางธรรมชาติไปจนถึงระบบนิเวศ ซึ่งอาจส่งผลถึงวิถีชีวิตและการทำมาหาเลี้ยงชีพ ตลอดจนการวางไข่ของปลาในแม่น้ำโขง เพียงเพื่อให้เรือลำใหญ่เดินทางขึ้นไปได้ แต่จะขึ้นไปเพื่อการใดยังไม่ชัดเจน

เมื่อพิจารณาว่าปัจจุบันนี้มีเส้นทางคมนาคมต่างๆ เข้ามาเสริมมากมายในพื้นที่ดังกล่าว ไม่ว่าจะเป็นเส้นทางเดินรถ รถไฟ ไปจนถึงการเดินทางทางอากาศ ความจำเป็นของการระเบิดเกาะแก่งในแม่น้ำโขงน่าจะหมดไป ฉะนั้นไม่มีความจำเป็นใดๆ ที่จะระเบิดเกาะแก่งในแม่น้ำโขง ซึ่งจะนำไปสู่ปัญหาตามมาในหลากหลายมิติ ทำให้ฝ่ายจีนเห็นพ้องด้วยว่าจะยกเลิกการระเบิดเกาะแก่งในแม่น้ำโขง

ครับ! อย่าเพิ่งด่วนดีใจไปล่วงหน้ามากนัก ต้องคอยดูการกระทำของจีนต่อไป

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook