ตะลึง นักโบราณจีนขุดพบ “ไข่พันปี” ซุกไหสุสานโบราณที่เจียงซู
สำนักข่าวซินหัวรายงานว่า คณะนักโบราณคดีจากสถาบันโบราณคดี พิพิธภัณฑ์หนานจิง (นานกิง) เปิดเผย (25 มี.ค.) การค้นพบไหดินเผามีฝาปิดที่บรรจุไข่หลายฟองจากสุสานโบราณอายุ 2,500 ปี ในตำบลซ่างซิ่ง เมืองลี่หยาง มณฑลเจียงซู ทางจีนตะวันออก
นายโจว เหิงมิ่ง นักโบราณคดีประจำโครงการขุดค้นสุสานแห่งดังกล่าวระบุว่า คณะนักโบราณคดีจะไม่สัมผัสแตะต้องไข่พันปีโดยตรงเพราะกลัวเกิดความเสียหาย โดยจะเลือกใช้วิธีเอ็กซเรย์เพื่อนับจำนวนไข่ทั้งหมดแทน
“ไข่ขาวและไข่แดงบูดเน่าไปแล้วแต่การตรวจสอบทางดีเอ็นเอ (DNA) จะช่วยบอกได้ว่ามันถูกหมักดองไว้หรือไม่” นายหลิน หลิวเกิน หัวหน้าสถาบันโบราณคดีกล่าว “วัตถุเหล่านี้อาจสะท้อนความเชื่อทางศาสนาหรือวิถีชีวิตของผู้ตาย”
“เจ้าของสุสานอาจชอบรับประทานไข่เลยตัดสินใจเอาไข่ติดตัวไปชีวิตหลังความตายด้วย” นายหลินกล่าว “และไข่นั้นเป็นจุดกำเนิดชีวิตใหม่ ดังนั้นตัวไหอาจเป็นสัญลักษณ์ของการมีชีวิตต่อไปผ่านลูกหลานจำนวนมาก”
อย่างไรก็ดี จีนเคยค้นพบไข่จากสุสานโบราณมาก่อนแล้ว แต่การค้นพบไหบรรจุไข่ที่ยังไม่แตกเช่นนี้ถือเป็นเรื่องหายาก เนื่องจากคณะนักวิทยาศาสตร์ชี้ว่าเป็นเรื่องยากมากที่เปลือกไข่จะยังคงรักษาสภาพได้ในเวลายาวนาน
ย้อนกลับไปในปี 2015 คณะนักโบราณคดีในมณฑลกุ้ยโจว ทางจีนตะวันตกเฉียงใต้ ขุดพบไข่จากสุสานที่มีความเก่าแก่มากกว่า 2,000 ปี แต่เปลือกไข่เกิดแตกร้าวทันทีที่นักโบราณคดีใช้แปรงปัดทำความสะอาด