ศาลอาญาออกมาตรการด่วน ป้องกันเหตุสลดซ้ำรอย เร่งแก้ไขระยะยาว
เลขาฯ สนง.ศาลยุติธรรม ร่วมมือกับศาลอาญา ออกมาตรการเร่งด่วน ขอกำลัง สน.พหลโยธิน ควบคุมเหตุคดีโทษสูง-ตึงเครียด พร้อมเเก้ไขปัญหาระยะยาว
นายสราวุธ เบญจกุล เลขาธิการ สำนักงานศาลยุติธรรม เปิดเผยถึงกรณีที่มีประชาชนกระโดดลงมาจากชั้น 8 อาคารศาลอาญา ได้รับบาดเจ็บสาหัส หลังศาลมีคำพิพากษาจำคุกตลอดชีวิตบุตรชายซึ่งตกเป็นจำเลยคดีฆ่า ว่า เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นนำมาซึ่งความเศร้าเสียใจของทุกฝ่ายซึ่งครั้งนี้เป็นครั้งที่ 2 ที่มีการเกิดลักษณะนี้
โดยขณะนี้ได้มีการผ่านร่าง พรบ.เจ้าพนักงานตำรวจศาลแล้ว อยู่ในชั้นตอนการดำเนินความพร้อมของตัวบุคคลเนื่องจากกฎหมายเพิ่งประกาศใช้ ซึ่งอยู่ระหว่างเปิดเทียบโอนตำเเหน่งอยู่ จะเห็นว่าปัจจุบันอัตรากำลังเจ้าหน้าที่ของแต่ละศาลค่อนข้างมีจำกัด เเต่หากมีการนำเจ้าพนักงานตำรวจศาลมาใช้ปฏิบัติจริง ก็จะเพิ่มบุคลากรเเละจะสามารถเข้ามาช่วยดูในส่วนนี้ได้เเละช่วยให้เหตุการณ์ลักษณะนี้มีโอกาสเกิดขึ้นน้อยลง
>> อาถรรพ์ศาลจุดเดิม! พ่อทำใจไม่ได้ลูกติดคุกตลอดชีวิต โดดตึกศาลอาญา-เจ็บสาหัส
ขณะเดียวกัน ในส่วนของการปรับปรุงอาคารเก่าที่ใช้งานมานาน เพื่อป้องกันไม่ให้เกิดเหตุในลักษณะนี้นั้น ยอมรับว่าไม่สามารถทำได้รวดเร็ว เพราะนอกจากเรื่องของคนกระโดดตึกแล้ว ต้องคำนึกถึงความปลอดภัยหากเกิดเหตุอัคคีภัย หรือเหตุร้ายอื่น ๆ ซึ่งต่างจากอาคารที่สร้างใหม่ที่สำนักออกเเบบของศาลยุติธรรมมีการดูในเรื่องของความปลอดภัยไว้เเล้ว
อย่างไรก็ตาม สำนักงานศาลยุติธรรมและศาลอาญามีการพิจารณาหาเเนวทางร่วมมือกันในส่วนของมาตรการเร่งด่วนแล้ว โดยจะจัดให้มีกุญแจล็อคหน้าต่างกระจกเพื่อป้องกันมิให้เปิดออกไปได้เอง, จัดเรียงเก้าอี้ที่นั่งของประชาชนใหม่ เพื่อป้องกันการใช้เพื่อขึ้นไปปีนผ่านหน้าต่างกระจกออกไปยังระเบียง และศาลอาญาประสานงานกับ สน.พหลโยธิน ขอกำลังสนับสนุน หากมีคดีที่มีอัตราโทษสูงต้องอ่านคำพิพากษา
นอกจากนี้ อาจมีการพิจารณาให้อ่านคำพิพากษาคดีที่มีอัตราโทษสูงหรือมีความตึงเครียดในระหว่างการสืบพยานในห้องพิจารณาเวรชี้ที่อยู่ชั้น 1 ของอาคารศาลอาญาแทนห้องพิจารณาคดีในชั้นต่างๆ
ทั้งนี้ แนวทางต่างๆ ที่ออกมา ถือเป็นมาตรการเร่งด่วนเพื่อป้องกันเหตุ ก่อนที่จะมีความพร้อมในการนำมาตรการระยะยาวในเรื่องของเจ้าพนักงานตำรวจศาลเเละเรื่องการวางมาตรการของสถานที่มาใช้ต่อไป