ย้อนคดีดังโจ๋ซิ่งชนคน โศกนาฏกรรมที่ยังไม่จบ
จากคดีดังเมื่อปีก่อน ‘หวังปาฏิหาริย์! ป้ากระเป๋ารถเมล์ โดนแว้นซิ่งชน กลายเป็นเจ้าหญิงนิทรา ลูกสาวกุมมือขอให้ลืมตา’ (ข่าวสดออนไลน์ 14 สิงหาคม 2560) แม้วันนี้ข่าวจะเงียบไปแล้ว แต่ใครจะรู้ว่า ผลกระทบจากเหตุการณ์นั้นยังคงอยู่ แถมยังทวีความรุนแรงไปสู่คนอื่นอีกด้วย
“ปกติมีแม่เป็นที่พึ่ง ส่วนเราก็ไม่เคยเป็นภาระของแม่ แต่พอแม่โดนชนจนกลายเป็นเจ้าหญิงนิทราแบบนี้ จากที่เคยช่วยกันทำมาหากิน ตอนนี้เราต้องกลายเป็นเสาหลัก นอกจากทำงานเป็นผู้ช่วยพยาบาล ยังต้องดูแลแม่ ดูแลลูก และหลานสองคน แล้วยังต้องรับลูกชิ้นให้หลานปิ้งส่งขายในโรงพยาบาล บางวันต้องควงเวรไม่ได้นอนแต่ก็ต้องดิ้นรนให้อยู่รอด” คุณเบญจมาศ บัวศรี บุตรสาวของเหยื่อได้เล่าถึงผลกระทบจากเหตุการณ์ครั้งนั้นที่ถาโถมมาเปลี่ยนชีวิตของเธออย่างสิ้นเชิง
แต่ภาระทางการเงินที่ว่าหนักหนา ยังเปรียบไม่ได้กับภาระทางจิตใจที่หนักหน่วงยิ่งกว่า
การต้องแบกรับภาระสารพัด จากความโศกเศร้าจึงแปรเป็นความเครียด และจากความเครียดก็พัฒนากลายเป็นโรคซึมเศร้าในที่สุด
“แม้เวลาทำงานจะร่าเริง ไม่มีใครรู้ว่าเรามีปัญหา และต่อให้ร้องไห้จนเช้า ก็ยังไปทำงาน แต่พอเลิกงาน จากที่เพิ่งคุยเล่นกับเพื่อน พอกลับมานั่งที่รถ..ร้องไห้เลย ร้องไปครึ่งชั่วโมงก็ขับรถออกไปซื้อข้าว กลับบ้านนั่งเงียบ ๆ ในห้อง ดูแลแม่ ในใจก็คิดนู่นคิดนี่ นอนไม่หลับ พอเหนื่อยมาก ก็ร้องไห้อีก บางทีถึงขั้นเอาหมอนปิดหน้าแล้วกรี๊ดอยู่คนเดียว”
“เคยคิดฆ่าตัวตายบ่อย..นับครั้งไม่ถ้วน แต่ก็ไม่อยากทิ้งแม่เพราะไม่มีใครดูแลได้ดีเท่าเรา เห็นแม่ทรมานทุกวันมันก็ช้ำใจทุกวัน เคยคิดอยากเอายาให้เขากินจะได้สบาย แล้วเราจะฆ่าตัวตายตาม แต่เราเป็นห่วงลูก... (ร้องไห้)”
ส่วนคู่กรณีช่วงเกิดเหตุเคยมาเยี่ยมทุกเดือน ใส่ซองให้ห้าร้อย-พันนึง พอศาลอาญาตัดสินคุมประพฤติทุกสามเดือน จากนั้นก็หายไป ความจริงศาลแพ่งตัดสินให้ชดเชยสองล้านสามแสนบาท แต่คู่กรณีต่อรองขอให้แค่เดือนละห้าร้อย ซึ่งบุตรสาวเหยื่อไม่ยอมรับเงื่อนไขนี้ และกำลังพยายามหาวิธีบังคับคดีอยู่ เพราะเธอรู้สึกว่า คำว่าไม่มี มันไม่ใช่แค่ไม่มีเงิน แต่มันคือไม่มีความรับผิดชอบอีกด้วย
เรื่องราวชีวิตของครอบครัวนี้เป็นอุทาหรณ์ว่า ผลจากอุบัติเหตุไม่ได้สร้างเพียงเหยื่อในเหตุการณ์ แต่ยังขยายความเสียหายไปสู่เหยื่อคนอื่น ๆ ได้อีก เพราะความเครียดสามารถพัฒนาไปสู่โรคซึมเศร้านั่นเอง โดย นพ. อภิชาติ จริยาวิลาศ จิตแพทย์..รพ. ศรีธัญญา ได้ให้คำแนะนำในการตั้งสติสำรวจอารมณ์ตัวเองไว้ดังนี้
"ความเศร้าจากการสูญเสียเป็นเรื่องปกติ เศร้าได้ ทุกข์ได้ แต่อย่าจมไปกับอารมณ์นั้น ต้องรีบหาทางแก้ปัญหา ถ้ารู้สึกทุกข์ทรมานมาก ให้คุยกับคนที่เราไว้ใจ แต่ถ้าไม่รู้จะคุยกับใคร แนะนำให้โทรไปสายด่วนกรมสุขภาพจิต กระทรวงสาธารณสุข โทร. 1323 จะมีคนให้คำปรึกษาฟรี 24 ชม. แต่ถ้ารู้สึกว่าความเศร้าคุกคามมาก เสียงาน เสียการเรียน เสียความสัมพันธ์ กินไม่ได้นอนไม่หลับ หรือนอนมากไป กินมากไป เริ่มคิดเรื่องอยากตาย ต้องรีบไปปรึกษาคุณหมอโดยด่วน
โดยเฉพาะกรณีเข้าข่ายเป็นโรคซึมเศร้า ซึ่งมีสาเหตุจากสารเคมีในสมองทำงานผิดปกติ ถ้าปล่อยไว้อาการจะหนัก นำไปสู่การฆ่าตัวตายได้"
จากหนึ่งการสูญเสีย ที่ทำให้จิตใจอีกคนแทบสูญสลายตาม คงพอเป็นอุทาหรณ์ให้เราทุกคนตั้งสติทุกครั้งก่อนออกเดินทาง ไม่ขับรถเร็ว ดื่มไม่ขับ เคารพกฎจราจร สวมหมวกกันน็อกและคาดเข็มขัดนิรภัยทุกครั้ง เพราะสิ่งเหล่านี้นอกจากจะเป็นการแสดงความรับผิดชอบต่อตนเองแล้ว ยังหมายถึงความรับผิดชอบต่อเพื่อนร่วมทางของเราอีกด้วย
อยากได้ข้อมูลและความรู้ต่าง ๆ ในการเดินทางอย่างปลอดภัย เข้าไปดูได้ที่ http://www.roadsafetythai.org/
(Advertorial)