เลือกตั้ง 2562: สุดฉงน! ย้อนดูกฎเกณฑ์สุดแปลก พีคสุดหลังเปลี่ยนแปลงการปกครอง

เลือกตั้ง 2562: สุดฉงน! ย้อนดูกฎเกณฑ์สุดแปลก พีคสุดหลังเปลี่ยนแปลงการปกครอง

เลือกตั้ง 2562: สุดฉงน! ย้อนดูกฎเกณฑ์สุดแปลก พีคสุดหลังเปลี่ยนแปลงการปกครอง
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

การเลือกตั้งทั่วไปของประเทศไทยเมื่อวันที่ 24 มี.ค. ที่ผ่านมายังไม่ประกาศผลเป็นทางการทั้งๆ ที่เราใช้ระบบดิจิตอลในการแจงนับแต่กลับเชื่องช้า จนน่าตั้งข้อสังเกตได้ว่าเมื่อก่อนนานมาแล้วที่เราแจงนับด้วยมือและระบบอนาล็อกในการเลือกตั้งทั่วไปของไทยครั้งแรกเมื่อ พ.ศ. 2476

ขณะที่การเลือกตั้งทั่วไปอีก 26 ครั้งก็ยังรู้ผลการเลือกตั้งทั่วไปอย่างเป็นทางการเร็วกว่าการเลือกตั้งครั้งนี้เป็นเดือน นอกจากนี้กฎเกณฑ์ของการเลือกตั้งที่กำหนดไว้ยังเป็นกฎเกณฑ์ ที่ชวนให้ตั้งคำถามคือ

  1. ลูกพรรคผู้สมัครรับเลือกตั้งเป็นส.ส.กระทำการฝ่าฝืนกฎหมายต่าง ๆ กกต. มีอำนาจสั่งให้คณะกรรมการบริหารพรรคการเมืองนั้นพ้นจากตำแหน่งทั้งคณะ และห้ามไม่ให้ดำรงตำแหน่งใดในพรรคการเมืองเป็นเวลา 20 ปี

  2. คณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) เพิ่มบทลงโทษด้วยการแจก "ใบส้ม" หรือ การสั่งระงับสิทธิสมัครรับเลือกตั้งไว้ชั่วคราว แต่ไม่เกิน 1 ปี ในกรณีที่ กกต. สงสัยว่า มีการกระทำที่ทำให้การเลือกตั้งไม่สุจริตและอำนาจการแจกใบส้มเป็นอำนาจเด็ดขาดของ กกต. เพียงแค่สงสัยว่ามีการกระทำความผิด กกต. ก็อาจเขี่ยผู้สมัครออกจากการเลือกตั้งได้ง่ายๆ

  3. มาตรฐานทางจริยธรรม เป็นกลไกใหม่ที่กำหนดกรอบการทำหน้าที่ และการวางตัวของผู้ดำรงตำแหน่งต่าง ๆ ให้ทำตัวเป็น "คนดี" โดยใช้คำกว้างๆ ที่มีความหมายครอบคลุมได้หลากหลาย เช่น ต้องถือผลประโยขน์ของประเทศชาติเหนือกว่าประโยชน์ส่วนตน ประพฤติตนอยู่ในกรอบศีลธรรมอันดีของประชาชน อุทิศเวลาแก่ทางราชการ ฯลฯ

    หากฝ่าฝืนมาตรฐานทางจริยธรรม จะถูกดำเนินคดี โดย ป.ป.ช. และส่งเรื่องให้ ศาลฎีกาวินิจฉัย หากเห็นว่า ผู้ใดฝ่าฝืนมาตรฐานทางจริยธรรม "อย่างร้ายแรง" ให้ผู้นั้นพ้นจากตำแหน่ง และเพิกถอนสิทธิสมัครรับเลือกตั้งไม่เกิน 10 ปี ซึ่งกลไกนี้เป็นเครื่องมืออย่างหนึ่งที่อาจถูกนำมาใช้ภายหลังจากการเลือกตั้ง หาก ส.ส. คนใดชนะการเลือกตั้ง

    แต่หากป.ป.ช. และศาลฎีกานักการเมืองฯ เห็นว่า ไม่เหมาะสมที่จะให้ดำรงตำแหน่ง ก็อาจอ้างเหตุว่า ฝ่าฝืนมาตรฐานทางจริยธรรม "อย่างร้ายแรง" โดยการตีความจากคำที่กว้างขวางของ "คนดี" เพื่อให้พ้นจากตำแหน่งได้

  4. การเลือกตั้ง ส.ส. ครั้งนี้รัฐธรรมนูญมาตรา 91 สร้างระบบใหม่ขึ้นมาเรียกว่า "ระบบจัดสรรปันส่วนผสม" ซึ่งลดความได้เปรียบของพรรคการเมืองที่ได้รับความนิยมสูงสุด เพราะหากพรรคการเมืองใดได้ ส.ส. ในระบบแบ่งเขตมาก ก็ยิ่งมีแนวโน้มจะได้ที่นั่งในระบบบัญชีรายชื่อน้อยลง

    ส่วนพรรคขนาดกลางซึ่งไม่ได้รับความนิยมมาก แต่มีทุนมากพอจะส่งผู้สมัครลงทุกเขต แม้จะไม่ชนะการเลือกตั้งระบบแบ่งเขตเลย ก็ยังมีโอกาสจะได้ที่นั่ง ส.ส. จากระบบบัญชีรายชื่อจำนวนมาก ดังนั้นจึงไม่มีพรรคการเมืองใดเลยที่จะมีโอกาสได้รับเลือกเป็นเสียงข้างมากเพียงพรรคเดียวโดยเด็ดขาด

  5. ยังไงๆ ก็ต้องได้นายกรัฐมนตรีจาก "คนนอก" รัฐธรรมนูญ มาตรา 269 กำหนดให้ สมาชิกวุฒิสภา (ส.ว.) ชุดแรก จำนวน 250 มาจากระบบสรรหา ระบบการเลือกกันเอง และส.ว.ที่มาจากปลัดกลาโหม ผู้บัญชาการทหารสูงสุด ผู้บัญชาการทหารบก ผู้บัญชาการทหารเรือ ผู้บัญชาการทหารอากาศ และ ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ

    แต่ไม่ว่ามาจากระบบไหน การคัดเลือกขั้นสุดท้ายก็จะเป็นอำนาจของ คสช. โดยลำพัง จึงกล่าวได้ว่า ส.ว. ชุดนี้มีที่มาจาก คสช. โดยตรง นอกจากนี้ "คำถามพ่วง" ที่ผ่านการทำประชามติ ได้เพิ่มบทบาทให้ ส.ว. ชุดนี้มีอำนาจลงคะแนนเลือกนายกรัฐมนตรีร่วมกับ ส.ส.อีก 500 คนด้วย ซึ่งตามระบบการจัดสรรที่นั่ง ส.ส.แบบใหม่ แทบจะเป็นไปไม่ได้ที่พรรคการเมืองใดจะได้ที่นั่ง ส.ส. เกิน 250 ที่นั่ง

    ดังนั้น หาก ส.ว. ชุดนี้ร่วมมือกันลงคะแนนเลือกให้บุคคลใดเป็นนายกรัฐมนตรี ก็มีแนวโน้มสูงว่า บุคคลนั้นจะได้เป็นนายกรัฐมนตรีด้วยคะแนนเสียงสูงที่สุดจากทั้งสองสภา รวมทั้งการลงคะแนนเพื่อเลือก "นายกรัฐมนตรีคนนอก" ด้วย

  6. การเลือกตั้งครั้งนี้เกิดขึ้นภายใต้คำสั่งของคสช. ตั้งแต่ คสช. เข้ามายึดอำนาจการปกครอง ได้ใช้อำนาจในฐานะรัฏฐาธิปัตย์ออกประกาศอย่างน้อย 207 ฉบับ ออกคำสั่งอย่างน้อย 125 ฉบับ และใช้อำนาจพิเศษตามมาตรา 44 ออกคำสั่ง หัวหน้า คสช. อีกอย่างน้อย 160 ฉบับ และจำนวนยังเพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ ตามระยะเวลาที่ คสช. อยู่ในอำนาจ ประกาศ/คำสั่งจำนวนหนึ่ง มีผลจำกัดสิทธิเสรีภาพของประชาชนโดยมีนัยยะสำคัญต่อการเลือกตั้ง เช่น ประกาศ คสช. ฉบับที่ 40/2557 ที่ห้ามผู้เคยถูกกักตัวแสดงความคิดเห็นทางการเมือง, ประกาศ คสช. ฉบับที่ 57/2557 ที่ห้ามพรรคการเมืองทำกิจกรรม, ประกาศ คสช. ฉบับที่ 97/2557 และ 103/2557 ที่ห้ามสื่อมวลชนนำเสนอข่าวสารยั่วยุให้เกิดความขัดแย้ง สื่อมวลชน คำสั่งหัวหน้า คสช. ฉบับที่ 3/2558 ที่ห้ามชุมนุมทางการเมืองเกินห้าคน และตามรัฐธรรมนูญมาตรา 279 ประกาศ/คำสั่งทุกฉบับมีผลบังคับใช้ตลอดไปจนกว่าจะมีพระราชบัญญัติออกมายกเลิก

  7. การจัดตั้งรัฐบาลหลังการเลือกตั้งก็ยังอยู่ในอำนาจของมาตรา 44 ตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 265 คสช. จะยังคงทำหน้าที่และมีอำนาจเต็มอยู่จนกว่าคณะรัฐมนตรีชุดใหม่จะเข้ารับหน้าที่ ซึ่งหมายความว่า อำนาจของ คสช. จะมีอยู่ตลอดระยะเวลาการดำเนินกิจกรรมของพรรคการเมือง การหาเสียง การจัดการเลือกตั้ง รวมทั้งหลังเลือกตั้งจนกว่าการจัดตั้งรัฐบาลใหม่จะเสร็จสิ้น ซึ่งอำนาจของ คสช. นั้น รวมถึงอำนาจออกคำสั่งใดๆ ก็ได้ให้มีผลเป็นกฎหมายทันที ตามมาตรา 44 ของรัฐธรรมนูญชั่วคราว พ.ศ.2557 หากระหว่างการจัดการเลือกตั้ง หรือระหว่างการเจรจาเพื่อจัดตั้งรัฐบาลใหม่และเลือกนายกรัฐมนตรีภายหลังทราบผลการเลือกตั้งแล้ว มีปัญหาทางการเมืองที่หาทางออกไม่ได้ คสช. ก็อาจใช้อำนาจตามมาตรา 44 เพื่อจัดการทุกปัญหานำไปสู่ผลลัพธ์ที่ คสช. ต้องการจะเห็นได้

สนุกดีนะครับที่คนไทยเราได้ทำการเลือกตั้งทั่วไปในวันที่ 24 มี.ค. ที่ผ่านมา ลุล่วงไปจนได้

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook