ครบรอบ 25 ปี ฆ่าล้างเผ่าพันธุ์รวันดา โศกนาฏกรรมที่มนุษยชาติลืมไม่ลง

ครบรอบ 25 ปี ฆ่าล้างเผ่าพันธุ์รวันดา โศกนาฏกรรมที่มนุษยชาติลืมไม่ลง

ครบรอบ 25 ปี ฆ่าล้างเผ่าพันธุ์รวันดา โศกนาฏกรรมที่มนุษยชาติลืมไม่ลง
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

ฆ่าล้างเผ่าพันธุ์รวันดา เป็นเหตุการณ์สังหารหมู่ระหว่าง 2 ชาติพันธุ์ คือ ทุตซี (Tutsi) และฮูตู (Hutu) เหตุการณ์เกิดขึ้นตั้งแต่วันที่ 7 เมษายน ถึงกลางเดือนกรกฎาคม 2537 (ค.ศ.1994) กินเวลาประมาณ 100 วัน ทำให้ชาวรวันดาที่เสียชีวิตนับล้านคน ในจำนวนนี้เป็นชาวทุตซี 8 แสนคน นับเป็นโศกนาฏกรรมครั้งสำคัญของมวลมนุษยชาติ

จุดเริ่มต้นฝันร้าย

เหตุดังกล่าวเกิดขึ้นจากสงครามกลางเมืองรวันดา ประเทศเล็กๆ ในทวีปแอฟริกาที่อยู่ภายใต้อาณานิคมของเบลเยี่ยม มีประชากรประมาณ 8 ล้านคน โดยเบลเยี่ยมแบ่งกลุ่มชนที่อยู่ในอาณานิคมออกเป็น 2 กลุ่ม ชาวทุตซี ชนกลุ่มน้อยของประเทศนั้นมีฐานะทางเศรษฐกิจค่อนข้างดี มีการศึกษาดี ในขณะที่ชาวฮูตูที่เป็นประชากรส่วนใหญ่ เป็นชนชั้นแรงงานกรรมาชีพ ทำให้ความแตกต่างการแบ่งแยกระหว่าง 2 ชาติพันธุ์เริ่มมีมากขึ้น ความรู้สึกไม่เท่าเทียมค่อยๆ กัดกินหัวใจชาวฮูตู ภายหลังประกาศตัวเป็นเอกราชจากเบลเยียมในปี 2535 เกิดแนวคิดสุดโต่ง Hutu Power หรือแนวคิดที่เชื่อมั่นในความยิ่งใหญ่ของสายเลือดของฮูตู เหมือนเป็นการสุมเชื้อเพลิงพร้อมที่จะจุดไฟ

AFPหัวกะโหลกผู้เสียชีวิตจากการฆ่าล้างเผ่าพันธุ์

ฟางเส้นสุดท้าย

วันที่ 6 เมษายน 2537 เครื่องบินของประธานาธิบดีบุรุนดี ไซเปรียน ทายามิรา (Cyprien Ntaryamira) ซึ่งเป็นชาวฮูตู ถูกยิงตกระหว่างลงจอดสู่กรุงคิกาลี ทำให้ทุกคนบนเครื่องเสียชีวิต นั่นกลายเป็นจุดแตกหักของ 2 ชาติพันธุ์ กลุ่มชาวฮูตูหัวรุนแรงกล่าวหาว่ากลุ่มแนวร่วมผู้รักชาติรวันดา (Rwandan Patriotic Front, RPF)  ซึ่งเป็นฝ่ายชาวทุตซี เป็นผู้กระทำการ จากนั้นจึงเริ่มจัดตั้งขบวนการฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ขึ้น ด้านกลุ่มแนวร่วมผู้รักชาติรวันดา บอกว่าเครื่องบินถูกฝ่ายชาวฮูตูยิงตกเพื่อเป็นข้ออ้างในการสังหารหมู่

โศกนาฏกรรมการฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ เริ่มขึ้นในวันถัดมา ทหาร ตำรวจ และอาสาสมัคร บุกสังหารผู้นำชาวทุตซีและชาวฮูตูสายกลางที่มีความเห็นต่าง มีการปลุกระดม ยุยง ปลุกปั่นให้เกิดความเกลียดชัง ผ่านทางวิทยุกระจายเสียงและสิ่งพิมพ์ ว่าชาวทุตซีเป็นกบฎ กดดันให้ชาวฮูตู ทั้งชาวบ้าน กรรมกร ชาวไร่ชาวนา พ่อค้า ทำการติดอาวุธตนเอง ไม่ว่าจะเป็นมีด พร้า กระบอง และอาวุธอื่น เพื่อข่มขืนกระทำชำเรา ฆาตกรรม ทำลายหรือขโมยทรัพย์สินของชาวทุตซี

AFPอนุสรณ์สถานฆ่าล้างเผ่าพันธ์

ฆ่าได้ฆ่า ไม่สนว่าใครจะตาย

ความเกลียดชังที่บ่มเพาะในใจชาวฮูตูมานานถึงคราวระเบิด กองกำลังติดอาวุธฮูตูไล่ล่าฆ่าทุตซี ทั้งที่เคยเป็นเพื่อนบ้าน พี่น้อง เพื่อน หรือเป็นคนรู้จักกันมาก่อน แม้กระทั่งสามีภรรยา หากบุคคลเหล่านั้นต่างชาติพันธุ์ หรือมีความคิดขัดแย้งกับตนเอง ก็พร้อมที่จะลงมือฆ่าได้อย่างเลือดเย็น ราวกับอีกฝ่ายเป็นเพียงมดแมลงไม่ใช่เพื่อนมนุษย์ ชาวทุตซีเองก็จัดตั้งกองกำลังลุกฮือขึ้นต่อสู้ จนถึงขั้นฆ่าผู้นำชาวฮูตูตาย รวันดากลายเป็นขุมนรกที่ผู้คน 2 ฝ่ายลุกขึ้นมาเข่นฆ่ากัน ภาพซากศพคนตายกลาดเกลื่อนทำให้ทุกหนแห่งกลายเป็นสุสาน 

โบสถ์เอ็นทาราม่า (Ntarama) เป็นสถานที่ที่เกิดความโหดร้ายอย่างที่สุดแห่งหนึ่ง ในวันที่ 15 เมษายน ชาวทุตซีราว 5,000 คน ตัดสินใจมาหลบภัยที่โบสถ์ซึ่งถือว่าเป็นสถานที่อันศักดิ์สิทธิ์ คิดว่าไม่มีใครกล้าเข้ามาก่อเหตุ แต่ในวันนั้นกองกำลังชาวฮูตูได้บุกเข้ามาในโบสถ์ด้วยการแงะก้อนหินออกจากตัวโบสถ์จนกลายเป็นรูขนาดใหญ่ ก่อนจะใช้อาวุธสามัญประจำบ้าน ฆ่าชาวทุตซีทีละคนอย่างโหดเหี้ยม ศพค่อยๆ กองทับถมกัน  อย่างสยดสยอง แต่มีหลายคนแอบซ่อนตัวอยู่ในกองศพทำให้รอดชีวิตมาได้

AFPเศษซากแห่งโศกนาฏกรรม ภายในโบสถ์เอ็นทามาร่า

สิ้นสุดสงคราม

การละเมิดความตกลงสันติภาพทำให้กลุ่ม RPF ภายใต้การนำของ นายพอล คากาเม (ประธานาธิบดีคนปัจจุบัน) เริ่มการบุกและยึดส่วนเหนือของประเทศ ก่อนยึดกรุงคิกาลีในกลางเดือนกรกฎาคม ทำให้การฆ่าล้างเผ่าพันธุ์สิ้นสุด ชาวฮูตูราว 2 ล้านคนทั้งพลเรือนและคนที่มีส่วนในการสังหารหมู่หนีข้ามแดนไปยังสาธารณรัฐประชาธิปไตยคองโก ซึ่งขณะนั้นคือประเทศซาอีร์ เนื่องจากเกรงกลัวการถูกล้างแค้น และไม่ถึงปีจากนั้น ผู้อพยพชาวฮูตูได้กลายเป็นชนวนให้เกิดสงครามกลางเมืองในคองโกถึง 2 ครั้ง ซึ่งมีหลายชาติในแอฟริกาเข้าไปเกี่ยวข้อง จนถูกเรียกว่า มหาสงครามแอฟริกัน และมีผู้คนล้มตายมากถึง 5 ล้านคน

การข่มขืนกระทำชำเรายามสงครามทำให้มีการติดเชื้อเอชไอวีพุ่งสูงขึ้น เด็กที่เกิดจากการข่มขืนติดเชื้อจากมารดา หลายครัวเรือนมีเด็กกำพร้าหรือหญิงหม้าย เพราะขาดหัวหน้าครอบครัว จำนวนศพผู้เสียชีวิตมากมายมหาศาลจนไม่มีโลงบรรจุศพ

ปัจจุบัน ประเทศรวันดาประกาศให้ วันที่ 7 เมษายน เป็นวันหยุดราชการเพื่อรำลึกเหตุฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ดังกล่าว สัปดาห์ถัดจากวันที่ 7 เมษายนกำหนดให้เป็นสัปดาห์ไว้ทุกข์ หัวกะโหลกมนุษย์ที่ตกเป็นเหยื่อ รวมถึงกองเสื้อผ้าจำนวนมากที่เคยเปื้อนเลือด ยังถูกเก็บรักษาและจัดแสดงไว้ในโบสถ์และอนุสรณ์สถาน เพื่อรำลึกถึงโศกนาฏกรรมครั้งยิ่งใหญ่ของมนุษยชาติครั้งนั้น

อัลบั้มภาพ 11 ภาพ

อัลบั้มภาพ 11 ภาพ ของ ครบรอบ 25 ปี ฆ่าล้างเผ่าพันธุ์รวันดา โศกนาฏกรรมที่มนุษยชาติลืมไม่ลง

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook