หนุ่มเล่าอุทาหรณ์เฉียดตาย กินหลู้หมูดิบ ติดเชื้อในกระแสเลือด ต้องตัดขาทิ้ง 2 ข้าง

หนุ่มเล่าอุทาหรณ์เฉียดตาย กินหลู้หมูดิบ ติดเชื้อในกระแสเลือด ต้องตัดขาทิ้ง 2 ข้าง

หนุ่มเล่าอุทาหรณ์เฉียดตาย กินหลู้หมูดิบ ติดเชื้อในกระแสเลือด ต้องตัดขาทิ้ง 2 ข้าง
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

(6 เม.ย.62) เรื่องราวใกล้ตัวที่เป็นอุทาหรณ์สำหรับคนชอบกินอาหารสุกๆ ดิบๆ นายนพรัตน์ มิลินทานุช หรือ เปา เล่าประสบการณ์เฉียดตายผ่านรายการตีสิบเดย์ กับชีวิตที่เปลี่ยนไปตลอดกาลเพราะอาหารที่เรียกว่า "หลู้หมูดิบ" โดยเหตุการณ์เกิดขึ้นเมื่อช่วงสงกรานต์ ปี 2559 ตนกลับบ้านเกิดที่ จ.สุโขทัย และได้ทำอาหารจัดงานเลี้ยงสังสรรค์กันโดยมีเมนูหลู้ดิบอยู่ด้วย

หลังเดินทางกลับมากรุงเทพฯ ตนเริ่มมีอาการครั่นเนื้อครั่นตัว หนาวสั่น มือเท้าเย็น อาการเริ่มทรุดหนัก เลยตัดสินใจไปโรงพยาบาล ผลคือติดเชื้อในกระแสเลือดขั้นรุนแรง อาการเริ่มทรุดหนัก โลหิตเป็นพิษ ไตวายเฉียบพลัน การหายใจล้มเหลว และผิวหนังอักเสบ หากภายใน 48 ชั่วโมง ชีพจรยังไม่ดีขึ้นก็คือไม่รอด

และเนื่องจากเชื้อไปรวมอยู่ที่ปลายเท้า ทำให้เกิดภาวะเนื้อตาย มีลักษณะ ดำ แข็ง แห้ง ต้องใช้วิธีตัดขาออกอย่างเดียว ถึงจะหยุดการแพร่เชื้อได้ ทำให้ตนต้องตัดขาทั้ง 2 ข้างทิ้ง โดยเชื้อที่พบคือ เชื้อแบคทีเรีย สเตรปโตค็อกคัส ซูอิส (Streptococcus suis) หรือ โรคไข้หูดับ ที่พบในเนื้อหมู และเลือดหมูดิบ ซึ่งมีอันตรายมาก เมื่อเชื้อเข้าสู่ร่างกายคนจะมีระยะฟักตัว 1-3 วัน จึงเริ่มป่วย โดยระยะแรกจะมีไข้สูง คลื่นไส้ อาเจียน ปวดศีรษะรุนแรง ปวดตามข้อ ต่อมาเชื้อจะเข้าสู่กระแสโลหิต ทำให้เยื่อหุ้มสมองอักเสบ อาจสูญเสียการได้ยิน ในรายที่มีอาการรุนแรงถึงขั้นเสียชีวิตได้ หลังตัดขายังต้องรับการผ่าตัดที่มือเนื่องจากเนื้อเยื่อยึดติดกัน จนขยับมือไม่ได้

สำหรับ หลู้ เป็นอาหารพื้นบ้านประเภทดิบสดเดียวกับลาบและส้าจิ๊น นิยมใช้เลือดสดๆ ของหมู วัว หรือควาย ซึ่งเสี่ยง มีโอกาสที่จะเป็นโรคไข้หูดับ ผู้ป่วยส่วนใหญ่อยู่ในภาคเหนือ และภาคตะวันออกเฉียงเหนือ พบในผู้ชายมากกว่าผู้หญิง ซึ่งส่วนใหญ่จะพบในวัยกลางคนและผู้สูงอายุที่ชอบดื่มสุราเป็นประจำ

สำหรับผู้ที่เสี่ยงต่อการติดเชื้อโรคไข้หูดับ คือผู้ที่สัมผัสกับสุกรที่ติดโรคโดยตรง เช่น ผู้เลี้ยงสุกร ผู้ที่ทำงานในโรงฆ่าสัตว์ ผู้ที่ชำแหละเนื้อสุกร  เป็นต้น กลุ่มที่เสี่ยงมีอาการป่วยรุนแรงถ้าติดเชื้อ ได้แก่  ผู้ที่ติดสุราเรื้อรัง  ผู้มีโรคประจำตัว เช่น โรคเบาหวาน ไต มะเร็ง หัวใจ ผู้ที่เคยตัดม้ามออก เป็นต้น เนื่องจากร่างกายมีภูมิต้านทานโรคอ่อนแออยู่แล้ว แต่โรคนี้รักษาหายขาดได้ 

 

 

 

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook