จาก "เฮเซ" สู่ "เรวะ" ย้อนที่มาการตั้งรัชศกนับพันปีจากราชสำนักจีน ข้ามทะเลถึงญี่ปุ่น

จาก "เฮเซ" สู่ "เรวะ" ย้อนที่มาการตั้งรัชศกนับพันปีจากราชสำนักจีน ข้ามทะเลถึงญี่ปุ่น

จาก "เฮเซ" สู่ "เรวะ" ย้อนที่มาการตั้งรัชศกนับพันปีจากราชสำนักจีน ข้ามทะเลถึงญี่ปุ่น
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

ขนบประเพณีการนับศักราชตามการขึ้นครองราชย์ของฮ่องเต้ ถ้ามีการผลัดแผ่นดินก็จะเปลี่ยนศักราชใหม่ การเริ่มศักราชใหม่ตามรัชสมัยขององค์จักรพรรดิเริ่มขึ้นเมื่อปี พ.ศ. 403 โดยฮ่องเต้ฮั่นอู้ตี้เป็นผู้กำหนดปีรัชสมัยของพระองค์ขึ้นเป็นครั้งแรกในชื่อว่า “เจี้ยนหยวน” ซึ่งฮ่องเต้องค์ต่อมาต่างถือเป็นประเพณีตั้งชื่อรัชศกของตนมาจนกระทั่งสิ้นสุดยุคจักรพรรดิของจีนที่ฮ่องเต้ผู่อี้ แห่งราชวงศ์ชิงที่ใช้ชื่อรัชศกว่า “เซวียนถ่ง” ซึ่งสิ้นสุดลงในปี พ.ศ. 2455 จัดว่าเป็นขนบประเพณีที่เก่าแก่ถึง 2,052 ปีเลยทีเดียว ซึ่งขนบประเพณีเช่นนี้ได้แพร่ไปยังเกาหลี ญี่ปุ่นและเวียดนาม

แต่ในปัจจุบันมีเพียงแค่ประเทศญี่ปุ่นเพียงประเทศเดียวและประเทศสุดท้ายในโลกที่ยังคงขนบประเพณีของการเปลี่ยนศักราชตามรัชสมัยของจักรพรรดิที่เริ่มมาจากประเทศจีน

สำหรับศักราชของประเทศญี่ปุ่นหรือ “เนงโก” มีการเปลี่ยนชื่อศักราชมาแล้วร่วม 250 ศักราช เดิมทีจะมีการเปลี่ยนชื่อศักราชในช่วงกลางรัชสมัยเพราะเชื่อว่าอาจจะมีสิ่งใหม่ สิ่งดีขึ้น หรือเปลี่ยนศักราชเพื่อแก้เคล็ดเมื่อเกิดภัยพิบัติทางธรรมชาติหรือวิกฤติการณ์ต่างๆ แต่ในยุคหลังๆ เริ่มตั้งแต่รัชสมัยสมเด็จพระจักรพรรดิเมจิ จักรพรรดิองค์ที่ 122 พระองค์เป็นจักรพรรดิพระองค์แรกที่ใช้รัชศกเดียวตลอดรัชสมัยซึ่งเป็นธรรมเนียมที่ใช้สืบต่อมาจนถึงปัจจุบัน

คนไทยจะคุ้นชินกับคำว่า “เมจิ” ที่สุด เพราะได้เรียนรู้ว่าเป็นยุคปฏิรูปญี่ปุ่นครั้งใหญ่เพื่อนำประเทศไปสู่วิถีตะวันตก คือ ความเป็นวิทยาศาสตร์เหนือไสยศาสตร์นั่นเอง

ศักราชเมจิ มีสมเด็จพระจักรพรรดิมุสึฮิโตะ ครองราชย์ ปี พ.ศ. 2410 – 2455

ศักราชไทโช มีสมเด็จพระจักรพรรดิโยชิฮิโตะ ครองราชย์ ปี พ.ศ. 2455 - 2469

ศักราชโชวะ มีสมเด็จพระจักรพรรดิฮิโรฮิโตะ ครองราชย์ ปี พ.ศ. 2469 - 2532 ซึ่งนับได้ว่าเป็นช่วงรัชกาลที่ยาวนานที่สุดในประวัติศาสตร์ของประเทศญี่ปุ่น

ศักราชเฮเซ แปลว่า “ร่มเย็นเป็นสุขทั่วผืนแผ่นดิน” มีสมเด็จพระจักรพรรดิอะกิฮิโตะ ครองราชย์ พ.ศ. 2532 - 2562 ปัจจุบันจัดเป็นปีเฮเซย์ที่ 31 หรือหมายถึงสมเด็จพระจักรพรรดิ อะกิฮิโตะนั้นครองราชย์มาแล้วถึง 30 ปีนั่นเอง

สมเด็จพระจักรพรรดิอะกิฮิโตะทรงขึ้นครองราชย์มาตั้งแต่ปี พ.ศ. 2532 พระองค์มีพระราชประสงค์จะสละราชย์เนื่องจากผ่านการผ่าตัดมาแล้ว 2 ครั้งและมีพระชนมายุมากแล้ว จึงไม่เอื้อที่จะทรงประกอบพระราชกรณียกิจต่อไป ทำให้รัฐสภาญี่ปุ่นต้องออกกฎหมายพิเศษยินยอมให้พระองค์ทรงสละราชย์ได้ แต่เป็นกฎหมายที่ระบุเฉพาะเจาะจงพระองค์เดียวเท่านั้น ทำให้พระองค์ทรงเป็นสมเด็จพระจักรพรรดิพระองค์แรกในรอบ 200 ปีที่ทรงสละราชสมบัติ

เมื่อวันที่ 1 เมษายน พ.ศ. 2562 ประเทศญี่ปุ่นได้ประกาศเข้าสู่รัชสมัยใหม่อย่างเป็นทางการ โดยเลือกคำว่า “เรวะ” ที่มีความหมายว่า “ความสงบและความกลมเกลียว” ซึ่งจะเริ่มใช้ในวันที่ 1 พฤษภาคม พ.ศ. 2562 หลังจากที่สมเด็จพระจักรพรรดิอะกิฮิโตะทรงสละราชสมบัติในวันที่ 30 เมษายน ถือเป็นการสิ้นสุดศักราชเฮเซที่ 31 อย่างเป็นทางการ

>> ญี่ปุ่นประกาศสิ้นสุดยุค "เฮเซ" ย่างเข้าสู่ยุคใหม่ "เรวะ" อย่างเป็นทางการ

มกุฎราชกุมารนารุฮิโตะ พระชนมพรรษา 59 พรรษา เถลิงถวัลย์ขึ้นครองราชย์เป็นพระจักรพรรดิองค์ใหม่แห่งแดนอาทิตย์อุทัย ต่อจากพระราชบิดาที่มีพระชนมพรรษา 85 พรรษา ในวันที่ 1 พ.ค.ที่จะถึงศักราชของจักรพรรดิพระองค์ใหม่นี้จะเริ่มต้นในยุคการปฏิวัติไอที เชื่อกันว่าภาคธุรกิจไฮเทคนั้นเหมาะสมกับการเปลี่ยนแปลง

แต่หลายคนก็หวั่นว่าอาจจะเกิดปัญหาขึ้นมาได้เหมือนกับคราวที่ทั่วโลกต่างวิตกกับปัญหาไวรัสคอมพิวเตอร์ “วายทูเค-Y2K” ในช่วงเปลี่ยนศตวรรษใหม่ปี 2000 เนื่องจากการเปลี่ยนชื่อศักราชจากศักราชเฮเซเป็นศักราชเรวะในเอกสารจำนวนมหาศาลของญี่ปุ่น ทำให้เกิดมีกระแสหวาดกลัวไปทั่วว่าคอมพิวเตอร์จะล่มไปทั้งโลกเนื่องจากระบบคอมพิวเตอร์อาจจะทำงานผิดพลาดถึงขั้นหยุดการทำงานก็ได้ หรืออย่างน้อยอาจมีความโกลาหลกันบ้างจากการเปลี่ยนแปลงทางเอกสารเป็นล้านๆ ฉบับในระยะเวลาเกือบ 1 เดือนต่อจากนี้

อัลบั้มภาพ 3 ภาพ

อัลบั้มภาพ 3 ภาพ ของ จาก "เฮเซ" สู่ "เรวะ" ย้อนที่มาการตั้งรัชศกนับพันปีจากราชสำนักจีน ข้ามทะเลถึงญี่ปุ่น

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook