เผยโฉมหน้าที่แท้จริงของเขตปกครองตนเอง “ทิเบต” ดินแดนหลังคาโลก

เผยโฉมหน้าที่แท้จริงของเขตปกครองตนเอง “ทิเบต” ดินแดนหลังคาโลก

เผยโฉมหน้าที่แท้จริงของเขตปกครองตนเอง “ทิเบต” ดินแดนหลังคาโลก
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

สำนักข่าวซินหัวรายงานว่า ไกลออกไปจากปักกิ่ง ทางชายแดนภาคตะวันตกของจีน มีสถานที่ที่ยากต่อการอยู่อาศัยและยากต่อการเข้าถึงตั้งอยู่ ที่นี่คือเขตปกครองตนเองทิเบต ดินแดนภูเขาที่สูงที่สุดในโลกและอาจเป็นที่อยู่ของผู้คนที่แข็งแกร่งที่สุดในโลกก็ว่าได้

หลายคนคงรู้จัก “ลาซา” เมืองเอกของเขตปกครองตนเองทิเบต สถานที่แสวงบุญของชาวพุทธและแหล่งท่องเที่ยวเลื่องชื่อ แต่ทว่าทิเบตยังมีอะไรที่น่าสนใจมากกว่าจามรีและวัดวาอาราม

เมื่อปลายเดือนมี.ค. ที่ผ่านมา มีการฉลองวันปลดปล่อยไพร่ติดที่ดินของทิเบต ในหกศตวรรษที่ผ่านมาทิเบตมีการพัฒนามากขึ้นและค่อยๆ ก้าวเข้าสู่สมัยใหม่โดยไม่สูญเสียอัตลักษณ์ดั้งเดิมของตน ทั้งในด้านการศึกษา การดูแลสุขภาพ และวิถีชีวิต 

ในปี 1959 ทะไลลามะองค์ที่ 14 ได้ย้ายไปยังอินเดีย ในปีเดียวกันนั้นเอง รัฐบาลจีนได้เริ่มปฏิรูประบบสังคมและปลดปล่อยชาวทิเบตนับล้านหรือคิดเป็นสัดส่วนประชากรมากกว่า 90 เปอร์เซ็นต์

ในช่วงครึ่งแรกของศตวรรษที่ 20 ที่ดินและทรัพย์สินส่วนมากเป็นของชนชั้นสูง ชาวทิเบตส่วนใหญ่ยังไร้การศึกษา ไม่สามารถครอบครองทรัพย์สินได้และมีสิทธิเพียงน้อยนิด ประชากรที่นี่มีอายุคาดเฉลี่ยต่ำกว่า 36 ปี แม้ทุกวันนี้ผู้คนที่อาศัยอยู่ในย่านชานเมืองของลาซาอาจใช้ชีวิตอย่างอิ่มเอม แต่พวกเขาหลายคนยังคงไม่ลืมว่าในอดีตเมื่อ 60 ปีก่อน ตอนที่ที่นี่ยังเป็นหมู่บ้านเล็กๆ มันเคยเป็นอย่างไร

Sangye ชาวบ้านคนหนึ่งให้สัมภาษณ์ว่า “เมื่อก่อนสิ่งที่เรากินไม่ได้ดีไปกว่าอาหารสัตว์สักเท่าไร แต่เราไม่มีทางเลือก หลังจากปฏิรูปประชาธิปไตยในทิเบต ครอบครัวเราได้ที่ดินมาหนึ่งผืน ที่พักอาศัย วัวควาย และอาหาร”

การดูแลสุขภาพที่เหมาะสมของชาวทิเบต ซึ่งเป็นปัจจัยพื้นฐานในการดำรงชีวิต พัฒนาอย่างต่อเนื่อง โดยมีโรงพยาบาลที่ผสานทั้งแพทย์แผนปัจจุบันกับภูมิปัญญาดั้งเดิมเข้าไว้ด้วยกัน ปัจจุบันอายุคาดเฉลี่ยของชาวทิเบตเพิ่มขึ้นเกือบแตะที่ 70 ปี ตั้งแต่ปี 1959 ประชากรของเขตปกครองตนเองทิเบตเติบโตขึ้นจากเกือบ 2 ล้าน ไปสู่ 3.44 ล้านคนในปี 2018 โดยร้อยละ 90 เป็นชาวพื้นเมืองทิเบต

การปรับปรุงด้านการดูแลสุขภาพและวิถีชีวิตเช่นนี้คงไม่อาจเกิดขึ้นได้หากไร้ซึ่งการเติบโตทางเศรษฐกิจ ตั้งแต่ปี 1959 จนถึงปี 2017 จีดีพีของทิเบตเติบโตขึ้นเกือบ 16,000 เปอร์เซ็นต์ ตัวเลขของคนยากไร้ลดลงถึง 80 เปอร์เซ็นต์ในเวลาเพียง 6 ปี ด้วยเป้าหมายที่จะขจัดความยากจนให้หมดสิ้นในปีนี้ การท่องเที่ยวจึงเป็นหนึ่งในอุตสาหกรรมที่แข็งแกร่งที่สุดของทิเบต เพราะเป็นแหล่งรายได้สำคัญ โดยในปี 2018 มีนักท่องเที่ยวมาเยือนทิเบตมากถึง 3.4 ล้านคน

หมู่บ้าน Drakmarrong ตั้งอยู่ริมทะเลสาบยัมดก ในอดีตเคยเป็นหมู่บ้านเล็กๆ ที่มีครอบครัวไม่ถึงห้าหลังคาเรือน แต่ตอนนี้กว่า 30 ครอบครัวที่อาศัยอยู่ที่นี่ ได้ได้รับประโยชน์จากการท่องเที่ยว Lhamo ชาวบ้านผู้อาศัยอยู่ที่นี่มาตั้งแต่เด็ก เปลี่ยนบ้านของเธอให้เป็นโฮมสเตย์เพื่อรับนักท่องเที่ยวจากทั่วโลก ส่วนเธอเองแทบไม่เคยออกจากหมู่บ้านเลย

เธอให้สัมภาษณ์ว่า “สมัยก่อนครอบครัวของฉันยากจนเกินกว่าจะให้ฉันไปโรงเรียนได้ ตอนนี้เรามีงาน มีเงินจากการท่องเที่ยว ลูกๆ ของเราได้เข้าโรงเรียนทุกคน เราซื้อบ้านในเมืองไว้ให้ลูกๆ ฉันไม่อยากไปอยู่ในเมืองตอนนี้ ฉันไม่เหมาะกับที่นั่น ฉันไม่มีการศึกษาที่ดีพอและแก่ตัวแล้ว ที่นี่คือที่ที่เหมาะสมสำหรับฉัน”

พระราชวังนอร์บูลิงการ์ (Norbulingka) เป็นหนึ่งในสถานที่ที่นักท่องเที่ยวทุกคนต้องมา ครั้งหนึ่งเคยเป็นพระราชวังฤดูร้อนขององค์ทะไลลามะ อารามแห่งนี้เป็นที่จัดเก็บวัตถุทางพุทธศาสนา โดยรัฐบาลลงทุนจำนวนมากเพื่ออนุรักษ์โบราณวัตถุและโบราณสถานของทิเบต

โครงการอนุรักษ์และฟื้นฟูจำนวนมากเกิดขึ้นที่นี่ การศึกษาเป็นส่วนสำคัญในการอนุรักษ์วัฒนธรรม เด็กๆ ทุกคนจะได้เรียนฟรีจนถึงอายุ 18 ปี แถมยังเป็นโรงเรียนสองภาษา โดยมีการเรียนการสอนเพื่อสืบสานวัฒนธรรมจากรุ่นสู่รุ่น 

โรงเรียนมัธยมต้นแห่งหนึ่งในลาซา มีคลาสเรียนภาษาทิเบต Gyaltsen เด็กหนุ่มในชั้นเรียนที่มีความหลงใหลในวัฒนธรรมของตน กล่าวว่า “พ่อแม่เคยสอนผมนิดหน่อยก่อนผมเข้าโรงเรียนครับ อักษรวิจิตรของทิเบตเป็นงานศิลป์ที่มีเอกลักษณ์ เราเรียนภาษาทิเบตสัปดาห์ละ 5-6 ชั่วโมงครับ ผมอยากเป็นครู ผมอยากเข้ามหาวิทยาลัยเพื่อศึกษาวัฒนธรรมทิเบตครับ”

เมื่อ 60 ปีก่อน ชาวทิเบตร้อยละ 95 เป็นคนไม่รู้หนังสือ แต่ในปี 2018 ที่ผ่านมา ผู้ไม่รู้หนังสือวัยหนุ่มสาวลดลงเหลือร้อยละ 0.52 เมื่อปี 2017 นักเรียนกว่า 37,000 คนทั่วทิเบต เข้าเรียนต่อในระดับอุดมศึกษา นอกจากนี้ยังมีโรงเรียนอาชีวะ และศูนย์อาชีพที่จะช่วยพัฒนาทักษะและสร้างงานให้กับคนรุ่นใหม่

ทิเบตปกป้องสิ่งแวดล้อมทางธรรมชาติอย่างจริงจัง ข้อบังคับด้านป่าไม้ซึ่งครอบคลุมพื้นที่หนึ่งในสามของเขตปกครองตนเองทิเบตมีความเข้มงวดและได้ผลชัดเจนในช่วงไม่กี่ปีมานี้

ปี 2018 รัฐบาลท้องถิ่นว่าจ้างชาวนาและคนเลี้ยงสัตว์ 3 แสนคน ให้ทำหน้าที่เจ้าหน้าที่พิทักษ์ป่า ส่วนรัฐบาลกลางจัดสรรเงิน 1.5 หมื่นล้านหยวน ให้กองทุนปกป้องระบบนิเวศ นอกเหนือจากการลงทุนเม็ดเงินมหาศาลแล้ว ยังแสดงถึงความมุ่งมั่นที่จะปกป้องสิ่งต่างๆ ที่ทำให้ทิเบตยังคงความยิ่งใหญ่ รวมถึงการพัฒนาทิเบตอย่างรอบด้าน

อัลบั้มภาพ 3 ภาพ

อัลบั้มภาพ 3 ภาพ ของ เผยโฉมหน้าที่แท้จริงของเขตปกครองตนเอง “ทิเบต” ดินแดนหลังคาโลก

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook