"ปูสีฟ้า" วายร้ายข้ามทวีป แพร่พันธุ์ง่าย-เขมือบกินทุกอย่าง ทำลายระบบนิเวศ
"ปูสีฟ้า" จอมเขมือบ บุกข้ามทวีปจากอเมริกาไปถึงสเปน แพร่พันธุ์ง่าย ซ้ำยังกินทุกอย่างที่ขวางหน้า ทำลายระบบนิเวศย่อยยับ แต่ยังดีที่รสชาติอร่อยเด็ด ชาวประมงท้องถิ่นเร่งจับกินจับขาย พลิกวิกฤติเป็นโอกาส
สำนักข่าว เดอะ การ์เดียน ได้นำเสนอเรื่องราวของ “ปูสีฟ้า” ซึ่งกำเนิดที่อเมริกาแต่กำลังบุกข้ามทวีปไปยังประเทศสเปน ส่งผลกระทบต่อการทำประมง เนื่องจากปูชนิดนี้เป็นสิ่งมีชีวิตจอมตะกละ เขมือบได้ทุกอย่าง อีกทั้งยังทำลายอวนจับปลา และกินปูเจ้าถิ่นที่อาศัยอยู่ในแหล่งน้ำบริเวณนั้นด้วย
ปูสีฟ้า หรือ Blue crab (Callinectes sapidus) มีถิ่นกำเนิดอยู่ในแถบตะวันออกของประเทศสหรัฐอเมริกา แต่เมื่อปี 2012 เป็นถูกพบเป็นครั้งแรกที่ Ebro Delta ทางเหนือของสเปน ซึ่งนักชีววิทยาเชื่อว่ามันเดินทางข้ามประเทศโดยการถูกบรรจุอยู่ในถังบัลลาสต์ของเรือลำหนึ่ง และถูกเทลงในน่านน้ำของสเปนเมื่อเรือไปไม่ถึงจุดหมายปลายทาง เพราะกลัวพวกมันตายจึงปล่อยลงทะเล
ชาวสเปนแก้ปัญหาด้วยการจับมากิน ซึ่งเจ้าปูนี้มีรสชาติอร่อยเอาการ และสามารถเข้ากับอาหารดั้งเดิมของชาวสเปนอย่าง “ปาเอยา” หรือข้าวอบสเปน ได้เป็นอย่างดี แต่ด้วยจำนวนที่มาก ชาวประมงในแถบนั้นบอกว่าต้องจับปูสีฟ้าทุกวัน และในหนึ่งสัปดาห์จำนวนปูสีฟ้าที่จับได้ทั้งหมดมีน้ำหนักรวมมากกว่า 12 ตัน ซึ่งเทียบเท่ากับปูที่จับได้ตลอดทั้งปี 2017
โดยปูสีฟ้าตัวหนึ่งวางไข่ได้ถึง 8,000,000 ฟอง ภายใน 2 ปี โดยมีระยะเวลาตั้งท้อง 30-50 วัน ส่งผลให้จำนวนปูเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว ปูชนิดนี้ตะกละเป็นอย่างมาก กินทั้งปูท้องถิ่นจนกระทั่งพวกเดียวกันเอง
นักวิทยาศาสตร์จาก University of Alicante Marine Research Centre (CIMAR) ในประเทศสเปน พยายามหาวิธีควบคุมประชากรของปูเหล่านี้ แต่ก็เป็นเรื่องยากเพราะพวกมันสามารถแพร่พันธุ์ได้เร็ว ดังนั้นวิธีที่ดีที่สุดในการควบคุมดูเหมือนจะเป็นการหาวิธีจับให้ได้เยอะที่สุด มีการออกใบอนุญาตให้ชาวประมงใช้ตะกร้าหรือกรงที่เอาไว้จับปูโดยเฉพาะได้มากขึ้น