ประกาศ! โปรดเกล้าฯ ตั้ง “กรมขนส่งทางราง” มีผล 15 เม.ย.นี้ เป็นต้นไป
ราชกิจจานุเบกษาประกาศ พระราชบัญญัติปรับปรุง กระทรวง ทบวง กรม (ฉบับที่ 18) พ.ศ. 2562 มีผลให้มีการจัดตั้งกรมการขนส่งทางราง นับตั้งแต่วันที่ 15 เมษายน 2562 เป็นต้นไป
เมื่อวันที่ 14 เม.ย. 62 เว็บไซต์ราชกิจจานุเบกษาประกาศ พระราชบัญญัติปรับปรุง กระทรวง ทบวง กรม (ฉบับที่ 18) พ.ศ. 2562 มีผลให้มีการจัดตั้งกรมการขนส่งทางราง นับตั้งแต่วันที่ 15 เมษายน 2562 เป็นต้นไป ความว่า
สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวมหาวชิราลงกรณ บดินทรเทพยวรางกูร มีพระราชโองการโปรดเกล้าฯ ให้ประกาศว่า โดยที่เป็นการสมควรแก้ไขเพิ่มเติมกฎหมายว่าด้วยการปรับปรุงกระทรวง ทบวง กรม
จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ตราพระราชบัญญัติขึ้นไว้โดยคำแนะนำและยินยอมของสภานิติบัญญัติแห่งชาติ ทำหน้าที่รัฐสภา ดังต่อไปนี้
มาตรา 1 พระราชบัญญัตินี้เรียกว่า “พระราชบัญญัติปรับปรุงกระทรวง ทบวง กรม (ฉบับที่ 18) พ.ศ. 2562”
มาตรา 2 พระราชบัญญัตินี้ให้ใช้บังคับตั้งแต่วันถัดจากวันประกาศในราชกิจจานุเบกษา เป็นต้นไป
มาตรา 3 ให้เพิ่มความต่อไปนี้เป็น (4/1) ของมาตรา 21 แห่งพระราชบัญญัติปรับปรุง กระทรวง ทบวง กรม พ.ศ. 2545 “(4/1) กรมการขนส่งทางราง”
มาตรา 4 ให้โอนบรรดาหน้าที่และอำนาจเกี่ยวกับการปฏิบัติตามกฎหมาย กฎ ระเบียบ ข้อบังคับ ประกาศ คำสั่ง และมติคณะรัฐมนตรีของสำนักงานนโยบายและแผนการขนส่งและจราจร หนา 9 เล่ม 136 ตอนที่ 49 ก ราชกิจจานุเบกษา 14 เมษายน 2562 กระทรวงคมนาคม เฉพาะสำนักงานโครงการพัฒนาระบบราง และของข้าราชการ พนักงานราชการ และลูกจ้างของสำนักงานนโยบายและแผนการขนส่งและจราจร กระทรวงคมนาคม เฉพาะสำนักงาน โครงการพัฒนาระบบราง ไปเป็นหน้าที่และอำนาจของกรมการขนส่งทางราง กระทรวงคมนาคม หรือ ของข้าราชการ พนักงานราชการ และลูกจ้างของกรมการขนส่งทางราง กระทรวงคมนาคม แล้วแต่กรณี
มาตรา 5 ให้โอนบรรดากิจการ ทรัพย์สิน งบประมาณ สิทธิ หนี้ ภาระผูกพัน ข้าราชการ พนักงานราชการ ลูกจ้าง และอัตรากำลังของสำนักงานนโยบายและแผนการขนส่งและ จราจร กระทรวงคมนาคม เฉพาะสำนักงานโครงการพัฒนาระบบราง ไปเป็นของกรมการขนส่งทางราง กระทรวงคมนาคม
มาตรา 6 บรรดาบทบัญญัติแห่งกฎหมาย กฎ ระเบียบ ข้อบังคับ ประกาศ คำสั่ง หรือมติคณะรัฐมนตรีใดที่อ้างถึงสำนักงานโครงการพัฒนาระบบราง สำนักงานนโยบายและแผน การขนส่งและจราจร กระทรวงคมนาคม และข้าราชการ พนักงานราชการ หรือลูกจ้างของสำนักงาน โครงการพัฒนาระบบราง สำนักงานนโยบายและแผนการขนส่งและจราจร กระทรวงคมนาคม ให้ถือว่าอ้างถึงกรมการขนส่งทางราง กระทรวงคมนาคม และข้าราชการ พนักงานราชการ หรือ ลูกจ้างของกรมการขนส่งทางราง กระทรวงคมนาคม แล้วแต่กรณี
มาตรา 7 ให้นายกรัฐมนตรีรักษาการตามพระราชบัญญัตินี้
ผู้รับสนองพระราชโองการ
พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา
นายกรัฐมนตรี
หมายเหตุ: เหตุผลในการประกาศใช้พระราชบัญญัติฉบับนี้ คือ เนื่องจากการขนส่งทางรางมีบทบาทสำคัญ กับการเชื่อมโยงระบบคมนาคมขนส่งของประเทศ แต่โดยที่การบริหารจัดการด้านการขนส่งทางรางของประเทศยังไม่ได้รับการพัฒนาอย่างเป็นระบบ และยังไม่มีหน่วยงานที่ทำหน้าที่กำกับดูแลให้ระบบขนส่งทางรางทั้งประเทศมีมาตรฐานเดียวกัน ดังนั้น เพื่อให้การเสนอแนะนโยบาย ยุทธศาสตร์ แผนงานและการกำกับดูแลเป็นไปตามมาตรฐาน รวมทั้งพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานการขนส่งทางรางของประเทศให้สามารถแข่งขันและเชื่อมต่อกับการขนส่งรูปแบบอื่นและประเทศเพื่อนบ้านได้ สมควรยกฐานะสำนักงานโครงการพัฒนาระบบราง สำนักงานนโยบายและแผนการขนส่งและจราจร กระทรวงคมนาคม โดยจัดตั้งเป็นกรมการขนส่งทางรางขึ้น ในกระทรวงคมนาคม เพื่อให้การบริหารจัดการด้านการขนส่งทางรางมีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น จึงจำเป็นต้องตราพระราชบัญญัตินี้
วิเคราะห์ได้ว่า กรมรางจะเกิดขึ้นได้จากการยกระดับสำนักงานระบบรางของ สนข. ให้เป็นหน่วยงานระดับกรม เทียบเท่า กรมทางหลวง ต่างๆ นั้นเอง
ส่วนการรถไฟแห่งประเทศไทย จะถูกแปรรูป และมีการจัดตั้งบริษัทลูกอีก 3 บริษัท ที่อยู่ภายใต้การกำกับของ รฟท. ซึ่งตัวองค์กร รฟท. เองจะทำหน้าที่กำกับดูแลการดำเนินงานของ 3 บริษัทอีกที มันจะคล่องตัวกว่าที่เป็นอยู่ทุกวันนี้
- บ.เดินรถ มีหน้าที่เดินรถ ก็เหมือน รฟท. จ้างเดินรถ รฟท.จะไม่เป็นผู้เดินรถเองแล้ว รฟท.จะกลายเป็น Operator ของรัฐ ที่มีเอกชนมาวิ่งแข่งเหมือนสายการบิน
- บ.ซ่อมบำรุง กรมรางจะจ้าง บ.ซ่อมบำรุงมาซ่อมบำรุงทาง สัญญาณ ทั้งหมด ของระบบรถไฟพื้นฐาน
- บ.ทรัพย์สิน อันนี้ประโยชน์ของ รฟท.โดยตรง ที่มาดูแลและบริหารที่ดินที่มีเพื่อให้มีรายได้จาก non-core business
รฟท. จะเปลี่ยนจากทั้ง “ผู้ควบคุมและผู้บริการ” เป็นแค่ผู้บริการอย่างเดียว โดยไม่ต้องลงทุนสร้างทางแล้ว (เพราะกรมรางรับหน้าที่นี้ไป) โมเดลนี้คล้ายอังกฤษ
สรุปง่ายๆ ว่าใน รฟท.ฝ่ายใหญ่ๆ จะโดนแปรสภาพเป็น บ.ลูก เพื่อความคล่องตัว และการสร้างระบบการเดินรถไฟให้มีประสิทธิภาพ ไม่ผูกขาด ต้องเกิดการแข่งขันเพื่อให้มีคุณภาพที่ดี ถ้าแข่งกับใครไม่ได้ ยังเป็นเหมือนเดิม ไม่ปรับตัวก็สูญพันธุ์ (ตอนนี้คู่แข่ง รฟท. มีทั้งสายการบินต้นทุนต่ำและรถทัวร์ที่วิ่งทับเส้นทางกัน)
ส่วนการควบคุมของกรมรางนั้น จะควบคุมระบบขนส่งที่เกี่ยวกับรางทั้งหมดให้เป็นมาตรฐานเดียวกันทั้งหมดตั้งแต่ รฟท. รฟม. และ รฟฟท.