คนยูเครนเบื่อการเมืองเก่า ดันดาวตลกจ่อชนะเลือกตั้ง หลังจุดประกายพาประเทศเข้าอียู
ประเทศยูเครน เป็นประเทศในยุโรปตะวันออก มีอาณาเขตทางตะวันออกติดต่อกับประเทศรัสเซีย ทางเหนือติดต่อกับเบลารุส ทางตะวันตกติดต่อกับโปแลนด์ สโลวาเกีย และฮังการี ทางตะวันตกเฉียงใต้ติดต่อกับโรมาเนียและมอลโดวา ทางใต้และตะวันออกเฉียงใต้จรดทะเลดำและทะเลอะซอฟตามลำดับ โดยมีพื้นที่ 603,628 ตารางกิโลเมตร
ตามประวัติศาสตร์รัสเซียนั้นถือว่าเดิมทีตั้งแต่ตอนต้นของประวัติศาสตร์รัสเซียเริ่มขึ้นที่แคว้นยูเครนโดยมีเมืองหลวงชื่อ “เคียฟ” (ปัจจุบันเคียฟก็คือเมืองหลวงของยูเครน) ส่วนแคว้นมอสโกนั้นเกิดขึ้นทีหลัง และเมื่อรัสเซียตกเป็นเมืองขึ้นของพวกมองโกลร่วม 200 ปี ทางแคว้นมอสโกจึงเป็นผู้นำชาวรัสเซียปลดแอกจากมองโกลได้สำเร็จ ถ้าจะเปรียบเทียบระหว่างรัสเซียกับยูเครนก็เหมือนไทยกับลาวนั่นเอง
ยูเครนได้เป็นเอกราชระยะสั้นๆ ในช่วงปี พ.ศ. 2460-2464 อันเป็นผลมาจากการปฏิวัติรัสเซีย หลังจากนั้นก็ตกเป็นสาธารณรัฐหนึ่งของสหภาพโซเวียตในปี พ.ศ. 2465 ยูเครนเป็นเอกราชอีกครั้งหลังจากการล่มสลายของสหภาพโซเวียตในปี พ.ศ. 2534
ทั้งนี้ ยูเครนเป็น "อู่ข้าวอู่น้ำ" ของโลกมาช้านานเนื่องจากสภาพอันอุดมสมบูรณ์ ในปี 2554 ยูเครนเป็นผู้ส่งออกธัญพืชรายใหญ่เป็นอันดับสามของโลก ถือว่าเป็นประเทศแบบสาธารณรัฐมีรัฐบาลแบบกึ่งประธานาธิบดี (คล้ายกับฝรั่งเศสและรัสเซีย) โดยฝ่ายนิติบัญญัติ บริหาร และตุลาการ แยกออกจากกัน
นับแต่สหภาพโซเวียตล่มสลายเมื่อปี พ.ศ. 2534 ยูเครนได้ประกาศเอกราช โดยประเทศยูเครนมีประชากร 44.6 ล้านคน ในจำนวนนี้ 77.8% เป็นกลุ่มชาติพันธุ์ยูเครน มีชนกลุ่มน้อยชาติพันธุ์รัสเซีย 17% ส่วนอีก 5.2% เป็นพวกเบลารุสและโรมาเนีย มีภาษายูเครนเป็นภาษาราชการ ภาษารัสเซียเป็นภาษาที่สอง ศาสนาหลักของประเทศ คือ ศาสนาคริสต์ นิกายอีสเทิร์นออร์ทอดอกซ์
ตั้งแต่ยูเครนได้เอกราชก็มีความขัดแย้งภายในประเทศเนื่องจากในสมัยที่ยูเครนเคยเป็นส่วนหนึ่งของสหภาพโซเวียตที่มีรัสเซียเป็นผู้นำ ทำให้ประชากรในฝั่งตะวันออกและทางตอนใต้ใช้ภาษารัสเซียเป็นภาษาราชการ และมีรายได้หลักมาจากภาคอุตสาหกรรม ส่วนฝั่งตะวันตกใช้ภาษายูเครนและมีรายได้มาจากภาคเกษตรกรรม ทำให้เกิดความเหลื่อมล้ำทางเศรษฐกิจ
ขณะที่รัฐบาลยูเครนก็แบ่งเป็น 2 ฝ่าย ระหว่างกลุ่มฝักใฝ่สหภาพยุโรปและองค์การนาโต กับกลุ่มฝักใฝ่รัสเซีย ทำให้การดำเนินนโยบายต่างๆ ไม่ราบรื่นและมีความไม่ลงรอยกันเสมอมา จนกระทั่งเมื่อปลายปี พ.ศ. 2556 เกิดความขัดแย้งรุนแรง โดยกลุ่มฝักใฝ่รัสเซียในยูเครนก่อเหตุประท้วงอย่างหนักเป็นเวลานานหลายเดือนจนกลายเป็นสงครามกลางเมือง ส่งผลให้มีผู้เสียชีวิตจำนวนมาก จนรัสเซียเข้ามาแทรกแซงและยึดเอาไครเมียซึ่งเป็นคาบสมุทรในทะเลดำและเป็นฐานทัพเรือสำคัญที่รัสเซียเช่าจากยูเครนอยู่ ผนวกเข้าเป็นส่วนหนึ่งของรัสเซีย
เหตุการณ์ดังกล่าวกลายเป็นการแบ่งแยกดินแดนทางตะวันออกของยูเครนในเวลาต่อมา และเป็นที่มาของเหตุรุนแรงในเมืองลูฮานสค์และเมืองโดเนตสค์ ที่ต้องการแบ่งแยกดินแดนออกจากยูเครนเช่นกัน
ท่ามกลางความวุ่นวายในประเทศยูเครนได้มีการเลือกตั้งประธานาธิบดีขึ้นเมื่อวันที่ 31 มีนาคมที่ผ่านมานี้ โดยมีผู้สมัครเข้าชิงชัยถึง 39 คน แต่แท้ที่จริงกลับเป็นการต่อสู้กันระหว่างผู้สมัครเพียง 3 ราย คือ ประธานาธิบดีเปโตร โปโรเชนโก อดีตนายกรัฐมนตรีนางยูเลีย ตีโมเชนโกเซเลนสกี และ นายโวโลดิมีร์ เซเลนสกี นักแสดงตลกวัย 41 ปี ผู้เล่นบทเป็นประธานาธิบดีในละครตลกเสียดสีการเมืองทางโทรทัศน์เรื่อง “ข้ารับใช้ประชาชน” (แบบรายการเจาะข่าวตื้นของบ้านเรา)
เมื่อประกาศผลการเลือกตั้งประธานาธิบดียูเครนออกมา ปรากฏว่านายโวโลดิมีร์ เซเลนสกี นักแสดงตลกเสียดสีได้คะแนนเสียงจากประชาชนกว่า 30.45% จากจำนวนผู้มาใช้สิทธิเลือกตั้งประธานาธิบดีทั้งหมด 67% ของผู้มีสิทธิทั่วประเทศ ซึ่งทิ้งห่างจากนายเปโตร โปโรเชนโก ประธานาธิบดีคนปัจจุบันของยูเครนที่ได้คะแนนเสียงเพียง 16.22% และนางยูเลีย ตีโมเชนโกเซเลนสกี อดีตนายกรัฐมนตรีได้ 13.07%
AFP
>> พลิกล็อก! นักแสดงตลกขึ้นแท่นตัวเต็งที่ 1 เลือกตั้งประธานาธิบดียูเครน
นายโวโลดิมีร์ เซเลนสกี นักแสดงตลกแนวเสียดสีทางโทรทัศน์ของยูเครน วัย 41 ปี ไม่เคยมีประสบการณ์ทางด้านการเมืองมาก่อน และการลงชิงชัยตำแหน่งประธานาธิบดีในครั้งนี้ เกิดขึ้นหลังจากเขารับบทบาทในรายการโทรทัศน์เป็นครูในโรงเรียนมัธยมที่ต่อต้านการคอร์รัปชัน ก่อนจะก้าวขึ้นเป็นประธานาธิบดีของประเทศ และการแสดงดังกล่าวได้กลายเป็นที่นิยมสูงสุดในโลกออนไลน์ของยูเครน ทำให้เขาตัดสินใจลงสมัครชิงตำแหน่งประธานาธิบดี จนได้รับชัยชนะในรอบแรก
อย่างไรก็ตาม เนื่องจากกฎหมายการเลือกตั้งของยูเครนระบุว่า หากการโหวตประธานาธิบดีในรอบแรกนั้นไม่มีผู้สมัครคนใดได้คะแนนเกิน 50% จะต้องมีการลงคะแนนเลือกตั้งรอบที่สอง โดยจัดให้ผู้ได้คะแนนเสียงสูงสุด 2 อันดับแรกมาชิงชัยกันในการเลือกตั้งรอบที่ 2 ซึ่งการลงคะแนนเสียงเลือกประธานาธิบดีครั้งที่ 2 นี้จะมีขึ้นในวันที่ 21 เม.ย. 2562 ที่จะถึงนี้
AFP
นายโวโลดิมีร์ เซเลนสกี ผู้ถือเป็นม้ามืดสำหรับการเลือกตั้งประธานาธิบดียูเครนในครั้งนี้ประกาศว่า หากเขาได้รับเลือกเป็นประธานาธิบดี เขาจะนำพาให้ยูเครนเข้าเป็นสมาชิกของสหภาพยุโรป (EU) และเปิดการเจรจาสันติภาพกับรัสเซียเพื่อยุติความรุนแรงที่เกิดขึ้นในดินแดนไครเมีย ทางตะวันตกเฉียงใต้ของยูเครน
ขณะที่ประธานาธิบดีเปโตร โปโรเชนโกกล่าวในทวิตเตอร์ส่วนตัวว่า เขาเห็นและได้ยินสิ่งที่คนรุ่นใหม่ต้องการและเข้าใจถึงการประท้วงที่ประชาชนพากันเทคะแนนไปให้ดาราตลกกันอย่างท่วมท้น แต่ต่อจากนี้ไปเมื่อมีการเลือกตั้งประธานาธิบดีรอบที่ 2 ขึ้นในวันที่ 21 เม.ย.นี้ ก็ขึ้นอยู่กับชาวยูเครนที่จะต้องตัดสินใจว่าจะให้ใครเป็นผู้นำประเทศ ผู้ที่จะเป็นตัวแทนไปหารือในที่ประชุมนานาชาติกับผู้นำตะวันตกและรัสเซีย (ทำนองว่าจะเลือกเอาตัวตลกหรือนักการเมืองอาชีพนั่นแหละครับ)
และจากการคาดการณ์โดยทั่วไปแล้ว ประธานาธิบดีคนต่อไปของยูเครนน่าจะเป็นดาราตลกโดยแน่แท้