เจ้าหน้าที่สาวสะดุ้ง "งูลายสาบคอแดง" ฉกมือขวา ระหว่างเร่งดับไฟป่า จ.น่าน
(21 เม.ย. 62) นายเกรียงศักดิ์ ถนอมพันธ์ ผู้อำนวยการสำนักบริหารพื้นที่อนุรักษ์ที่ 13 รายงานว่า มีเจ้าหน้าที่ถูกงูฉก ในขณะออกปฏิบัติงานดับไฟป่า นายกิตติเชษฐ์ มูลรัตน์ หัวหน้าหน่วยจัดการต้นน้ำน้ำหุย เจ้าหน้าที่หน่วยฯน้ำหุย ได้นำกำลังเข้าดับไฟป่าบริเวณป่าห้วยหก บ้านน้ำลัก ม.4 ต.ผาทอง อ.ท่าวังผา จ.น่าน
ในขณะทำการดับไฟป่านั้น นางสาวตรี แปงอุด ตำแหน่งพนักงานจ้างเหมา (TOR) ประสบเหตุถูกงูกัด หัวหน้าหน่วยฯ จึงได้รายงานให้นายรณกฤต จักร์เงิน หัวหน้า อุทยานแห่งชาตินันทบุรี ซึ่งปฏิบัติงานทำหน้าที่หัวหน้าศูนย์ปฏิบัติการแก้ไขปัญหาไฟป่าและหมอกควัน อุทยานแห่งชาตินันทบุรี ตามคำสั่งฯ สบอ.13 (แพร่) ทราบและได้นำตัวผู้รับบาดเจ็บส่งถึงโรงพยาบาลท่าวังผา จ.น่าน แพทย์สั่งให้น้ำเกลือและรอดูอาการ ภายหลังสอบถามนางสาวตรีได้ให้ข้อเท็จจริงว่าตนร่วมกับ เจ้าหน้าที่คนอื่น ช่วยกันดับไฟบริเวณดังกล่าว ขณะที่ตนใช้ไม้เขี่ยใบไม้แห้งเพื่อทำเป็นแนวกันไฟไม่ให้ไฟลามออกมา เขี่ยไปถูกงูซึ่งขดตัวอยู่ใต้ใบไม้ จึงถูกงูตัวดังกล่าวฉกกัดเข้าที่หลังมือด้านขวาตนได้สะบัดมือเพื่อให้งูคายปากที่กัด ซึ่งงูได้คายปากและเลื้อยหลบหนีไป เบื้องต้นสันนิษฐานว่าน่าจะเป็นงูลายสาบคอแดง แต่ไม่แน่ใจ เพราะเห็นเพียงแค่ระยะเวลาสั้นๆ
ด้านนายเกรียงศักดิ์ ถนอมพันธ์ ผอ.สบอ.13 กล่าวว่า “หลังจากที่ได้รับรายงาน ตนได้สั่งการให้ศูนย์ปฏิบัติการฯ อุทยานแห่งชาตินันทบุรี และหัวหน้าหน่วยจัดการต้นน้ำน้ำหุย ดูแลช่วยเหลือผู้ประสบเหตุดังกล่าวอย่างใกล้ชิด และเฝ้าติดตามอาการจากแพทย์ พร้อมกำชับให้หัวหน้าศูนย์ปฏิบัติการแก้ไขปัญหาไฟป่าและหมอกควันอุทยานแห่งชาตินันทบุรี ให้แจ้งเจ้าหน้าที่ที่เข้าปฏิบัติงาน ให้คำนึงถึงความปลอดภัยในชีวิตเป็นอันดับแรกทุกครั้ง และในวันพรุ่งนี้จะเดินทางเข้าเยี่ยมอาการด้วยตนเองอีกครั้ง
งูลายสาบคอแดง เป็นงูพิษเขี้ยวหลัง เขี้ยวพิษขนาดเล็กอยู่ตรงตำแหน่งใต้ตา มีความยาวจากหัวถึงหางประมาณ 80 เซนติเมตร ส่วนหัวกว้างกว่าลำคอ ตัวเต็มวัยมีส่วนหัวสีเขียว ด้านท้ายของหัวและส่วนต้นของลำคอสีเทาอมเหลือง ด้านข้างของส่วนหัวบริเวณใต้ตาเห็นเป็นแถบสีดำ ลำคอและส่วนต้นของลำตัวมีสีแดง ซึ่งเป็นที่มาของชื่องูลายสาบคอแดง บนหลังและทางด้านบนของหางมีสีเทาอมเขียว มีลวดลายเป็นขีดสีเหลืองกับขีดสีดำกระจายอยู่บนหลัง ซึ่ส่วนต้นของลำตัวมีมากกว่าส่วนท้ายของลำตัว งูวัยอ่อนมีลำคอสีส้มอมแดง โดยมีสีเหลืองอยู่ทางด้านหน้า และเปลี่ยนเป็นสีเหลืองอมส้ม และสีส้มอมแดงทางด้านท้าย และทางด้านหน้าของสีเหลืองหรือส่วนตันของลำคอเป็นแถบกว้างสีดำ
เป็นงูที่น้ำพิษมีความเป็นพิษค่อนข้างรุนแรง มีพิษต่อระบบโลหิต ทำให้เลือดไม่แข็งตัว เช่น มีอาการเลือดไหลไม่หยุดจากรอยแผลที่งูกัด จากรายงานพบว่าต้องถูกงูกัดหลายๆ ครั้ง หรือกัดอยู่เป็นเวลานานพอสมควร จึงจะได้รับพิษเพียงพอที่จะทำให้อาการเลือดไม่แข็งตัว เลือดไหลไม่หยุด ผู้ป่วยแต่ละรายที่มีในรายงานเกิดภาวะเลือดไหลไม่หยุดค่อนข้างรุนแรงและเป็นเวลานาน บางรายนานถึง 4-5 สัปดาห์ บางรายมีอาการอาเจียนเป็นเลือด ปัสสาวะเป็นเลือด เลือดออกตามไรฟัน เลือดออกใต้ผิวหนัง เลือดออกในกล้ามเนื้อจนก้อนเลือดกดทับเส้นประสาท ทำให้เกิดอาการขาอ่อนแรง แต่ไม่มีรายงานเลือดออกในอวัยวะสำคัญ เช่นในสมอง และไม่มีรายงานผู้ป่วยเสียชีวิต มีรายงานว่าพิษของงูชนิดนี้อยู่นานถึง 63 วัน ผลเลือดจึงกลับเป็นปกติ