สหรัฐฯ สั่งปิดก๊อก! ห้าม 5 ประเทศ นำเข้าน้ำมันจากอิหร่าน

สหรัฐฯ สั่งปิดก๊อก! ห้าม 5 ประเทศ นำเข้าน้ำมันจากอิหร่าน

สหรัฐฯ สั่งปิดก๊อก! ห้าม 5 ประเทศ นำเข้าน้ำมันจากอิหร่าน
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

สหรัฐฯ เริ่มใช้มาตรการกดดันอิหร่านรอบใหม่ ด้วยการประกาศยุติการยกเว้นสำหรับ 5 ประเทศที่นำเข้าน้ำมันจากอิหร่าน เพื่อตัดแหล่งรายได้สำคัญของกรุงเตหะราน

ทำเนียบขาวมีแถลงการณ์ในวันจันทร์ ระบุว่า การตัดสินใจครั้งนี้เป็นความพยายามตัดการส่งออกน้ำมันของอิหร่านทั้งหมด เพื่อตัดแหล่งรายได้สำคัญของรัฐบาลอิหร่าน

โดย 5 ประเทศที่จะถูกระงับการนำเข้าน้ำมันจากอิหร่าน เริ่มตั้งแต่วันที่ 2 พฤษภาคมนี้ มี 3 ประเทศที่เป็นพันธมิตรของสหรัฐฯ คือ ญี่ปุ่น เกาหลีใต้ และตุรกี และอีก 2 ประเทศ คือ จีนกับอินเดีย

ก่อนหน้านี้ มีบางประเทศ รวมทั้ง อิตาลี กรีซ และไต้หวัน ที่ยอมปฏิบัติตามคำสั่งของสหรัฐฯ ที่ห้ามซื้อน้ำมันจากอิหร่านแล้ว

ประธานาธิบดี โดนัลด์ ทรัมป์ ทวีตข้อความในวันจันทร์ว่า ซาอุดิอาระเบียและประเทศอื่นๆ ในกลุ่มโอเปก จะสามารถผลิตน้ำมันได้มากขึ้นเมื่อสหรัฐฯ เริ่มใช้มาตรการลงโทษอย่างเต็มรูปแบบกับอิหร่าน

ขณะเดียวกันอิหร่านออกมาขู่ในวันจันทร์ว่าจะปิดช่องแคบฮอร์มุซ เพื่อตอบโต้มาตรการลงโทษครั้งล่าสุดของกรุงวอชิงตัน

ด้านเจ้าหน้าที่ระดับสูงของสหรัฐฯ ซึ่งไม่ขอเปิดเผยชื่อ กล่าวกับผู้สื่อข่าวว่า อิหร่านไม่มีสิทธิ์ที่จะปิดช่องแคบฮอร์มุซซึ่งเป็นช่องทางสำคัญในการขนส่งน้ำมัน และสหรัฐฯ จะติดตามท่าทีของอิหร่านอย่างใกล้ชิด และพร้อมที่จะสกัดกั้นการกระทำใดๆ ก็ตามของอิหร่านที่ถือเป็นการละเมิดการลงโทษ

เว็บไซต์สำรวจข้อมูลอุตสาหกรรมน้ำมัน TankerTrackers.com ระบุว่า มาตรการล่าสุดของสหรัฐฯ จะทำให้ปริมาณการผลิตน้ำมันดิบของอิหร่านอยู่ต่ำกว่าระดับ 1 ล้านบาร์เรลต่อวัน จากระดับเกือบ 2 ล้านบาร์เรลในปัจจุบัน

ทางทำเนียบขาวยืนยันว่า ซาอุฯ และสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ ต่างตกลงที่จะเพิ่มการผลิตน้ำมันของตนเพื่อชดเชยส่วนที่หายไปของอิหร่านแล้ว

ข่าวการใช้มาตรการลงโทษรอบใหม่ของสหรัฐฯ มีผลให้ราคาน้ำมันดิบในตลาดโลกเพิ่มขึ้นไปอยู่ที่ระดับสูงสุดในรอบหนึ่งปี ที่ระดับ $74.50 ต่อบาร์เรล

ขณะเดียวกันรัฐมนตรีต่างประเทศสหรัฐฯ ไมค์ ปอมเปโอ กล่าวกับผู้สื่อข่าวในวันจันทร์ว่า การลงโทษล่าสุดต่ออิหร่านคือการแสดงให้เห็นถึงความจริงจังของสหรัฐฯ ที่ต้องการยุติโครงการพัฒนาอาวุธนิวเคลียร์ของอิหร่าน รวมถึงการทดสอบขีปนาวุธและการสนับสนุนการก่อการร้าย ​

อย่างไรก็ตาม จีนคัดค้านการลงโทษของสหรัฐฯ โดยโฆษกกระทรวงการต่างประเทศจีนกล่าวกับผู้สื่อข่าวในวันจันทร์ว่า การลงโทษของสหรัฐฯ คือการดำเนินการแต่ฝ่ายเดียว และว่าการทำธุรกิจระหว่างจีนกับอิหร่านนั้นเป็นไปอย่างโปร่งใสและถูกต้อง

ประธานาธิบดีทรัมป์ถอนสหรัฐฯ ออกจากข้อตกลงที่ประเทศผู้นำโลก 6 ประเทศ ทำไว้กับอิหร่านเมื่อปี ค.ศ. 2015 แล้วเริ่มกลับมาใช้มาตรการลงโทษต่ออิหร่านอีกครั้งเมื่อปีที่แล้ว เพื่อกดดันอิหร่านให้ยุติโครงการนิวเคลียร์และยุติการสนับสนุนรัฐบาลซีเรียและเยเมน แม้ 5 ประเทศที่เหลือ คือ อังกฤษ รัสเซีย จีน เยอรมนี และฝรั่งเศส ยังคงยืนยันว่าจะปฏิบัติตามข้อตกลงดังกล่าวต่อไป​

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook