“หนึ่งแถบหนึ่งเส้นทาง” ของจีน กับการพัฒนาจนผลิดอกออกผลสำเร็จ
หลังจากทุ่มเทความพยายามอย่างไม่หยุดหย่อนมานานหลายปี อภิมหาโครงการอย่างแผนริเริ่มหนึ่งแถบ หนึ่งเส้นทาง หรือบีอาร์ไอ (BRI) ของจีน ซึ่งประกอบด้วยแถบเศรษฐกิจเส้นทางสายไหม (Silk Road Economic Belt) และเส้นทางสายไหมทางทะเลแห่งศตวรรษที่ 21 (21st Century Maritime Silk Road) ก็ผลิดอกออกผลลัพธ์ความสำเร็จอันน่าสนใจมากมาย
อิทธิพลเพิ่มพูนบนเวทีโลก
แผนบีอาร์ไอของจีนขยับขยายอิทธิพลระหว่างประเทศอย่างต่อเนื่องนับตั้งแต่เปิดตัวในปี 2013 โดยข้อมูลจากทางการจีนระบุว่าเฉพาะปี 2018 มีประเทศต่างๆ อาทิ นิวซีแลนด์ ออสเตรีย คาซัคสถาน แอฟริกาใต้ รวมกว่า 60 ประเทศ เข้าร่วมเป็นสมาชิก และจีนได้ลงนามเอกสารความร่วมมือระหว่างรัฐบาล 170 ฉบับ กับ 124 ประเทศ และ 29 องค์กรนานาชาติ เมื่อนับถึงสิ้นปีเดียวกัน
หลายประเทศและภูมิภาคทั่วโลกได้เชื่อมโยงแผนบีอาร์ไอเข้ากับการพัฒนาของตนเองอย่างแข็งขัน เช่น แผนการลงทุนจุงเกอร์ (Junker Investment Plan) ของฌอง-โคลด จุงเกอร์ ประธานคณะกรรมาธิการสหภาพยุโรปหรืออียู (EU), สหภาพเศรษฐกิจยูเรเซีย (Eurasian Economic Union - EAEU) ที่นำโดยรัสเซีย, โครงการถนนแพรี่ (Prairie Road) ของมองโกเลีย และวิสัยทัศน์เส้นทางสู่อนาคต (Nurly Zhol) ของคาซัคสถาน
โครงสร้างพื้นฐานเฟื่องฟู
การพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน (infrastructure) อย่างท่าเรือ ทางรถไฟ ทางหลวง โรงไฟฟ้า สนามบิน และเครือข่ายการสื่อสารในประเทศสมาชิกแผนบีอาร์ไอ มีประสิทธิภาพยิ่งขึ้นตามการทำงานร่วมกันอย่างหนักหน่วง ซึ่งหยั่งผลสำเร็จดีเยี่ยมกว่าที่คาดการณ์ไว้
ท่าเรือกลายเป็นจุดเชื่อมจีนและประเทศสมาชิกที่ดีกว่าโครงสร้างพื้นฐานประเภทอื่นๆ โดยจีนยังคงรักษาตำแหน่งผู้นำในการเชื่อมต่อทางทะเลด้วยเส้นทางเดินเรือสินค้า ที่เชื่อมกับท่าเรือสำคัญกว่า 600 แห่งทั่วโลก
ส่วนทางรถไฟก็เป็นอีกหนึ่งจุดเชื่อมต่อสำคัญยิ่งยวด โดยเฉพาะรถไฟสินค้าจีน-ยุโรป มียอดการเดินทางพุ่งเกิน 12,000 เที่ยว และการขนส่งสินค้าคิดเป็นมูลค่ากว่า 1.6 หมื่นล้านดอลลาร์ในปี 2561 ซึ่งสูงขึ้นอย่างมากจากการเดินทางเพียง 17 เที่ยว และการขนส่งสินค้ามูลค่าน้อยกว่า 600 ล้านดอลลาร์ในปี 2011
ยิ่งค้าขายยิ่งมีงานทำ
ทางการจีนระบุว่า การค้าระหว่างจีนกับประเทศสมาชิกแผนบีอาร์ไอ มีมูลค่าทั้งหมด 6.47 ล้านล้านดอลลาร์ในช่วงปี 2013-2018 ซึ่งเป็นผลจากการก่อตั้งเขตความร่วมมือทางเศรษฐกิจและการค้ามากกว่า 80 แห่ง และการลงทุนโดยตรงในต่างประเทศ (ODI) ของจีนกว่า 8 หมื่นล้านดอลลาร์ในประเทศสมาชิก ที่ช่วยสร้างงานแก่ประชาชนท้องถิ่นมากกว่า 244,000 อัตรา
การเงินพัฒนา
แผนการพัฒนาและการเงินเชิงนโยบายได้เร่งสนับสนุนการเดินหน้าแผนบีอาร์ไอตลอดระยะเวลา 5 ปีที่ผ่านมา ส่งผลให้เกิดการขยายตัวอย่างรวดเร็วของแพลตฟอร์มการเงินและการลงทุนระดับทวิภาคีและพหุภาคี
ประเทศสมาชิกธนาคารเพื่อการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานเอเชีย (Asian Infrastructure Investment Bank - AIIB) หรือเอไอไอบี ซึ่งเป็นธนาคารเพื่อการพัฒนาระดับพหุภาคีที่มีสำนักงานใหญ่อยู่ในกรุงปักกิ่งของจีน กว่าร้อยละ 60 ได้เข้าร่วมเป็นสมาชิกแผนบีอาร์ไอ
ด้านกองทุนเส้นทางสายไหม (Silk Road Fund) ที่จีนช่วยอุดหนุนเงินทุนก้อนแรก 4 หมื่นล้านดอลลาร์ และเพิ่มเติมก้อนสองในเวลาต่อมาอีก 1 แสนล้านดอลลาร์ ก็ได้จัดสรรปันส่วนเงินทุนแก่โครงการต่างๆ ของแผนบีอาร์ไอถึง 19 โครงการ
ประชาชนแลกเปลี่ยน
จีนได้สถาปนาความสัมพันธ์เมืองพี่เมืองน้อง (Sister city) กับ 61 ประเทศสมาชิกแผนบีอาร์ไอ คิดเป็นจำนวน 1,023 คู่ความสัมพันธ์ เมื่อนับถึงสิ้นเดือนเม.ย. 2018 ซึ่งคิดเป็นสัดส่วนกว่าร้อยละ 40 ของเมืองพี่เมืองน้องทั้งหมดของจีน
ขณะที่ปี 2017 มีการเดินทางเพื่อการท่องเที่ยวระหว่างจีนกับประเทศสมาชิกราว 60 ล้านเที่ยว โดยจำนวนนักท่องเที่ยวที่เดินทางจากจีนและมายังจีนเพิ่มขึ้น 2.6 และ 2.3 เท่าตามลำดับ เมื่อเทียบกับปี 2012 กลายเป็นขุมพลังใหม่ของการท่องเที่ยวโลก
อัลบั้มภาพ 12 ภาพ