จับตาพายุฤดูร้อนระลอกสุดท้าย ก่อนเข้าฤดูฝนเดือน พ.ค.
จับตาพายุฤดูร้อนระลอกสุดท้ายก่อนเข้าฤดูฝนเดือน พ.ค. ขณะศูนย์เตือนภัยพิบัติแห่งชาติ เตือนเหนือตอนล่าง อีสานใต้ ระวังพายุงวงช้าง
นายประสงค์ ธัมมะปาละ ผู้อำนวยการส่วนยุทธศาสตร์การเตือนภัย ศูนย์เตือนภัยพิบัติแห่งชาติ กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย (ปภ.) เปิดเผยสำนักข่าว ไอ.เอ็น.เอ็น. ถึงกรณีทางกรมอุตุนิยมวิทยา เตือนในเรื่องพายุฤดูร้อนในช่วงนี้ว่าทางศูนย์เตือนภัยพิบัติแห่งชาติได้มีการแจ้งเตือนใน 3 ภาค คือ ส่วนของภาคเหนือตอนล่าง เช่น สุโขทัย อุตรดิตถ์ พิษณุโลก กำแพงเพชร พิจิตร และเพชรบูรณ์ และภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนใต้ หรืออีสานใต้ เช่น สุรินทร์ บุรีรัมย์ ศรีสะเกษ อุบลราชธานี ร้อยเอ็ด และภาคกลางรวมทั้งกรุงเทพมหานครและปริมณฑล ซึ่งในปัจจุบันนี้ ได้มีการแจ้งเตือนไปยังประชาชนวันละ 2 รอบ เพื่อให้เรียลไทม์มากที่สุด
ทั้งนี้ ลักษณะของพายุฤดูร้อนนั้น เป็นที่สังเกตว่ามักจะเกิดในช่วงกลางวัน ช่วงหลังจากอากาศร้อนจัดๆ และมักเกิดฝนในช่วงเวลาที่ไม่นานนัก แต่อาจจะรุนแรงในบางพื้นที่อาจจะเกิดพายุงวงช้างได้เช่นในภาคอีสาน
อย่างไรก็ตาม ใกล้จะหมดช่วงพายุฤดูร้อนแล้ว เพราะเมื่อเข้าเดือน พ.ค. จะเข้าสู่หน้าฝน ทำให้มีฝนตกมากขึ้น แต่ความปรวนแปรของสภาพอากาศจะน้อยลง ซึ่งในปัจจุบันนี้ ได้มีการแจ้งเตือนไปยังประชาชนวันละ 2 รอบ เพื่อให้เรียลไทม์มากที่สุด
ทาง ปภ. จึงขอฝากเตือนประชาชนให้ติดตามพยากรณ์อากาศ และประกาศเตือนภัยอย่างใกล้ชิด พร้อมปฏิบัติตามคำเตือนและคำแนะนำอย่างเคร่งครัด ประชาชนที่ได้รับความเดือดร้อนจากพายุฤดูร้อน สามารถติดต่อขอความช่วยเหลือได้ทางสายด่วนนิรภัย 1784 ตลอด 24 ชั่วโมง เพื่อประสานให้การช่วยเหลือโดยด่วนต่อไป