ปักกิ่งเปิดบ้าน จัด “งานมหกรรมพืชสวนโลก 2019” เริ่มวันนี้
เมื่อสายตามองลอดผ่านซุ้มประตูโค้งสไตล์จีนโบราณ เบื้องหน้าคือบ้านสีขาวเทา หลังคาปูกระเบื้องลอน เคียงข้างกันมีสระน้ำสีมรกต ลานกว้างตกแต่งด้วยสวนหินและน้ำตก นิ่งสงบอยู่ท่ามกลางหมู่ต้นสน ต้นบ๊วย และต้นเอล์ม ทิวทัศน์เช่นนี้ถูกยกมาอยู่ในสวนของมณฑลอานฮุย ซึ่งจัดแสดงอยู่ ณ งานมหกรรมพืชสวนโลก 2019 ที่กรุงปักกิ่ง
สวนดังกล่าวครอบคลุมพื้นที่ราว 3,000 ตารางเมตร ศิลปินผู้ออกแบบต้องการสะท้อนเศษเสี้ยวหนึ่งในเอกลักษณ์วัฒนธรรมท้องถิ่นของมณฑลอานฮุย จึงทุ่มเทความพยายามเพื่อสร้างหมู่บ้านโบราณของมณฑลอานฮุยขึ้นที่นี่ ให้ผู้คนจากนานาประเทศได้เยี่ยมชม แม้กระทั่งซุ้มประตูโค้งก็ยังถอดแบบมาจากสถาปัตยกรรมยุคราชวงศ์หมิง (ค.ศ.1368-1644)
งานมหกรรมพืชสวนโลกปีนี้จัดขึ้นระหว่างวันที่ 29 เม.ย. – 7 ต.ค. รวมระยะเวลา 162 วัน ซึ่งได้รับความสนใจจากนานาประเทศทั่วโลก และผลักดันการท่องเที่ยวของกรุงปักกิ่งให้เบ่งบานไปตามกัน โดยคาดว่าจะมีผู้เข้าชมตลอดทั้งงานสูงถึง 16 ล้านคนทั้งจากในประเทศและต่างประเทศ ภายในงานจะจัดแสดงพืชพรรณไม้ดอกไม้ประดับจำนวนมหาศาล รวมถึงอาคารจัดแสดงที่ออกแบบมาให้งดงามดึงดูดสายตาและเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมในคราเดียวกัน
งานมหกรรมพืชสวนโลกที่กรุงปักกิ่งเป็นเจ้าภาพครั้งนี้ได้รับความสนใจสูงสุดเป็นประวัติการณ์ ด้วยสถิติที่กว่า 110 ประเทศและองค์กรนานาชาติ อีกทั้งผู้จัดนิทรรศการเอกชนกว่า 120 ราย ตอบรับเข้าร่วมงานมหกรรมครั้งนี้
บรรดาผู้จัดแสดงเหล่านี้ต่างประชันขันแข่งกันนำเสนอความสำเร็จใหม่ๆ ในศาสตร์แห่งพืชสวนบนพื้นที่จัดงานมหกรรมกว่า 503 เฮกตาร์ (ประมาณ 3,143.75 ไร่) ซึ่งตั้งอยู่ ณ เชิงกำแพงเมืองจีน เขตเหยียนชิ่ง ชานเมืองทางเหนือของนครหลวงปักกิ่ง
นอกจากนี้ตลอดทั้งงานยังมีการแสดงด้านวัฒนธรรมอีกกว่า 2,500 รายการ เช่น การประกวดพาเหรดและประกวดพืชสวน อีกทั้งหลายประเทศที่มาร่วมจัดแสดงยังมีการแสดงพิเศษใน “วันชาติ” ของแต่ละประเทศ เพื่อเน้นย้ำวัฒนธรรมอันเป็นเอกลักษณ์ของพวกเขาอีกด้วย
นับเป็นครั้งที่ 2 แล้วที่ประเทศจีนได้เป็นเจ้าภาพจัดงานมหกรรมพืชสวนระดับโลกเช่นนี้ หลังจากเคยจัดงานมหกรรมพืชสวนโลกที่เมืองคุนหมิง ทางตะวันตกเฉียงใต้ของประเทศจีน เมื่อปี 1999
และเพื่ออำนวยความสะดวกให้กับการจราจรเข้าออกพื้นที่งานมหกรรม ประเทศจีนจึงมีโครงการสร้างทางหลวงขนาดใหญ่ทั้งหมด 7 เส้นทาง กรมการขนส่งของกรุงปักกิ่งระบุว่า ทางหลวงสายใหม่เหล่านี้จะไม่เพียงบรรเทาปัญหาการจราจรติดขัด แต่ยังส่งเสริมการพัฒนาและการท่องเที่ยวของพื้นที่โดยรอบอีกด้วย
งานมหกรรมครั้งนี้ประสบความสำเร็จในงานหาผู้สนับสนุน โดยได้ลงนามในสัญญากับบริษัทจีน 25 ราย เป็นมูลค่าราว 1,000 ล้านหยวน (ประมาณ 4,747 ล้านบาท) ซึ่งรวมถึงบริษัท แอร์ ไชน่า และบริษัท ไชน่า เหมิงหนิว แดรี่ จำกัด ทั้งนี้ บริษัทผู้สนับสนุนเหล่านี้ไม่เพียงให้เงินทุนเท่านั้น แต่ยังสนับสนุนด้านผลิตภัณฑ์ บริการ และเทคโนโลยีให้กับงานมหกรรมครั้งนี้ด้วย
องค์กรผู้จัดงานเปิดเผยว่า มีการเปิดรับอาสาสมัครทั้งหมด 2,000 คน มาทำงาน ส่วนมากเคยผ่านประสบการณ์ในงานมหกรรมครั้งใหญ่ๆ มาแล้ว และสื่อสารภาษาอังกฤษได้อย่างคล่องแคล่ว ทั้งยังมีอาสาสมัครหลายรายที่เชี่ยวชาญภาษาฝรั่งเศส เยอรมัน และสเปนด้วย
สถาปัตยกรรมที่โดดเด่นของ “พาวิลเลียน”
พาวิลเลียนจีนตั้งตระหง่านอยู่ ณ ใจกลางของสถานที่จัดงานมหกรรมพืชสวนโลก ออกแบบให้รูปร่างเหมือน “หรูอี้” เครื่องประดับจีนโบราณซึ่งเป็นสัญลักษณ์ของโชคดี ในฐานะที่เป็น 1 ใน 4 พาวิลเลียนหลักของงานมหกรรม พาวิลเลียนจีนจึงจัดแสดงต้นไม้หลากหลายสายพันธุ์ที่รวบรวมมาจากทั่วทั้งแผ่นดินจีน รวมถึงสะท้อนประวัติศาสตร์การจัดสวนและพืชสวนจีน
การออกแบบอันเป็นเอกลักษณ์เช่นนี้ยังพบได้ในพาวิลเลียนหลักอีกหลายแห่ง ดังเช่นพาวิลเลียนนานาชาติที่ค้ำยันด้วยเสารูปร่มดอกไม้จำนวน 94 ต้น และโรงละครกุยรุ่ยที่ออกแบบเป็นรูปผีเสื้อหลากสี ซึ่งจะเป็นสถานที่จัดพิธีเปิดและพิธีปิด
งานนี้ทั้ง 31 มณฑลของจีน รวมถึงฮ่องกง มาเก๊า และไต้หวัน ต่างทุ่มเทสุดกำลังเพื่อแสดงองค์ประกอบทางวัฒนธรรมที่เป็นเอกลักษณ์ของตน โดยจะเรียงรายอยู่ ณ พื้นที่จัดแสดงกลางแจ้ง เช่น สวนแพนด้ายักษ์ของมณฑลเสฉวน ถ้ำมั่วเกาขนาดจำลองของมณฑลกานซู่ และแบบจำลองหมู่บ้านทิเบตโบราณของเขตปกครองตนเองทิเบต
ด้านมณฑลยูนนานออกแบบพื้นที่สวน 3,000 ตารางเมตร อย่างพิถีพิถันให้เป็นสถานที่รวบรวมทุกแลนด์มาร์กของมณฑล เช่น เส้นทางขี่ม้าค้าชาในสมัยโบราณ (ฉาหม่ากู่เต้า) สถาปัตยกรรมโบราณเมืองต้าหลี่ และรูปปั้นทองแดงที่สาธิตกระบวนการผลิตชาผูเอ่อร์
นอกจากนี้ยังมีสวนและพาวิลเลียนอีกกว่า 40 แห่ง ที่เป็นไฮไลต์ของงาน ซึ่งออกแบบโดยผู้จัดแสดงจากนานาประเทศ โดดเด่นด้วยเอกลักษณ์ทางวัฒนธรรมและประวัติศาสตร์ของแต่ละพื้นที่
อีกด้านหนึ่ง สวนญี่ปุ่นจัดแสดงในรูปแบบของลานกว้างที่แต่งแต้มด้วยต้นไม้ ดอกไม้ หิน น้ำตก และกำแพงไผ่ เพื่อแสดงให้เห็นถึงแก่นของการจัดสวนแบบญี่ปุ่น
“การออกแบบสวนญี่ปุ่นคือการสร้างท่วงทำนองที่สอดประสานกันได้อย่างสมบูรณ์แบบระหว่างลานกว้าง ต้นไม้ น้ำ และภูเขาที่อยู่ไกลออกไป” ทากาฮาชิ นารุกิ ผู้ควบคุมการก่อสร้างโครงการกล่าว “สวนแห่งนี้สะท้อนความปรารถนาจะใช้ชีวิตร่วมกันสิ่งแวดล้อมตามแบบสวนญี่ปุ่นโบราณ”
ภายในเรือนกระจกสูง 20 เมตรซึ่งครอบคลุมพื้นที่ 3,000 ตารางเมตร คือสถานที่จัดแสดงพันธุ์ไม้หายาก เช่น ต้นจันทน์และต้นไทรหลากสี (杂色榕)
ฟู่ จงเหริน ผู้จัดการด้านเทคนิคของพาวิลเลียนแห่งนี้ระบุว่า “พาวิลเลียนพันธุ์พืชเป็นหนึ่งในพาวิลเลียนหลักซึ่งจัดแสดงพันธุ์ไม้ถึง 1,000 สายพันธุ์ ในจำนวนนี้ยังรวมถึงพันธุ์ไม้หายากอีกกว่า 100 สายพันธุ์”
บนหลังคาของพาวิลเลียนยังมีสวนลอยฟ้าซึ่งปลูกดอกไม้หลากสีสันและกลิ่นหอมยวนใจไว้เต็มพื้นที่ พร้อมทั้งมีห้องแล็บด้านพันธุกรรมพืชให้ผู้เยี่ยมชมได้ศึกษาข่าวสารความสำเร็จล่าสุดทางวิทยาศาสตร์เกี่ยวกับการลำดับจีโนมในพันธุ์พืช
“พาวิลเลียนพันธุ์พืชจัดแสดง ‘อาณาจักรพฤกษศาสตร์’ อันสร้างความตื่นตนตื่นใจแก่ผู้เยี่ยมชม” ฟู่กล่าว
รองผู้อำนวยการใหญ่สำนักประสานงานมหกรรมพืชสวนโลกกรุงปักกิ่งระบุว่า “งานมหกรรมพืชสวนโลกครั้งนี้รวบรวมเอาดอกไม้ ผลไม้ พืชผัก และสมุนไพรจำนวนมหาศาลจากทั่วโลก รวมถึงดอกไม้ 1,200 สายพันธุ์ ที่มีถิ่นกำเนิดในประเทศจีน เช่น โบตั๋น บัว กล้วยไม้ คาเมลเลีย และกุหลาบพันปี” พร้อมเสริมว่าผู้คนจะได้ชมดอกไม้สายพันธุ์ใหม่กว่า 40 ชนิด จากต่างประเทศอีกด้วย
ในสวนของมณฑลอานฮุยจัดแสดงต้นไม้มากกว่า 300 สายพันธุ์ ซึ่งในจำนวนนี้มี 200 สายพันธุ์ที่เป็นไม้พื้นถิ่นของมณฑลเอง ทั้งยังมีต้นไม้ที่เสี่ยงต่อการสูญพันธุ์อีกด้วย
ที่น่าทึ่งไปกว่านั้นยังมีการขนย้ายต้นไม้หายากอื่นๆ จากหลายพื้นที่ของจีนมาไว้ ณ งานมหกรรมครั้งนี้ เช่น ต้นวิลโลว์อายุ 100 ปี จากทิเบตและต้นสนสูง 3 เมตร จากเทือกเขาฉินหลิ่งทางตะวันตกเฉียงเหนือของจีน
ด้านพาวิลเลียนไทยสร้างเป็นบ้านเรือนไทยที่รายล้อมด้วยดอกไม้ ผัก สมุนไพร และผลไม้ โดยจะนำเอาต้นมะม่วง ลองกอง ทุเรียน มังคุด รวมถึงกล้วยไม้และไม้กระถางต่างๆ มาหมุนเวียนกันจัดแสดง
มหกรรมสีเขียว เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม
ธีมงานของมหกรรมพืชสวนโลกกรุงปักกิ่งคือ “live green, live better” (ใช้ชีวิตที่ดีกว่า ใช้ชีวิตที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม) ซึ่งเป็นโจทย์การออกแบบสวนและพาวิลเลียนต่างๆ ภายในงานเช่นเดียวกัน
พาวิลเลียนจีนออกแบบเป็นอุโมงค์ใต้ดิน ห้องจัดแสดงภายในเรียงรายลดหลั่นกันเสมือนนาขั้นบันได ทำให้รักษาทั้งความร้อนและความชื้นภายในอาคารได้อย่างดี ทั้งยังมีระบบให้น้ำฝนจากบนหลังคาและสระน้ำเก็บน้ำใต้ดิน รวมถึงติดตั้งแผงโซลาร์เซลล์กว่า 1,000 ชิ้น บนหลังคา เพื่อใช้ประโยชน์จากพลังงานแสงอาทิตย์
พาวิลเลียนจีนเกิดจากการออกแบบให้ผสมผสานแนวคิดของสถาปัตยกรรมจีนโบราณและภูมิปัญญาจีน โดยใช้ประโยชน์จากเงื่อนไขทางธรรมชาติเพื่อประหยัดพลังงาน
นอกจากนี้ ระหว่างช่วงเตรียมงานเพื่อวางแผนการก่อสร้างสถานที่จัดงานมหกรรมพืชสวนโลกครั้งนี้ ต้นไม้ 50,000 ต้น ที่มีอยู่แต่เดิมถูกวางเป็นแกนกลางของการออกแบบพื้นที่ทั้งหมด ในขณะเดียวกันก็มีการปลูกต้นไม้และไม้พุ่มอีกกว่า 100,000 ต้น เพื่อพัฒนาพื้นที่ชุ่มน้ำ พัฒนาคุณภาพน้ำ และสร้างสภาพแวดล้อมที่เหมาะแก่การตั้งถิ่นฐานของนกอพยพ
และเพื่อปกป้องต้นวิลโลว์สูง 15 เมตร ที่ถูกนำมาร่วมจัดแสดงด้วย นักออกแบบจึงปรับความสูงของสิ่งปลูกสร้างใกล้เคียงให้เหมาะสมกับความสูงของต้นไม้ แม้ว่าต้องใช้ต้นทุนเพิ่มขึ้นก็ตาม แต่การปกป้องต้นไม้ต้องมาก่อนเสมอ
ขยะจากการก่อสร้าง เช่น เศษหินและดินโคลน ล้วนถูกเปลี่ยนเป็นกำแพง ถนน และเนินเขาสูง 25 เมตร ที่สร้างขึ้นให้ผู้เยี่ยมชมได้เห็นทิวทัศน์มุมสูงของงานมหกรรมพืชสวนโลกครั้งนี้โดยไม่มีสิ่งใดกีดกั้น สิ่งมีชีวิตตามธรรมชาติจำนวนมากจะปรากฏแก่สายตา ไม่ว่าจะเป็นภาพผืนป่าหรือฝูงหงส์
ทั้งนี้ หลักการให้ความสำคัญกับระบบนิเวศมิได้นำมาใช้กับการวางแผน การออกแบบ และการก่อสร้างพื้นที่จัดงานเท่านั้น แต่ยังนำมาใช้เป็นแนวทางปฏิบัติงานอื่นๆ ในอนาคตอีกด้วย เช่น การใช้รถยนต์ไฟฟ้าภายในพื้นที่จัดงาน
“งานมหกรรมพืชสวนโลกกรุงปักกิ่งเป็นโอกาสอันน่าตื่นเต้นที่จะแสดงให้โลกเห็นแนวความคิดใหม่ๆ ว่าพันธุ์พืชและภูมิทัศน์ช่วยให้สรรพชีวิตต่างๆ ดีขึ้นได้อย่างไรบ้าง” ทิม ไบเออร์คลิฟฟ์ เลขาธิการสมาคมพืชสวนระหว่างประเทศกล่าว พร้อมเสริมว่า “เราคาดหวังกันอย่างยิ่งว่างานมหกรรมพืชสวนโลกกรุงปักกิ่ง 2019 จะเป็นที่ยอมรับในฐานะแบบอย่างของการใช้ชีวิตที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม”
อัลบั้มภาพ 21 ภาพ