พบ "เลียงผา" กลางทุ่งนา เจ้าหน้าที่ยิงยาสลบ นำไปดูแลก่อนปล่อยคืนสู่ป่า

พบ "เลียงผา" กลางทุ่งนา เจ้าหน้าที่ยิงยาสลบ นำไปดูแลก่อนปล่อยคืนสู่ป่า

พบ "เลียงผา" กลางทุ่งนา เจ้าหน้าที่ยิงยาสลบ นำไปดูแลก่อนปล่อยคืนสู่ป่า
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

เจ้าหน้าที่ช่วยเลียงผาพลัดหลงออกนอกพื้นที่ป่าอนุรักษ์ ที่จังหวัดอุทัยธานี เดินงงอยู่กลางทุ่งนา ลูกดอกยาสลบ นำไปอนุบาล เฝ้าระวัง และสังเกตอาการ รอปล่อยคืนสู่ป่าอนุรักษ์ต่อไป

ส่วนประชาสัมพันธ์และเผยแพร่ กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช รายงานข่าวว่า วันที่ 6 พ.ค.62 เจ้าหน้าที่เขตห้ามล่าสัตว์ป่าถ้ำประทุน จ.อุทัยธานี สบอ.12 (นครสวรรค์) ได้รับแจ้งจากเจ้าหน้าที่ตำรวจสายตรวจประดู่ยืน พบเลียงผาอยู่กลางทุ่งนา จึงได้ร่วมกับสถานีเพาะเลี้ยงสัตว์ป่าห้วยขาแข้ง เจ้าหน้าที่ตำรวจสถานีตำรวจภูธรลานสัก เจ้าหน้าที่ อปพร.ตำบลประดู่ยืนเข้าตรวจสอบ

เมื่อเจ้าหน้าที่ไปถึงก็พบเลียงผา ซึ่งเป็นสัตว์ป่าสงวน พลัดหลงออกนอกพื้นที่ป่าอนุรักษ์ ไปอยู่บริเวณพื้นที่การเกษตร(ทุ่งนา) ที่บ้านป่าคา ม.9 ต.ประดู่ยืน อ.ลานสัก จ.อุทัยธานี จำนวน 1 ตัว เป็นเพศเมีย อายุประมาณ 5-7 ปี น้ำหนักประมาณ 50-70 กิโลกรัม

เจ้าหน้าที่สถานีเพาะเลี้ยงสัตว์ป่าห้วยขาแข้ง จึงได้ทำการจับโดยวิธีการใช้ลูกดอกยาสลบและเจ้าหน้าที่สัตวบาลได้เก็บตัวอย่างเลือดเพื่อตรวจสอบโรคและความสมบูรณ์ของร่างกาย จากนั้นได้นำเลียงผาตัวดังกล่าวไปอนุบาล เฝ้าระวัง และสังเกตอาการ ที่สถานีเพาะเลี้ยงสัตว์ป่าห้วยขาแข้ง เพื่อจะได้ปล่อยคืนสู่ป่าอนุรักษ์ต่อไป

ล่าสุดวันนี้ (8 พ.ค.62) มีรายงานเพิ่มเติมว่า นายธนิตย์ หนูยิ้ม ผู้อำนวยการสำนักบริหารพื้นที่อนุรักษ์ที่ 12 ได้มอบหมายให้ สพ.ญ.พิมพ์ชนก สรงมงคล นายสัตวแพทย์ประจำ สบอ.12 ไปตรวจติดตามอาการของเลียงผา พบว่า สภาพร่างกายภายนอกปกติ มีอาการหายใจหอบเล็กน้อย คาดว่าเป็นผลมาจากสภาพอากาศที่ร้อนและตื่นคน จากการสอบถามผู้ดูแลแจ้งว่าเลียงผากินผลไม้ และน้ำ แต่ยังไม่กินหญ้า เดินไปเดินมาอย่างปกติในคอก พร้อมได้รับตัวอย่างเลือด เพื่อจะนำไปส่งตรวจโรคที่สำคัญต่อไป

ในขณะที่หัวหน้าสถานีเพาะเลี้ยงสัตว์ป่าห้วยขาแข้ง แจ้งว่า สัตว์ที่ถูกตรึง ถูกจับ หรือถูกวางยาสลบ มักจะป่วยเป็นโรค Capture myopathy คือ กล้ามเนื้อบางจุดเกิดความเสียหาย หากรีบปล่อยกลับคืนสู่ป่าธรรมชาติ สัตว์อาจตาย จึงต้องเฝ้าดูอาการอย่างน้อย 1 เดือน หลังจากนั้นเมื่อประเมินความพร้อมแล้วจึงสามารถปล่อยคืนสู่ธรรมชาติได้

ทั้งนี้ “เลียงผา” หรือ เยียงผา หรือ โครำ เป็นสัตว์เท้ากีบวงศ์เดียวกับแพะและแกะ ใช้ชื่อวิทยาศาสตร์ว่า Capricornis มีลักษณะคล้ายกับกวางผา แต่มีขนาดใหญ่กว่า คล้ายแพะแต่มีรูปหน้ายาวกว่า มีลำตัวสั้นแต่ขายาว ตัวเมียมีขนาดเล็กกว่าตัวผู้ มีเขาทั้งตัวผู้และตัวเมีย เขางอกยาวต่อเนื่องทุกปี

สภาพแวดล้อมที่อยู่อาศัย พบกระจายพันธุ์อย่างกว้างขวางตั้งแต่เอเชียใต้, เอเชียตะวันออกเฉียงใต้, อินโดนีเซีย จนถึงเอเชียตะวันออก เช่น จีน, ไต้หวัน, ญี่ปุ่น โดยมักอยู่ตามหน้าผาหรือภูเขาสูง หรือตามเกาะต่างๆ กลางทะเล มีความสามารถในการปีนป่ายที่สูงชันได้อย่างคล่องแคล่ว โดยสามารถทำความเร็วในการขึ้นที่สูงได้ถึง 1,000 เมตร ด้วยเวลาเพียง 15 นาที

เลียงผา ถือเป็นสัตว์ที่มีมาแต่โบราณ ราว 2-7 ล้านปีมาแล้ว มีปัจจัยคุกคาม คือโดนไล่ล่าเพราะถูกเชื่อว่าเป็นสัตว์ที่ใช้น้ำมันในการรักษาบาดแผลที่ได้รับบาดเจ็บจากการพลัดตกเขาหรือบาดแผลจากการถูกยิงและสมานกระดูกที่หักได้ ซึ่งไม่เป็นความจริงแต่อย่างใด ดังนั้นจึงมีการล่าเพื่อเอาน้ำมันเลียงผาใช้ในการรักษาบาดแผลและสมานกระดูก ทำให้ในอดีตเลียงผาถูกล่าเป็นจำนวนมาก เลียงผาแต่ละตัวสามารถสร้างเงินรายได้ให้ผู้ประกอบการขายน้ำมันเลียงผาได้อย่างมหาศาล

นอกจากการล่าแล้วการทำลายถิ่นที่อยู่อาศัยและการบุกรุกป่าเพื่อเปลี่ยนเป็นพื้นที่เกษตร ทำให้หลายพื้นที่ในปัจจุบันเลียงผาถูกไล่ต้อนให้อยู่ตามภูเขาสูงโดยเฉพาะภูเขาหินปูน นอกจากนี้การทำลายถิ่นที่อยู่อาศัยบริเวณชายเขาหินปูนที่เลียงผามักจะลงมาหาน้ำและอาหารในที่ต่ำทำให้พื้นที่หากินลดลงและถูกล่าได้ง่ายขึ้น เลียงผาจึงลดจำนวนประชากรลงอย่างมาก

อัลบั้มภาพ 6 ภาพ

อัลบั้มภาพ 6 ภาพ ของ พบ "เลียงผา" กลางทุ่งนา เจ้าหน้าที่ยิงยาสลบ นำไปดูแลก่อนปล่อยคืนสู่ป่า

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook