ภูเขาเปลือกทุเรียนรีเทิร์น เชียงใหม่สั่งเก็บกองพะเนิน วันละกว่า 8 ตัน

ภูเขาเปลือกทุเรียนรีเทิร์น เชียงใหม่สั่งเก็บกองพะเนิน วันละกว่า 8 ตัน

ภูเขาเปลือกทุเรียนรีเทิร์น เชียงใหม่สั่งเก็บกองพะเนิน วันละกว่า 8 ตัน
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

ฤดูกาลทุเรียนฟีเวอร์ นักท่องเที่ยว-คนเชียงใหม่ กินทุเรียนวันละกว่า 8 ตัน ภูเขาเปลือกทุเรียนสูงขึ้นทุกวัน เทศบาลเร่งกำจัด ลดผลกระทบสิ่งแวดล้อม

(10 พ.ค.) เจ้าหน้าที่ฝ่ายจัดการสภาพแวดล้อม ส่วนช่างสุขาภิบาล เทศบาลนครเชียงใหม่ เร่งคัดแยกถุงพลาสติกและเศษขยะทั่วไปออกจากกองภูเขาเปลือกทุเรียน บริเวณสวนหลวง ร.9 อ.เมือง จ.เชียงใหม่ หลังจากผู้บริหารเทศบาลนครเชียงใหม่ สั่งการให้เจ้าหน้าที่ฝ่ายจัดเก็บขยะ จัดรถเก็บเปลือกทุเรียน และออกตระเวนจัดเก็บเปลือกทุเรียนตามตลาดสด และบ้านเรือนประชาชนในเขตเทศบาลนครเชียงใหม่เป็นประจำทุกวัน เพื่อนำไปทำปุ๋ยหมัก ลดปัญหาสิ่งแวดล้อม

ขณะที่ผู้สื่อข่าวได้เดินทางไปสำรวจแผงผลไม้ในตลาดเมืองใหม่ อ.เมืองเชียงใหม่ พบมีชาวเชียงใหม่และนักท่องเที่ยวชาวจีนจำนวนมากต่อแถวเพื่อซื้อทุเรียน แม้ว่าทุเรียนจะมีราคาสูงถึงกิโลกรัมละ 140-200 บาท แต่ละวันพ่อค้าแม่ค้าต้องสั่งทุเรียนมาขายมากกว่า 7-8 ตัน

นางณัฏฐพัชร์ จีรจิตต์ เจ้าของแผงค้าผลไม้ในตลาดเมืองใหม่ กล่าวว่า ปีนี้ผลผลิตทุเรียนมีมากกว่าปีที่ผ่านมา โดยทุเรียนที่ออกช่วงนี้เป็นผลผลิตที่ส่งมาจากภาคตะวันออก ทั้ง พันธุ์ก้านยาว และ หมอนทอง ขณะที่ทุเรียนเป็นผลไม้ที่ได้รับความนิยมจากประชาชน รวมทั้งนักท่องเที่ยวชาวจีน แต่ละวันนักท่องเที่ยวชาวจีนจะเดินทางมาเลือกซื้อทุเรียนถึงแผงขายในตลาด บางรายเมื่อเลือกซื้อแล้วจะให้แม่ค้าแกะเปลือกและยืนกินหน้าร้านเลย

ทางด้านนายทัศนัย บูรณุปกรณ์ นายกเทศมนตรีนครเชียงใหม่ คาดว่าช่วงนี้มีการบริโภคทุเรียนเพิ่มขึ้นวันละประมาณ 8-9 ตัน ส่งผลให้ขยะเปลือกทุเรียนมีปริมาณเพิ่มขึ้น โดยเปลือกทุเรียนที่ทิ้งส่วนมากมาจากตลาดสดประมาณ 4-5 ตันต่อวัน คิดเป็น 60 เปอร์เซ็นต์ ส่วนอีก 3-4 ตัน หรือ 40 เปอร์เซ็นต์ ถูกทิ้งมาจากครัวเรือนของประชาชน และนับตั้งแต่ผลผลิตทุเรียนออกสู่ตลาดเทศบาลฯได้จัดเก็บเปลือกทุเรียนมากองรวมกันไว้มีน้ำหนักรวมกันมากกว่า 100 ตันแล้ว

ทางเทศบาลฯ พยายามหาวิธีการกำจัดขยะเปลือกทุเรียนที่มีผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมน้อยที่สุด เพราะการเผาก่อมลพิษสูง ขณะที่การฝังกลบก็มีต้นทุนสูงถึงตันละ 900 บาท ฝ่ายจัดการสภาพแวดล้อมฯ ส่วนช่างสุขาภิบาล จึงมีแนวทางนำขยะคัดแยกสามารถนำมารีไซเคิลได้ โดยเฉพาะเปลือกทุเรียน นำมาทำปุ๋ยหมักอินทรีย์ เพื่อแจกจ่ายให้ประชาชน รวมทั้งใช้ในหน่วยงานของเทศบาลฯ

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook