สมาคมคนข่าวจี้ "กสทช.” ควบคุมให้เยียวยานักข่าว หลังคืน 7 ช่องทีวีดิจิทัล
สมาคมคนข่าวออกแถลงการณ์ร่วม ขอ “กสทช.กำชับ” เจ้าของ 7 ช่องทีวีดิจิทัล เยียวยาพนักงานตามกฎหมาย
จากกรณีผู้ประกอบการทีวีดิจิทัล ทั้งหมด 7 ช่อง ได้คืนใบอนุญาตประกอบการทีวีดิจิทัลในวันนี้ (10 พ.ค.) นั้น ล่าสุด สหภาพแรงงานกลางสื่อมวลชนไทย สมาคมนักข่าววิทยุและโทรทัศน์ไทย สมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย
รวมทั้งสภาวิชาชีพข่าววิทยุและโทรทัศน์ไทย ได้ออกแถลงการณ์ร่วม เรื่อง กรณีคืนใบอนุญาตทีวีดิจิทัล โดยเนื้อหาแถลงการณ์ร่วมระบุว่า จากกรณีที่สำนักงานคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) เปิดให้ผู้ประกอบการทีวีดิจิทัลคืนใบอนุญาตประกอบการ ในวันที่ 10 พฤษภาคม 2562 เป็นวันสุดท้าย ตามคำสั่งหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ที่ 4/2562 เรื่อง มาตรการแก้ไขปัญหาการประกอบกิจการโทรทัศน์และกิจการโทรคมนาคม ส่งผลให้มีผู้ประกอบการทีวีดิจิทัล 7 ช่อง ตัดสินใจคืนใบอนุญาตตามสิทธิ์ดังกล่าว
>> อวสานคนทำสื่อ! นายทุนแห่คืน "ทีวีดิจิทัล" 7 ราย พนักงาน-สื่อ โอดครวญ
สหภาพแรงงานกลางสื่อมวลชนไทย สมาคมนักข่าววิทยุและโทรทัศน์ไทย สมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย และสภาวิชาชีพข่าววิทยุและโทรทัศน์ไทย เฝ้าติดตามความเคลื่อนไหวในอุตสาหกรรมทีวีดิจิทัลตลอดมา มีความเข้าใจในสถานการณ์ และห่วงใยต่อสภาวะการว่างงานของพนักงานสังกัดทีวีดิจิทัลที่ผู้ประกอบการคืนใบอนุญาตที่จะมีผู้ได้รับผลกระทบจำนวนมากเป็นประวัติการณ์ในแวดวงสื่อสารมวลชน เพราะนี่คือการปิดบริษัท ไม่ได้เป็นเพียงการเปิดโครงการเพื่อลดจำนวนพนักงานเช่นเดียวกับในช่วงที่ผ่านมา จึงมีข้อเรียกร้องและข้อเสนอแนะดังนี้
1. เรียกร้อง กสทช. ให้ขอความร่วมมือ/กำชับผู้ประกอบการที่คืนใบอนุญาต ได้ดำเนินการดูแลชดเชยเยียวยาพนักงานที่ตกงาน มากกว่าที่พ.ร.บ.คุ้มครองแรงงานกำหนด เนื่องจากการคืนใบอนุญาตดังกล่าวผู้ประกอบการเองก็ได้รับเงินคืน
จาก กสทช.เช่นกัน
2. ขอให้ผู้ประกอบการ เจ้าของสื่อ ชดเชยเยียวยาพนักงานที่ตกงานด้วยความเป็นธรรมและมากกว่าพ.ร.บ.คุ้มครองแรงงานกำหนด เนื่องจากเป็นการปิดบริษัทอย่างกระทันหันไม่ได้แจ้งล่วงหน้าตามที่กฎหมายกำหนด และการคืนใบอนุญาตดังกล่าวผู้ประกอบการเองก็ได้รับเงินคืนจากกสทช.เช่นกัน รวมทั้งต้องออกหนังสือรับรองการทำงานให้ด้วย
ยืนยันว่าทุกองค์กรวิชาชีพเข้าใจในสถานการณ์ในอุตสาหกรรมสื่อซึ่งไม่ได้เกิดขึ้นเฉพาะในประเทศไทยเท่านั้น และต้องการให้การยุติการประกอบการจบลงด้วยดีกับทุกฝ่าย