ส่งป.ป.ช.ฟันอาญา วิสิฐ บอร์ดกบข. มีมติเลิกจ้าง-งดโบนัส เดินหน้าคุ้ยปม
บอร์ด กบข.มีมติเลิกจ้าง วิสิฐ งดจ่ายโบนัส ยังสอบวินัยต่อไป สั่งเพิ่มกรอบคุ้ยทั้งการซื้อ-ขายหุ้นโดยใช้ข้อมูลภายใน ขู่หากพบผิดต้องเรียกร้องค่าเสียหาย ผอ.สำนักกม.ระบุ ป.ป.ท.ส่งเรื่องป.ป.ช.ดำเนินการได้เฉพาะคดีอาญา ความผิดวินัยสิ้นสุดแล้วเมื่อเลิกจ้าง
ที่ประชุมคณะกรรมการกองทุนบำเหน็จบำนาญข้าราชการหรือบอร์ด กบข. เมื่อวันที่ 8 มิถุนายน มีมติเลิกจ้างนายวิสิฐ ตันติสุนทร เลขาธิการ กบข. ภายหลังยื่นหนังสือลาออกจากตำแหน่ง เพื่อแสดงความรับผิดชอบที่บริหารกองทุนในปี 2551 ขาดทุนกว่า 7 หมื่นล้านบาท
นายสถิตย์ ลิ่มพงศ์พันธ์ ว่าที่ปลัดกระทรวงการคลัง ประธานบอร์ด กบข. เปิดเผยเรื่องนี้หลังการประชุมว่า มีมติไม่อนุมัติการลาออกของนายวิสิฐ ตันติสุนทร เลขาธิการ กบข.ตามที่นายวิสิฐยื่นใบลาออกมา เนื่องจากตามระเบียบการว่าจ้างแล้ว การลาออกจะต้องยื่นใบลาออกล่วงหน้า 30 วัน บอร์ดจึงมีมติให้เลิกจ้างแทน มีผลย้อนหลังตั้งแต่วันที่ 2 มิถุนายน 2552 ซึ่งเป็นวันที่เจ้าตัวประสงค์จะลาออก เนื่องจากที่ประชุมได้พิจารณาแล้วว่า นายวิสิฐไม่ปฏิบัติตามระเบียบข้อบังคับ กบข.ที่มีอยู่ ซึ่งในหนังสือการลาออก นายวิสิฐก็ได้ยอมรับว่า ทำผิดระเบียบจริง แต่ไม่ได้มีเจตนาที่ไม่สุจริต
"การลาออกของนายวิสิฐ ไม่ได้ปฏิบัติตามระเบียบที่ต้องยื่นหนังสือล่วงหน้า 30 วัน ขณะที่มีข้อเท็จจริงนายวิสิฐไม่ปฏิบัติตามระเบียบจริง เจ้าตัวก็ยอมรับ บอร์ดจึงให้เลิกจ้าง ซึ่งไม่ว่าจะเลิกจ้างหรือลาออก นายวิสิฐก็ไม่ได้แตกต่างกันในแง่สิทธิประโยชน์ เพราะไม่ได้อะไรอยู่แล้ว" นายสถิตย์กล่าว
ด้านนายสุจินดา สุขุม ผู้อำนวยการสำนักกฎหมาย กบข. กล่าวว่า ในการเรียกร้องความเสียหายจากนายวิสิฐจะทำได้ ก็ต่อเมื่อทางคณะกรรมการสอบสวนตรวจพบว่ามีความเสียหายเกิดขึ้น จากการกระทำของนายวิสิฐและต้องเป็นความเสียหายในรูปตัวเงิน ส่วนความเสียหายในด้านภาพลักษณ์นั้น ต้องให้ความเป็นธรรมกับนายวิสิฐว่าไม่ได้เกิดขึ้นจากนายวิสิฐคนเดียว แต่เกิดจากการที่คนอื่นให้ข่าว ทั้งนี้ หากทางคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตในภาครัฐ (ป.ป.ท.) จะส่งเรื่องให้สำนักงานป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ตรวจสอบ ก็สามารถทำได้ ซึ่งตามปกติ ป.ป.ช.สามารถชี้มูลได้ 2 ส่วนคือ ความผิดทางวินัยและอาญา แต่ความผิดทางวินัยถือว่าสิ้นสุดแล้ว หลังจากที่ได้เลิกจ้าง จึงเหลือความผิดอาญา ก็ต้องพิจารณาว่า นายวิสิฐทำผิดกฎหมายอะไร
"ที่ผ่านมา กบข.ให้ความร่วมมือกับ ป.ป.ท.มาโดยตลอด ข้อมูลการสอบสวนที่นำไปเปิดเผย กบข.ก็ส่งให้หมด แต่พอเอาไปพูด ก็หยิบไปพูดเพียงบางส่วน และสรุปก็ไม่เหมือนกับที่คณะกรรมการเฉพาะกิจชุดที่มีนายสมพล เกียรติไพบูลย์ เป็นประธานสรุป" นายสุจินดากล่าว
แหล่งข่าวจากบอร์ด กบข.แจ้งว่า การที่บอร์ดมีมติให้เลิกจ้าง เนื่องจากเห็นว่า การกระทำของนายวิสิฐ ที่ซื้อหุ้นโดยไม่แจ้ง และมีการซื้อหุ้นดักหน้าดักหลังการลงทุนของ กบข.นั้น ผิดจรรยาบรรณ และถือเป็นการทำผิดสัญญาจ้าง ที่ไม่ปฏิบัติตามระเบียบที่ตัวเองเป็นคนลงนามเอง จึงให้งดการจ่ายโบนัสสำหรับปี 2551 ด้วย นอกจากนี้ บอร์ดเห็นว่าการลาออกทั้งๆ ที่ผลการสอบสวนทางวินัยยังไม่ออกมานั้น ถือเป็นการชิงลาออก ที่ประชุมจึงมีมติเลิกจ้างแทน เพราะการลาออกไปเฉยๆ จะไม่มีความผิดติดตัว
ขณะที่นายธาริต เพ็งดิษฐ์ เลขาธิการ ป.ป.ท. กล่าวว่า ส่งหนังสือถึงนายวิสิฐ และประธานคณะบอร์ด กบข. เพื่อขอให้ชี้แจงข้อเท็จจริงเกี่ยวกับการบริหารจัดการและการลงทุนของ กบข. พร้อมทั้งให้จัดส่งเอกสารสำเนารายงานการประชุมของบอร์ด กบข.ตั้งแต่ปี 2540 จนถึงปัจจุบัน สำเนารายงานการประชุมของคณะอนุกรรมการการจัดการการลงทุน ตั้งแต่เดือนมกราคม 2545 ถึงธันวาคม 2551 สำเนาเอกสารเกี่ยวกับการกำหนดการลงทุนวิธีการลงทุน และวิธีตัดสินใจลงทุน และการติดตามประเมินผลการลงทุน หากพ้นระยะเวลาที่เหมาะสม กบข.โดยไม่ดำเนินการตามร้องขอ ป.ป.ท.คงต้องดำเนินการขั้นตอนอื่นต่อไป
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ประเด็นที่ ป.ป.ท. ขอให้นายวิสิฐชี้แจง ประกอบด้วย การฝ่าฝืนระเบียบปฏิบัติเกี่ยวกับการซื้อขายหลักทรัพย์ที่ต้องจำกัดการทำธุรกรรมว่า 1.กบข.มีเงื่อนไขและหลักเกณฑ์อย่างไรในการกำหนดให้หลักทรัพย์ตัวหนึ่งตัวใดเป็น Watch List และ Restricted List และมีหลักทรัพย์ตัวใดบ้างที่เป็น Watch List และ Restricted List พร้อมเอกสารหลักฐานที่เกี่ยวข้อง 2.มีผู้บริหาร พนักงานหรือผู้ใด เกี่ยวข้องกับกระบวนการกำหนดหลักเกณฑ์และเงื่อนไข รวมทั้งทราบว่าหลักทรัพย์ใดเป็นหลักทรัพย์ที่ถูกกำหนดให้อยู่ใน Watch List และ Restricted List พร้อมหลักฐานเอกสารที่เกี่ยวข้อง
3.มีกระบวนการและขั้นตอนในการตรวจสอบการฝ่าฝืนการทำธุรกรรมหลักทรัพย์ใน Watch List และ Restricted List อย่างไร และหน่วยงานใดเป็นผู้ตรวจสอบ 4.หากตรวจสอบพบว่ามีผู้บริหาร พนักงาน หรือบุคคลใดที่เป็น Pre-Clearing Employee ฝ่าฝืนระเบียบข้อบังคับของ กบข.มีการทำธุรกรรมหลักทรัพย์ใน Watch List และ Restricted List แล้ว มีขั้นตอนการแจ้งให้ทราบและกระบวนการลงโทษหรือไม่อย่างไร และที่ผ่านมามีการบังคับใช้บทลงโทษกับบุคคลที่ฝ่าฝืนหรือไม่ 5.กรณีของ เลขาฯ กบข.ที่ฝ่าฝืนทำการซื้อขายหลักทรัพย์ IRPC ที่เป็นหลักทรัพย์ใน Restricted List เมื่อตรวจสอบพบแล้วมีขั้นตอนการดำเนินการอย่างไร และมีผลดำเนินการอย่างไร 6.ยังมีกรณีผู้บริหาร พนักงาน หรือผู้ใดที่เคยฝ่าฝืนทำธุรกรรมหลักทรัพย์ที่อยู่ใน Watch List และ Restricted List อีกหรือไม่
นอกจากนี้ ป.ป.ท.ยังร้องขอให้นายวิสิฐชี้แจงประเด็นการซื้อขายหลักทรัพย์ของผู้บริหาร พนักงาน หรือผู้อื่นที่เข้าข่ายซื้อขายหลักทรัพย์ตัดหน้ากองทุน การซื้อขายหลักทรัพย์ในทิศทางตรงข้ามกับกองทุน และการกระทำที่อาจเข้าข่ายเป็นความผิดต่อกฎหมายว่าด้วยหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ อาทิ
1.ในการซื้อขายหลักทรัพย์และการรายงานการทำธุรกรรมของผู้บริหาร พนักงานที่เป็น Pre-Clearing Employee มีระเบียบปฏิบัติ หรือขั้นตอนการขออนุญาตและการรายงานอย่างไร 2.กบข.มีระบบการตรวจสอบการฝ่าฝืนหรือไม่ปฏิบัติตามระเบียบหรือไม่อย่างไร 3.มีกระบวนการและขั้นตอนการตรวจสอบผู้บริหาร พนักงาน ที่ฝ่าฝืนทำการซื้อขายหลักทรัพย์โดยไม่ขออนุญาตและไม่รายงานการทำธุรกรรมอย่างไร 4.มีขั้นตอนในการแจ้งให้ทราบหรือไม่หากตรวจสอบพบว่าผู้บริหาร หรือพนักงานฝ่าฝืนระเบียบปฏิบัติ และ 5.มีกระบวนการลงโทษอย่างไรและที่ผ่านมามีการลงโทษหรือไม่ นอกจากนี้ ยังขอคำชี้แจงในส่วนของการให้สัตยาบันการลงทุนในหลักทรัพย์ของบริษัทยานภัณฑ์