วิเคราะห์ 3 ทางเลือกวัดใจ "พรรคประชาธิปัตย์" ต้องเสี่ยงเดิน
การจับขั้วจัดตั้งรัฐบาลทวีความเข้มข้นมากขึ้น เมื่อประชาธิปัตย์ได้หัวหน้าพรรคคนใหม่เป็นทางการ และเห็นได้ว่าเนื้อหอมสุดๆ ทุกพรรคทุกฝ่ายต่างแสดงความยินดีกับ “จุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์” ไม่เว้นแม้เต่ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา หัวหน้า คสช. ที่เป็นแคนดิเดตนายกรัฐมนตรีของพลังประชารัฐ
เหลือเวลาอีกไม่กี่วันก็จะถึงวันเปิดประชุมสภา ประชาธิปัตย์จะเลือกเดินทางไหน เป็นสิ่งที่ทุกคนในสังคมอยากรู้ เพราะตอนนี้เหมือนมีอยู่ 3 ทางให้เลือกเดิน แต่ทุกเส้นทางที่เลือกล้วนตามมาด้วยความสูญเสียและเสียศูนย์อย่างแน่นอน จึงนับว่าเป็นงานใหญ่-งานยากของ “กัปตันอู๊ด” ที่จะประคับประคองเรือสีฟ้าลำนี้ฝ่ามรสุมไปให้ได้ หลังจากได้รับความเสียหายแสนสาหัสมาจากการเลือกตั้งครั้งที่ผ่านมา เพื่อให้พร้อมสำหรับการเป็นตัวเลือกที่ดีของประชาชนอีกครั้ง
ทางเลือกแรกของ “ค่ายสีฟ้า” หากขานรับไปร่วมกับพลังประชารัฐในทันที ตามเสียงเรียกร้องของกลุ่มอดีต กปปส. ในพรรค ก็อาจจะเสียฐานเสียงส่วนหนึ่งที่กาให้พรรคมา 3.9 ล้านเสียงในช่วงที่ผ่านมา เพราะต้องไม่ลืมว่าเสียงส่วนนี้คือคนที่เลือกประชาธิปัตย์ เพราะการไม่เอา “บิ๊กตู่” และการไม่เอาเพื่อไทย ตามที่ “อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ” อดีตผู้นำเคยประกาศไว้ ซึ่งถ้าไปอาจจะเสียแน่ๆ ส่วนหนึ่งของ 3.9 ล้านเสียง แต่อาจจะได้เสียงส่วนที่เคยหนุนประชาธิปัตย์และปันใจไปหาลุงกลับมาบ้าง ซึ่งอาจจะวินๆ
ทางเลือกที่ 2 หากยึดมั่นในแนวทางของอดีตหัวหน้าพรรค คือ ไม่เลือกข้างไหนเลย ยืนเด่นเป็นฝ่ายค้านอิสระ ก็จะได้ใจคน 3.9 ล้านเสียงที่เคยสนับสนุนว่ายึดหลักการ แถมยังอาจจะได้เพิ่มในโอกาสหน้า แต่ก็จะแลกมาด้วยการถูกโจมตีค่อนขอดกลับมาจากกลุ่มคนเคยรัก ที่ปันใจไปอยู่กับ “กำนันสุเทพ” ว่า ประชาธิปัตย์ไม่เอา “ลุงตู่” แต่ไปสมยอมเพื่อไทยหรืออนาคตใหม่ ก็จะเสียฐานเสียงอีกส่วนได้อีก ซึ่งเชื่อว่าประชาธิปัตย์จะต้องคิดหนัก แถมยังต้องประเมินสถานการณ์ว่า ถ้าเลือกแบบนี้ เลือกตั้งรอบหน้า “ค่ายสีฟ้า” ที่ต่ำร้อยอยู่แล้ว จะเหลือต่ำสิบหรือจะพุ่งเป็นเกินร้อย อันไหนจะมีโอกาสมากกว่ากัน
ขณะทางเลือกที่ 3 ยึดหลักการประชาธิปไตย ยึดอุดมการณ์พรรค ต่อต้านเผด็จการ ขจัดสืบทอดอำนาจ แล้วไปร่วมหัวจมท้ายกับฝั่งเพื่อไทยและอนาคตใหม่แบบเต็มตัว จัดการให้ คสช. พ้นทางไปก่อน แล้วค่อยมาสู้กันใหม่ในสนามเลือกตั้ง หากเลือกแบบนี้จะได้ใจคนฝั่งประชาธิปไตยกลับคืนแค่ไหน ภาพลักษณ์ของพรรคที่เคยถูกปรามาสมานานว่าอิงแอบเผด็จการ ก็อาจจะถูกลบไปบ้าง แต่ก็อาจจะสูญเสียฐานเสียงคนหัวใจสีฟ้าที่ไม่เอา “ทักษิณ” ไปอีกเช่นกัน
ดังนั้น การตัดสินใจของประชาธิปัตย์ภายใน 5-6 วันนี้ ที่มี 3 ทางเลือก จึงเป็นการตัดสินใจเพื่ออนาคตในภายภาคหน้าของพรรคทั้งสิ้น จะเลือกทางไหนที่สูญเสียน้อยที่สุด และได้ผลประโยชน์ ได้ใจคนกลับมามากที่สุด ซึ่งเชื่อว่าคนที่ชื่อ “จุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์” ศิษย์ “ชวน หลีกภัย” คงต้องคิดหนัก และคงต้องทำงานอย่างหนักเพื่อให้ได้คำตอบที่โดนใจสังคม พลิกชะตาพรรคจากที่เสียเปรียบเกือบจะต่ำตม ให้ดูเป็นตัวเอก-เป็นตัวหลัก ที่ประชาชนไว้วางใจได้อีกครั้ง
>> ลูกพรรคประชาธิปัตย์ โหวตเสนอ "หัวหน้าจุรินทร์" ร่วมรัฐบาลประยุทธ์
>> แหล่งข่าวเผย ประชาธิปัตย์ไม่ร่วมรัฐบาลพลังประชารัฐ ถ้า "จุรินทร์" เป็นหัวหน้าพรรค
>> จุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ ผงาดหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์คนใหม่ จับตาร่วมฝ่ายไหนตั้งรัฐบาล
>> เปิดประวัติ "จุรินทร์" คนที่จะนำพา "ประชาธิปัตย์" บนสมรภูมิการเมือง