เปิดประมวลกฎหมายอาญาฉบับแก้ไข คดี "ข่มขืน" เพิ่มโทษหนักยิ่งขึ้น
โซเชียลแห่อ่านประมวลกฎหมายอาญาฉบับแก้ไขใหม่ บัญญัติเพิ่มโทษคดีข่มขืนกระทำชำเราให้หนักยิ่งขึ้น และลงรายละเอียดที่ชัดเจนมากขึ้น
(28 พ.ค.) ผู้สื่อข่าวรายงานว่า โลกโซเชียลมีเดียกำลังให้ความสนใจ ประมวลกฎหมายอาญาที่เฟซบุ๊กแฟนเพจ "สื่อศาล" สำนักงานศาลยุติธรรม ได้นำมาอธิบายถึงพระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายอาญา (ฉบับที่ 27) พ.ศ. 2562 ประกาศในราชกิจจานุเบกษาแล้ว โดยมีสาระสำคัญเกี่ยวกับการเพิ่มโทษในคดีข่มขืนกระทำชำเรา ที่ทำให้สังคมสนใจเป็นอย่างมาก ซึ่งอธิบายได้ดังนี้...
1. กำหนดนิยามคำว่า "ข่มขืนกระทำชำเรา" เสียใหม่ โดยตั้งเป็นมาตรา 1(18) และยกเลิกบทนิยามเดิมตามมาตรา 276 วรรคสอง และมาตรา 277 วรรคสอง
มาตรา 1(18) "กระทำชำเรา” หมายความว่า กระทำเพื่อสนองความใคร่ของผู้กระทำ โดยการใช้อวัยวะเพศของผู้กระทำล่วงล้ำอวัยวะเพศ ทวารหนัก หรือช่องปากของผู้อื่น
จากการเปลี่ยนแปลงข้างต้น ส่งผลทำให้การใช้วัตถุอื่นใดกระทำกับอวัยวะเพศของผู้อื่น ไม่เป็นการข่มขืนกระทำชำเราอีกต่อไป แต่จะถือเป็นอนาจารที่มีโทษเทียบเท่าการข่มขืนกระทำชำเราแทน ตามมาตรา 278 วรรคสอง และมาตรา 279 วรรคสี่ ที่ได้แก้ไขใหม่
2. เพิ่มมาตรา 280/1 กำหนดบทเพิ่มโทษ 1 ใน 3 กรณีการข่มขืนกระทำชำเราหรือกระทำอนาจาร ที่ได้บันทึกภาพหรือเสียงไว้ เพื่อแสวงหาประโยชน์โดยมิชอบสำหรับตนเองหรือผู้อื่น และถ้าหากส่งต่อภาพหรือเสียงนั้น ก็จะต้องบทเพิ่มโทษถึงกึ่งหนึ่ง
3. แก้ไขมาตรา 281 เกี่ยวกับ การยอมความ ในความผิดฐานข่มขืนกระทำชำเรา โดยกำหนดใหม่ว่า
1) ถ้าเป็นกรณีข่มขืนกระทำชำเราตามมาตรา 276 วรรคหนึ่ง หรืออนาจารที่เทียบเท่าข่มขืน ตามมาตรา 278 วรรคสอง ต้องเป็นการกระทำระหว่างคู่สมรส (ดังนั้น ข่มขืนบุคคลที่ไม่ใช่คู่สมรสจึงยอมความไม่ได้) และนอกจากนี้ ต้องเข้าเงื่อนไขอย่างใดอย่างหนึ่ง คือ ไม่เกิดต่อหน้าธารกำนัล หรือไม่เป็นเหตุให้ผู้ถูกกระทำรับอันตรายสาหัสหรือถึงแก่ความตาย
2) ถ้าเป็นกรณีกระทำอนาจารตามมาตรา 278 วรรคหนึ่ง ต้องไม่เกิดต่อหน้าธารกำนัล หรือไม่เป็นเหตุให้ผู้ถูกกระทำรับอันตรายสาหัสหรือถึงแก่ความตาย หรือเป็นการกระทำต่อบุคคลที่ต้องได้รับการปกป้องตามมาตรา 285 หรือมาตรา 285/2
4. แก้ไขมาตรา 285 และเพิ่มมาตรา 285/2 กำหนดบทเพิ่มโทษสำหรับการกระทำความผิดฐานข่มขืนกระทำชำเราต่อบุคคลที่ต้องได้รับการปกป้องเป็นพิเศษ
5. แก้ไขมาตรา 286 กำหนดฐานความผิดเกี่ยวกับการดำรงชีพจากการค้าประเวณีเสียใหม่
6. แก้ไขมาตรา 366/1 เรื่องการสนองความใคร่ของตน โดยการใช้อวัยวะเพศของตนล่วงล้ำอวัยวะเพศ ทวารหนัก หรือช่องปากของศพ โดยไม่ใช้คำว่า กระทำชำเรา ตามมาตรา 1(18) เพราะคำว่า "ผู้อื่น" แสดงว่าต้องยังมีชีวิตอยู่