โซเชียลอึ้ง! สิงคโปร์ให้ใบสั่งปรับ 7,000 บาท ดีดหนังยาง 2 เส้นลงถนน
โซเชียลมีเดียเปิดประเด็นถกเถียง สิงคโปร์ร่อนใบสั่งปรับ 7,000 บาท เพราะดีดหนังยาง 2 เส้นลงถนน เท่ากับทิ้งขยะไม่เป็นที่เป็นทาง
สำนักข่าวต่างประเทศรายงานว่า โลกโซเชียลมีเดียสิงคโปร์กำลังวิพากษ์วิจารณ์ปมค่าปรับ 300 ดอลลาร์สิงคโปร์ หลังจากที่มีผู้นำเอาภาพใบสั่งปรับมาแชร์ เนื่องจากความผิดฐานดีดหนังยาง 2 เส้นลงไปบนพื้นถนนสาธารณะ กลายเป็นประเด็นถกเถียงเป็นอย่างมาก
ใบสั่งค่าปรับดังกล่าวดำเนินการโดยสำนักงานสิ่งแวดล้อมแห่งชาติสิงคโปร์ เนื่องจากชาวสิงคโปร์รายนี้ได้ทำการยิงหนังยาง 2 เส้น ออกไปบนถนนสาธารณะ ทำให้ถูกดำเนินการฐานทิ้งขยะไม่เป็นที่เป็นทางในที่สาธารณะ พร้อมกับค่าปรับ 300 ดอลลาร์สิงคโปร์ หรือเกือบ 7,000 บาท
ประเด็นนี้ชาวสิงคโปร์ต่างออกมาแสดงความคิดเห็นและถกเถียงกันเป็นอย่างมาก หลายส่วนเห็นด้วยกับใบสั่งและค่าปรับที่เกิดขึ้น เพราะเป็นพฤติกรรมไร้วินัยและทิ้งขยะไม่ถูกที่เอง ขณะที่บางส่วนมองว่าเป็นค่าปรับที่เกินกว่าเหตุ เพราะขยะทั้ง 2 ชิ้น เป็นเพียงหนังยางเส้นเล็กๆ เท่านั้น เทียบเท่ากับค่าปรับที่เยอะเกินไป
ล่าสุด สำนักงานสิงแวดล้อมแห่งชาติสิงคโปร์ ได้ออกมาชี้แจงถึงประเด็นดังกล่าว โดยระบุว่าใบสั่งที่มีการเผยแพร่อยู่นั้น ใบหนึ่งเป็นค่าปรับฐานทิ้งหนังยางในที่สาธารณะ โดยมีเจ้าหน้าที่สิ่งแวดล้อมสังเกตเห็นพฤติกรรมอย่างชัดเจนว่าเขาทำการดีดหนังยางออกมาจากรถ
ส่วนอีกใบเป็นค่าปรับฐานทิ้งกระป๋องเครื่องดื่มไม่ถูกที่ บริเวณสถานีรถไฟใต้ดิน วูดแลนด์ โดยเจ้าหน้าที่เห็นพฤติกรรมพอดี และสั่งปรับชายทั้ง 2 คน เป็นจำนวนเงิน 300 ดอลลาร์สิงคโปร์ และได้มีการดำเนินการเสียค่าปรับเข้าระบบเป็นที่เรียบร้อยแล้ว
ทั้งนี้ สำนักงานสิ่งแวดล้อมฯ ยังได้เน้นว่า การทิ้งขยะไม่เป็นเป็นทางในสิงคโปร์ถือเป็นความผิดทางกฎหมาย และเข้าข่ายไม่มีความรับผิดชอบต่อสังคมส่วนรวม จำเป็นต้องออกใบสั่งค่าปรับ เพื่อกระตุ้นให้ผู้คนมีจิตสำนักในการรักษาสิ่งแวดล้อมอย่างเข้มงวด
สิงคโปร์เป็นหนึ่งในประเทศที่เข้มงวดด้านทางสิ่งแวดล้อมเป็นอย่างมาก มีการบัญญัติกฎหมายสาธารณสุขด้านสิ่งแวดล้อมอย่างเป็นทางการ โดยระบุว่า ผู้กระทำผิดทิ้งขยะในที่ต้องห้ามเป็นครั้งแรก จะมีโทษปรับอย่างต่ำ 300 ดอลลาร์สิงคโปร์ และหากมีครั้งต่อไปจะต้องโทษสูงสุด ปรับไม่เกิน 2,000 ดอลลาร์สิงคโปร์ หากยังผิดซ้ำอยู่จะเพิ่มค่าปรับเป็น 4,000 และ 10,000 ดอลลาร์สิงคโปร์ตามลำดับ
ทั้งนี้ จากสถิติของสำนักงานสิ่งแวดล้อมแห่งชาติสิงคโปร์ พบว่า เมื่อปี 2018 มีผู้ต้องโทษจำปรับกรณีนี้ถึง 39,000 ราย เป็นอัตราที่เพิ่มสูงขึ้นเรื่อยๆ