กพฐ.ยืนยัน ไม่ยุบโรงเรียนห่างไกล เล็งหนุนเพิ่มงบสร้างโรงนอนให้เด็ก

กพฐ.ยืนยัน ไม่ยุบโรงเรียนห่างไกล เล็งหนุนเพิ่มงบสร้างโรงนอนให้เด็ก

กพฐ.ยืนยัน ไม่ยุบโรงเรียนห่างไกล เล็งหนุนเพิ่มงบสร้างโรงนอนให้เด็ก
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

ประธาน กพฐ.เดินหน้ายุบโรงเรียนเล็กตามเป้า 15,000 แห่งในเขตพื้นที่การศึกษา เว้นพื้นที่ห่างไกลทุรกันดาร เล็งเพิ่มงบประมาณสร้างโรงนอนให้เด็กกินนอนที่โรงเรียน เสาร์-อาทิตย์กลับบ้าน

ความคืบหน้ากรณีคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (กพฐ.) มีมติยุบโรงเรียนขนาดเล็กจำนวน 15,000 แห่งนั้น ล่าสุด รศ.ดร.เอกชัย กี่สุขพันธ์ ประธานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน หรือ กพฐ. ระบุว่า แนวคิดยุบโรงเรียนขนาดเล็ก มีการคิดมากกว่า 30 ปี แต่ยังไม่มีการดำเนินการ อย่างไรก็ดี มีการศึกษาข้อมูลจากธนาคารโลกที่ได้ทำการศึกษาวิจัยโรงเรียนขนาดเล็ก พบปัญหาการใช้งบประมาณไม่สอดคล้องกับคุณภาพเด็ก

"ยืนยันว่าไม่มีการยุบโรงเรียนขนาดเล็กตามถิ่นทุรกันดารห่างไกล แต่อาจต้องเพิ่มงบประมาณสร้างโรงนอนให้เด็กกินนอนที่โรงเรียน เสาร์-อาทิตย์กลับบ้าน" ประธาน กพฐ. กล่าวยืนยัน

>> ครูขอเป็นเสียงให้เด็กๆ วอนทบทวนแนวคิด "ยุบโรงเรียนเล็ก" ทั่วไทย

รศ.ดร.เอกชัย กล่าวต่อว่า ส่วนแนวคิดการยุบโรงเรียนขนาดเล็กนั้น มีข้อมูลมาจากกระทรวงศึกษาธิการเมื่อปีที่แล้วที่ระบุว่า ประเทศมีโรงเรียนขนาดเล็กประมาณ 18,000 แห่ง หรือคิดเป็นประมาณ 50% ของโรงเรียนทั้งหมดทั่วประเทศ โดยมีนักเรียนต่ำกว่า 120 คน สำหรับโรงเรียนบนเกาะ หรือ ชายขอบ หรือถิ่นทุรกันดารห่างไกล ซึ่งจำเป็นต้องมีอยู่ ไม่อยู่ในโรงเรียนเป้าหมาย 15,000 แห่ง

ทั้งนี้ สำหรับปัจจัยที่จะทำให้ยุบควบโรงเรียน เนื่องจากบางโรงเรียนประสบปัญหาเด็กนักเรียนลดลงทุกปี ครูน้อยลง เนื่องจากการเดินทางสะดวกขึ้น ทำให้ผู้ปกครองส่งบุตรหลานไปเรียนยังโรงเรียนหลัก เขตพื้นที่การศึกษาก็ต้องเข้าไปพิจารณาว่า สามารถยุบได้หรือไม่ และเด็กนักเรียนสามารถเดินทางไปเรียนที่โรงเรียนใกล้เคียงโดยไม่เดือดร้อนมากนัก โดยตั้งระยะทางการเดินทางไปโรงเรียนประมาณ 30 นาที

"หากมีการยุบโรงเรียน ซึ่ง สพฐ.มีงบประมาณในการจัดสรรเรื่องค่าเดินทางอยู่แล้ว ย้ำว่า การยุบควบโรงเรียน เพื่อที่จะได้พัฒนาคุณภาพของเด็กนักเรียนได้ครอบคลุมและตรงกลุ่มเป้าหมาย หากสามารถยุบโรงเรียนใดได้แล้ว อาจนำสถานที่ไปให้ กศน. ใช้ หรือ อบต. ใช้เป็นศูนย์กลางพัฒนาคุณภาพชีวิตหรือส่งเสริมอาชีพชุมชน ชาวบ้านในชุมชนก็จะมีคุณภาพชีวิตดีขึ้น ซึ่งอำนาจการยุบเลิกโรงเรียนเป็นของเขตพื้นที่และศึกษาธิการจังหวัดที่จะเข้าไปเก็บข้อมูลและพิจารณา" ประธาน กพฐ. กล่าว

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook