นักวิชาการเคมบริดจ์ชี้ สหรัฐฯ โจมตีจีน เพราะวิตกกังวลต่อความก้าวหน้า

นักวิชาการเคมบริดจ์ชี้ สหรัฐฯ โจมตีจีน เพราะวิตกกังวลต่อความก้าวหน้า

นักวิชาการเคมบริดจ์ชี้ สหรัฐฯ โจมตีจีน เพราะวิตกกังวลต่อความก้าวหน้า
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

สำนักข่าวซินหัวรายงาน ผู้เชี่ยวชาญจากมหาวิทยาลัยเคมบริดจ์กล่าวว่า สหรัฐอเมริกากำลังวิตกกังวลต่อความก้าวหน้าของจีน รวมถึงเสนอว่าสหรัฐฯ มีแรงจูงใจอยู่ลึกๆ ในการโจมตีการนำเข้าสินค้าจากจีนและบริษัทเทคโนโลยีขั้นสูงของจีน

“ผมไม่เห็นด้วยกับจุดยืนของสหรัฐฯ ร้อยเปอร์เซ็นต์เลย” ศาสตราจารย์อลัน บาร์เรลล์ (Alan Barrell) ให้สัมภาษณ์กับสำนักข่าวซินหัวขณะกล่าวถึงความตึงเครียดทางการค้าระหว่างสหรัฐฯ กับจีน ซึ่งทางสหรัฐฯ เป็นฝ่ายเริ่มขึ้นเมื่อปีที่ผ่านมาด้วยการขึ้นภาษีสินค้านำเข้าจากจีน

“ผมไม่เห็นด้วยกับสงครามการค้า และพวกเขาไม่มีทางชนะได้เลย ผมเชื่ออย่างนั้นจริงๆ” เขากล่าว

ขณะเดียวกันเขากล่าวด้วยว่า เขาไม่เชื่อว่าความตึงเครียดระหว่างสหรัฐฯ กับจีนเป็นเพียงเรื่องการค้าเท่านั้น โดยเสนอว่า “ประเด็นปัญหาต่างๆ มันใหญ่กว่านั้น ทั้งหมดเป็นเรื่องของภูมิรัฐศาสตร์”

บาร์เรลล์ชี้ว่า สิ่งที่เร้าให้สหรัฐฯ คว่ำบาตรบริษัทโทรคมนาคมยักษ์ใหญ่อย่างหัวเว่ยและบริษัทเทคโนโลยีขั้นสูงบริษัทอื่นของจีนนั้นมีอะไรมากกว่าแค่เรื่องความกังวลว่าจะถูกขโมยข้อมูลตามที่อ้างกัน

“ในโลกของโทรคมนาคม ข้อกล่าวอ้างจริงๆ มันไม่ใช่ว่าเทคโนโลยีของหัวเว่ยจะใช้ ‘บักส์’ ที่เป็นภัยต่อผลประโยชน์ของตะวันตกหรือไม่ แต่มันคือความเหนือกว่าของหัวเว่ยในเรื่อง 5G และเทคโนโลยีอื่นๆ รวมถึงความหวาดกลัวที่ตนเองได้กลายเป็นเบอร์ 2 หรือเบอร์ 3 ไปเรียบร้อยแล้วสำหรับการเป็นผู้นำด้านการพัฒนาเทคโนโลยี” บาร์เรลล์กล่าว

>> สื่อทางการยุจีน ใช้ “แร่หายาก” ต่อกรสหรัฐฯ สู้สงครามการค้า

เขาเสริมว่า “ประเด็นเรื่องความปลอดภัยทางไซเบอร์ไปไกลกว่าที่จะเป็นเรื่องแค่ว่าใครผลิตและจำหน่ายฮาร์ดแวร์” เพราะขณะที่จีนเริ่มผงาดขึ้นในเวทีการค้า เทคโนโลยี และเศรษฐกิจ ประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ของสหรัฐฯ ก็เน้นย้ำเรื่อง “อเมริกามาก่อน” (American First) และสนับสนุนให้คนในประเทศหันเข้าหาชาติตัวเองมากขึ้น

“การเติบโตของจีนทำให้สหรัฐฯ วิตกกังวลอย่างมาก ทรัมป์กับสหรัฐฯ จึงพยายามชักจูงให้โลกตะวันตกที่เหลือต่อต้านจีนไปด้วย” 

บาร์เรลเน้นย้ำว่า โลกใบนี้ควรจะมี “โอกาสที่มากพอสำหรับทุกคนในการทำงานร่วมกันเพื่อให้เกิดประโยชน์ต่อทุกคน” เขาจึงเศร้าใจกับสิ่งที่สหรัฐฯ ทำกับจีนและหัวเว่ย

“นี่เป็นช่วงเวลาที่ยากลำบากช่วงเวลาหนึ่งในประวัติศาสตร์เลย” ด้วยการที่นักการเมืองบางกลุ่มหลีกไปยึดมั่นกับสิ่งที่ตัวเองเชื่อ

“ตอนนี้ประชากรของโลกทั้งตะวันตกและตะวันออกกำลังตกเป็นตัวประกัน” บาร์เรลเสริม “ประเด็นที่แท้จริงมันคือเรื่องของ ‘ภูมิรัฐศาสตร์’ และความก้าวหน้าของจีนในฐานะผู้นำเศรษฐกิจ เทคโนโลยี และวิทยาศาสตร์ในอนาคต”

>> ทรัมป์เดือดสุดขีด เซ็นออกกฎหมาย สั่งบริษัทมะกันห้ามใช้ "หัวเว่ย"

>> “หนึ่งแถบหนึ่งเส้นทาง” ของจีน กับการพัฒนาจนผลิดอกออกผลสำเร็จ

บาร์เรลล์กล่าวถึงแผนริเริ่มหนึ่งแถบ หนึ่งเส้นทาง (Belt and Road Initiative) ที่จีนเสนอ ว่าเป็นตัวอย่างหนึ่งที่ “เป็นเหตุว่าทำไมนโยบายที่กล้าหาญเช่นนี้ถึงโดนมองอย่างเหยียดหยามในตะวันตก ความกลัวและความกังวลว่าจะสูญเสียการควบคุมและผลประโยชน์น่าจะเกี่ยวข้องอย่างยิ่งกับทัศนคติเช่นนั้น”

บาร์เรลล์ยังชื่นชมความพยายามของประเทศในเอเชียที่ต้องการสนับสนุนความร่วมมือกันในระดับโลก “จากแถลงการณ์สาธารณะหลายที่ที่จีนเสนอตัวเป็นผู้นำในปฏิบัติการ จีนดูจริงใจที่จะเป็นผู้นำในกระบวนการความร่วมมือระหว่างประเทศและทั่วโลก”

นอกจากนี้ ทางเคมบริดจ์ยังได้รับการลงทุนและการสนับสนุนจำนวนมากจากหัวเหวย “พวกเขามีสำนักงานใหญ่ของยุโรปหลายที่สำหรับวิจัยและพัฒนาอยู่แล้วในเคมบริดจ์ ซึ่งเป็นเมืองแห่งการวิจัยและพัฒนาของยุโรป และพวกเขาเพิ่งจะประกาศว่าเพิ่งซื้อที่ดินสร้างโรงงานใหม่ที่นี่อีกด้วย” เขากล่าว โดยเสริมว่าทางเคมบริดจ์ยินดีอย่างยิ่ง เพราะความร่วมมือและนวัตกรรมที่เปิดกว้างคือหลักสำคัญของที่นี่

เขาเน้นย้ำว่า “ประเทศอื่นก็มีมุมมองที่ต่างกันไป” ต่อการพัฒนาของจีน บาร์เรลล์จึงกระตุ้นให้คนทั่วโลกเลือก โดยกล่าวว่า “เรามั่นใจได้ว่าสมดุลอำนาจระหว่างตะวันออกกับตะวันตกจะไม่กลับไปเป็นอย่างในประวัติศาสตร์ ท้ายที่สุดแล้วเราจะกลายเป็น ‘โลกเดียว’ หรือว่าจะหันหลังเป็นศัตรูกัน คนทั้งโลกต้องเป็นคนเลือก”

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook