คดีหวย 30 ล้าน: ยกฟ้องลุงจรูญ ครูปรีชามีหนาว! หลังคำพิพากษาชี้ไม่ได้ซื้อหวยแต่แรก
มหากาพย์คดีหวย 30 ล้าน ดูเหมือนจะคลี่คลายไประดับหนึ่งแล้ว เมื่อล่าสุดวันนี้ (4 มิ.ย.) ศาลจังหวัดกาญจนบุรีตัดสินยกฟ้องคดีที่ครูปรีชาฟ้องหมวดจรูญในคดีอาญาข้อหายักยกทรัพย์และรับของโจร
>> คดีหวย 30 ล้าน: ทนายษิทรา ประกาศชัยชนะเหนือ ครูปรีชา หลังศาลยกฟ้องยักยอกทรัพย์
ทั้งนี้ ในคำพิพากษาดังกล่าวเปิดเผยว่า คดีมีปัญหาต้องวินิจฉัยว่า จำเลยกระทำความผิดตามฟ้องหรือไม่ คดีนี้โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยในข้อหายักยอกสลากกินแบ่งรัฐบาลชุดที่ถูกรางวัลที่หนึ่งซึ่งโจทก์ทำหายหรือรับสลากกินแบ่งรัฐบาลดังกล่าวโดยรู้อยู่แล้วว่าเป็นทรัพย์สินที่ได้มาโดยการกระทำความผิดฐานยักยอกทรัพย์สินหาย จึงต้องวินิจฉัยก่อนว่า สลากกินแบ่งรัฐบาลชุดที่ถูกรางวัลที่หนึ่งเป็นทรัพย์สินของโจทก์ที่ทำหายซึ่งเป็นข้อเท็จจริงอันเป็นองค์ประกอบภายนอกสำหรับความผิดตามฟ้องหรือไม่
ศาลพิเคราะห์พยานหลักฐานที่โจทก์นำสืบมาทั้งหมดแล้วเห็นได้ว่าพยานหลักฐานที่โจทก์นำสืบเกี่ยวกับการซื้อสลากกินแบ่งรัฐบาลชุดที่ถูกรางวัลที่หนึ่งดังกล่าวคงมีเพียงพยานบุคคลที่อ้างว่าเป็นประจักษ์พยานมาเบิกความยืนยันข้อเท็จจริงเกี่ยวกับการซื้อขายเท่านั้น แต่ไม่มีพยานหลักฐานอื่นมาสนับสนุนคำเบิกความของพยานบุคคล อีกทั้งคำเบิกความของพยานบุคคลดังกล่าวก็มีข้อพิรุธและขัดแย้งกันเองในหลายประการ ทั้งเรื่องความสามารถของพยานแต่ละคนในการจดจำเลขสลากกินแบ่งรัฐบาล การโทรศัพท์ติดต่อนัดหมายไปรับสลากกินแบ่งรัฐบาลระหว่างโจทก์กับนางสาวรัตนาพร การแจ้งความหลังทราบผลการออกรางวัลและที่สำคัญคำเบิกความของพยานบุคคลที่โจทก์นำสืบล้วนขัดแย้งกับข้อมูลการใช้โทรศัพท์เคลื่อนที่และพื้นที่การใช้งานโทรศัพท์เคลื่อนที่ของโจทก์ในวันที่ ๓๑ ตุลาคม ๒๕๖๐
เมื่อพิจารณาประกอบกับพยานหลักฐานทางวิทยาศาสตร์ที่จำเลยนำสืบหักล้างแล้ว ข้อเท็จจริงฟังได้ว่า โจทก์ไปซื้อสลากกินแบ่งรัฐบาลจากนางสาวรัตนาพรที่ตลาดเรดซิตี้ในวันศุกร์ที่ ๒๗ ตุลาคม ๒๕๖๐ โดยไม่ได้เดินทางไปตลาดเรดซิตี้ในวันที่ ๓๑ ตุลาคม ๒๕๖๐ แต่โจทก์กลับใช้วิธีนำสืบโดยหยิบยกเอาเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในวันที่ ๒๗ ตุลาคม ๒๕๖๐ มากล่าวอ้างว่าเป็นเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในวันที่ ๓๑ ตุลาคม ๒๕๖๐
เมื่อปรากฏว่าสลากกินแบ่งรัฐบาลชุดที่ถูกรางวัลที่หนึ่งยังวางขายอยู่บนแผงขายสลากกินแบ่งรัฐบาลของนางสาวพัชริดาในวันที่ ๓๐ ตุลาคม ๒๕๖๐ แต่โจทก์ไปซื้อสลากกินแบ่งรัฐบาลจากนางสาวรัตนาพรในวันที่ ๒๗ ตุลาคม ๒๕๖๐ แสดงว่าสลากกินแบ่งรัฐบาลที่โจทก์ซื้อไปจากนางสาวรัตนาพรไม่ใช่สลากกินแบ่งรัฐบาลชุดที่ถูกรางวัลที่หนึ่ง
แต่เมื่อทราบผลการออกรางวัลสลากกินแบ่งรัฐบาล งวดประจำวันที่ ๑ พฤศจิกายน ๒๕๖๐ นางสาวรัตนาพรเห็นภาพถ่ายสลากกินแบ่งรัฐบาลบนแผงขายของนางสาวพัชริดา ซึ่งนางสาวพัชริดาถ่ายรูปไว้เมื่อวันที่ ๓๐ ตุลาคม ๒๕๖๐ ปรากฏภาพสลากกินแบ่งรัฐบาลเลข ๕๓๓๗๒๖ อยู่บนแผง นางสาวรัตนาพรจึงคิดว่าตนเองซื้อสลากกินแบ่งรัฐบาลชุดดังกล่าวไปจากนางสาวพัชริดาแล้วนำไปขายต่อให้โจทก์ นางสาวรัตนาพรจึงไปบอกโจทก์ว่าถูกรางวัลที่หนึ่ง ในครั้งแรกโจทก์ก็ยืนยันว่าสลากกินแบ่งรัฐบาลที่โจทก์มีเลขสามตัวหน้าไม่ตรงกับรางวัลที่หนึ่ง แต่เมื่อนางสาวรัตนาพรพูดย้ำหลายครั้งว่าโจทก์ถูกรางวัลที่หนึ่ง ทำให้โจทก์เริ่มลังเลจนในที่สุดก็เข้าใจไปด้วยอีกคนว่าตนได้ซื้อสลากกินแบ่งรัฐบาลชุดที่ถูกรางวัลที่หนึ่งตามที่นางสาวรัตนาพรบอก
แม้ว่าขณะนั้นโจทก์จะไม่มีสลากกินแบ่งรัฐบาลชุดที่ถูกรางวัลที่หนึ่งอยู่ในครอบครอง จนกลายเป็นที่มาของการไปแจ้งความว่าโจทก์ทำสลากกินแบ่งรัฐบาลชุดที่ถูกรางวัลที่หนึ่งตกหาย ทั้งๆ ที่ในความเป็นจริงแล้วโจทก์ไม่ได้ซื้อกินสลากแบ่งรัฐบาลชุดดังกล่าวมาตั้งแต่แรก เมื่อคดีอาญาโจทก์มีหน้าที่นำสืบให้ได้ความว่า มีการกระทำความผิดตามฟ้องเกิดขึ้นจริง แต่พยานหลักฐานที่โจทก์นำสืบล้วนแต่มีข้อพิรุธน่าสงสัยและขัดแย้งกับพยานหลักฐานทางวิทยาศาสตร์ในหลายประการตามที่กล่าวมา ข้อเท็จจริงรับฟังไม่ได้ว่าโจทก์ซื้อสลากกินแบ่งรัฐบาลชุดที่ถูกรางวัลที่หนึ่งมาจากนางสาวรัตนาพร สลากกินแบ่งรัฐบาลที่จำเลยนำไปขอรับเงินรางวัลไม่ใช่ทรัพย์สินของโจทก์ โจทก์จึงไม่ใช่ผู้เสียหาย ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา ๒ (๔) โจทก์ไม่มีอำนาจฟ้องจำเลย
พิพากษายกฟ้อง