“สุดารัตน์” ลั่น 7 พรรคร่วมปกป้องประชาธิปไตยจนถึงที่สุด แต่ถูกโกงตลอดเกม
วานนี้ (5 มิ.ย. 62) หลังจากการประชุมรัฐสภาครั้งที่ 1 (สมัยสามัญประจำปีครั้งที่หนึ่ง) ซึ่งมีระเบียบวาระการประชุมที่สำคัญคือการลงคะแนนเสียงเลือกนายกรัฐมนตรี ที่เริ่มการประชุมมาตั้งแต่ช่วงสายๆ ราว 11:00 น.
ซึ่งผลการลงคะแนนปรากฏว่า พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ได้รับเสียงโหวตจากสมาชิกรัฐสภาส่วนใหญ่ด้วยคะแนนเสียงเกินกึ่งหนึ่งของสมาชิกรัฐสภาหรือเกิน 376 เสียง เห็นชอบให้กลับมาดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีอีกครั้ง
ต่อมา คุณหญิงสุดารัตน์ เกยุราพันธ์ ประธานยุทธศาสตร์การเลือกตั้งพรรคเพื่อไทย และแคนดิเดตนายกฯ พรรคเพื่อไทย โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊ก “คุณหญิงสุดารัตน์ เกยุราพันธุ์ Sudarat Keyuraphan” ว่า “7 พรรคการเมือง ร่วมปกป้องประชาธิปไตยจนถึงที่สุด”
#ทีมเพื่อไทย ทุกคนกำลังใจเต็มเปี่ยม พลังงานเหลือล้น ทำการบ้านกันข้ามคืน เพื่อตั้งใจอภิปรายให้สมาชิกสภาและประชาชนเห็นถึงความไม่เหมาะสมของแคนดิเดตนายกรัฐมนตรีจากพรรคพลังประชารัฐ
ประการแรก ส.ส.เพื่อไทย เปิดประเด็นให้เห็นว่า พลเอกประยุทธ์ มีลักษณะต้องห้ามดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 160 (6) 98 (15) เนื่องจากเป็น “เจ้าหน้าที่อื่นของรัฐ”
ในข้อนี้ ส.ส.ของเรายกหลักฐานชัดเจนว่า ศาลอุทธรณ์และศาลฎีกา ได้เคยพิพากษาว่าหัวหน้า คสช. คือ “เจ้าพนักงาน” ซึ่งหมายความว่าเป็น “เจ้าหน้าที่ของรัฐ” ซึ่งเป็นหลักฐานว่า พล.อ. ประยุทธ์ ไม่สามารถเป็นนายกฯ ได้ตามคุณลักษณะต้องห้ามที่ รัฐธรรมนูญ มาตรา 160(6) กำหนดไว้
ประการต่อมา ส.ส.เพื่อไทย เปิดประเด็นให้เห็นว่า พลเอกประยุทธ์ ขัดต่อมาตรฐานจริยธรรมข้อ 5 ที่ระบุว่า “ต้องยึดมั่นและธำรงไว้ซึ่งการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย”
เหมือนที่ ส.ส.สุทิน คลังแสง จากมหาสารคาม ยกตัวอย่างชัดเจนว่า “รัฐธรรมนูญระบุชัดเจนว่าการล้มล้างรัฐธรรมนูญเป็นกบฏ ท่านทำผิดข้อนี้ แต่ไปนิรโทษกรรมตัวเอง ในการนิรโทษกรรมเพียงแค่ไม่เอาผิด แต่ความผิดนั้นยังคงอยู่ ท่านยังได้ชื่อว่าเป็นหัวหน้ากบฏ ถ้าเลือกพลเอกประยุทธ์มาเป็นนายกรัฐมนตรีอีก เปรียบเสมือนการเอาโจรมาใส่ชุดตำรวจ”
ประการที่สาม พลเอกประยุทธ์ ขัดต่อมาตรฐานจริยธรรมข้อ 7 ที่ระบุว่า “ต้องถือประโยชน์ของประเทศชาติเหนือกว่าผลประโยชน์ตนเอง” และขัดต่อข้อ 11 ที่ระบุว่า “ไม่กระทำการอันเป็นการขัดกันระหว่างผลประโยชน์ส่วนตนกับประโยชน์ส่วนรวม” กรณีตัวอย่างที่ชัดที่สุด คือที่มา และกระบวนการคัดเลือก 250 ส.ว.ซึ่งสาธารณชนจดจำเรียกขานกันว่า #สวเอื้อพวกพ้อง และ 250 ส.ว.ที่ไม่ได้มาจากประชาชนนี้เองที่ได้ขานชื่อสนับสนุนพลเอกประยุทธ์เป็นนายกรัฐมนตรีอีกครั้ง
นอกจากนั้น ยังมีประเด็นเสริมอีกมากมาย เหมือนที่ นายแพทย์ ชลน่าน ศรีแก้ว ส.ส.จากจังหวัดน่าน ย้ำว่า “ถ้าปล่อยให้สภาฯ สนับสนุน พลเอก ประยุทธ์ เป็นนายกรัฐมนตรี การบริหารบ้านเมืองจะเดินไปสู่ความหายนะและล้มเหลว เนื่องจากวิธีคิดในการบริหารประเทศ ที่ยึดเอารัฐราชการเป็นศูนย์กลาง ซึ่งที่ถูกต้องควรเป็น ให้ประชาชนเป็นศูนย์กลาง”
ดิฉันอยากย้ำว่า ถ้านี่คือการแข่งขันกีฬา สิ่งที่เราพบก็คือ ทีมประชาธิปไตยถูกโกงตลอดสนามการแข่งขัน
ขณะที่อีกฝั่ง อยู่นิ่งๆ เส้นชัยก็วิ่งเข้าหาแล้ว เหมือนที่แกนนำพรรคพลังประชารัฐบางคน เคยพูดไว้บนเวทีว่า “รัฐธรรมนูญฉบับนี้ออกแบบมาเพื่อพวกเรา”
ไม่รวมถึงว่า ยังมีนักการเมืองตระบัดสัตย์ หันไปต่อชีวิตต่อเวลาให้เผด็จการอีกเป็นจำนวนมาก แตกต่างจากที่ได้เคยหาเสียงไว้ก่อนเลือกตั้งอย่างสิ้นเชิง
แม้จะถูกเอารัดเอาเปรียบ และถูกกระทำเช่นนี้อย่างต่อเนื่อง แต่นั่นไม่ใช่เหตุผลที่ทำให้ 7พรรคฝ่ายประชาธิปไตยยอมแพ้
เรายืนหยัดอยู่ได้เพราะ “ประชาชน” และด้วยการตระหนักอยู่เสมอว่า “โอกาสของประเทศ และโอกาสของประชาธิปไตยที่จะได้กลับมาลงหลักปักฐานให้มั่น คือภารกิจสำคัญยิ่งกว่าการแสวงหาอำนาจทางการเมือง”
นี่คือความมุ่งมั่นของพวกเรา 7พรรคฝ่ายประชาธิปไตย ซึ่งยึดมั่นต่อคำสัญญาที่ให้ไว้กับประชาชนในช่วงหาเสียง จนถึงวันโหวตเลือกนายกรัฐมนตรี ที่จะหยุดยั้งการสืบทอดอำนาจ และนำพาระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข กลับคืนมา
กาลเวลาพิสูจน์ว่า เราไม่เคยทรยศประชาชน และการยืนอยู่บนหลักการที่ถูกต้องจะทำให้เรายืดอกได้อย่างภาคภูมิใจ ไม่ว่าเวลาจะผ่านไปนานเท่าใด
ไม่ว่าจะผ่านไปกี่ปี เมื่อหันกลับมามองวันนี้ เรายืดอกได้อย่างภาคภูมิ ว่า “เราได้พยายามอย่างเต็มที่แล้วเพื่อปกป้องประชาธิปไตยจนถึงที่สุด”