ปลูกข้าวในทะเลทราย ซินเจียงขยายพื้นที่ทดลองปลูก “ข้าวทนเค็ม”
ทีมวิจัยและพัฒนาข้าวทนเค็มของบิดาแห่งข้าวไฮบริดกำลังขยายพื้นที่เพาะปลูกตามขอบทะเลทรายในเขตซินเจียง
มีรายงานเมื่อวันที่ 4 มิ.ย. ที่ผ่านมา ว่าทีมวิจัยและพัฒนาข้าวทนเค็มของหยวนหลงผิง ผู้คิดค้นข้าวลูกผสม (Hybrid rice) แห่งแดนมังกร กำลังขยายพื้นที่เพาะปลูกบริเวณแนวขอบตะวันตกของทะเลทรายทากลามากันในเขตปกครองตนเองซินเจียงอุยกูร์
เฉาจือซู หัวหน้าทีมวิจัยกล่าวว่า ในปีนี้ ทีมได้ขยายขนาดของแปลงทดลอง ในตำบลปาอีอาหว่าถี อำเภอเยว่ผู่หูของคัชการ์ให้แตะ 125 ไร่ จากปีก่อนที่มีเพียง 33 ไร่
เฉากล่าวว่า ดินท้องถิ่นมีความเค็มประมาณร้อยละ 1.7 มีค่าความเป็นกรด-ด่างสูงกว่า 8 ซึ่งชี้ว่าดินของที่นี่มีความเค็มสูงมาก
เขากล่าวว่า “ข้าวทนเค็มสามารถปรับปรุงดินและลดความเค็มของดินลงได้ ทั้งยังช่วยเปลี่ยนพื้นที่ดินเค็มให้กลายเป็นพื้นที่การเกษตรที่อุดมสมบูรณ์ได้ภายใน 3-5 ปี”
อาลิมจัน นายกองค์การบริหารส่วนตำบลปาอีอาหว่าถีกล่าวว่า ตำบลนี้มีพื้นที่ดินเค็มทั้งหมดราว 6,250 ไร่ ซึ่งพื้นที่เหล่านี้ไม่เหมาะสำหรับการเพาะปลูกใดๆ เลย แต่ปีก่อน นาข้าวจากแปลงทดลองได้ผลดีเกินความคาดหมายของทีมวิจัย ทำให้พวกเขามั่นใจในประสิทธิภาพข้าวมากยิ่งขึ้น
เฉากล่าวว่า พื้นที่ประมาณ 8.3 ล้านไร่ หรือร้อยละ 30 ของพื้นที่ที่เหมาะกับการเพาะปลูกในซินเจียงมีความเค็มในระดับที่แตกต่างกัน และข้าวทนเค็มที่จะช่วยปรับปรุงคุณภาพดินนั้นอาจสร้างคุณค่าได้มหาศาล
>> ล้ำไปอีกขั้น นักวิทย์ฯ จีนพัฒนาข้าวจนปลูกในทะเลทรายได้สำเร็จ (มีคลิป)