สผ. – UNDP จับมือฟื้นฟูป่าพรุ-พื้นที่ชุ่มน้ำ รับมือภัยโลกร้อน
ดร.รวีรรณ ภูริเดช เลขาธิการสำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (สผ.) กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม เปิดเผยว่า สผ. ร่วมกับสำนักงานโครงการพัฒนาแห่งสหประชาชาติ ประจำประเทศไทย (UNDP – United Nations Development Programme)
ดำเนินโครงการเสริมศักยภาพการจัดการระบบนิเวศป่าพรุ เพื่อเพิ่มความสามารถในการกักเก็บคาร์บอนและอนุรักษ์ความหลากหลายทางชีวภาพอย่างยั่งยืน ด้วยการสนับสนุนงบประมาณจากกองทุนสิ่งแวดล้อมโลก (GEF – Global Environment Facility)
ทั้งนี้ สผ.น้อมนำพระราชดำริในพระบาทสมเด็จพระมหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมราชบพิตรในการรักษาป่าพรุป้องกันไม่ให้ป่าพรุถูกทำลายมาปฏิบัติ
เลขาธิการ สผ. กล่าวด้วยว่า องค์การสหประชาชาติได้กำหนดให้วันที่ 5 มิถุนายน ของทุกปี เป็นวันสิ่งแวดล้อมโลก เพื่อให้ทั่วโลกตื่นตัวกับวิกฤตสิ่งแวดล้อมที่เกิดขึ้น โดยในปีนี้กำหนดหัวข้อรณรงค์ภายใต้คำขวัญ “หยุดหมอกควันและอากาศพิษ เพื่อคุณภาพชีวิตและสิ่งแวดล้อม” (Beat Air Pollution)
เนื่องจากหลายประเทศทั่วโลกกำลังเผชิญกับสถานการณ์ปัญหาฝุ่นละอองที่เป็นภัยคุกคามส่งผลกระทบต่อการดำเนินชีวิต สุขภาพ และเศรษฐกิจในภาพรวม โดยจากข้อมูลของโครงการสิ่งแวดล้อมแห่งสหประชาชาติ (United Nations Environment Programme: UNEP)
พบว่า 9 ใน 10 ของประชากรโลกหายใจเอาอากาศที่ปนเปื้อนมลพิษเข้าไป ทำให้แต่ละปีมีผู้เสียชีวิตก่อนวัยอันควรราว 7 ล้านคน ในจำนวนนี้ประมาณ 4 ล้านคนอยู่ในแถบเอเชีย-แปซิฟิก คิดเป็นมูลค่าความเสียหายทางเศรษฐกิจในระดับโลกถึง 5 ล้านล้านเหรียญสหรัฐต่อปี
ซึ่งการอนุรักษ์ฟื้นฟูระบบนิเวศของป่าพรุให้สมดุลและป้องกันไม่ให้พื้นที่ป่าพรุที่เหลืออยู่ถูกทำลายลงโดยเฉพาะจากไฟป่า จะเป็นส่วนสำคัญในการแก้ปัญหาวิกฤตหมอกควัน อีกทั้งป่าพรุยังจะเป็นแหล่งสำคัญในดูดซับอากาศพิษและฟอกอากาศบริสุทธิ์ให้กับผู้คนโดยรอบพื้นที่อีกด้วย
ด้านนายเรโนด์ เมเยอร์ ผู้แทนโครงการพัฒนาแห่งสหประชาชาติ ประจำประเทศไทย (UNDP Thailand) กล่าวว่า ป่าพรุมีความสำคัญอย่างยิ่งต่อการแก้ไขปัญหาการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศ ป่าพรุช่วยดูดซับคาร์บอนที่จะถูกปล่อยไปสู่ชั้นบรรยากาศได้เป็นล้านตัน
นอกจากนี้ป่าพรุยังช่วยให้ชุมชน มีความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น โดยกองทุนสิ่งแวดล้อมโลก UNDP ได้ร่วมกับรัฐบาลไทยได้ให้การสนับสนุน โครงการ ดังกล่าว เพื่อให้ภาคประชาสังคมใช้เทคโนโลยีที่เป็นนวัตกรรม
และแนวทางใหม่ในการจัดการป่าพรุเพื่อให้มั่นใจว่าระบบนิเวศน์ของป่าพรุจะช่วยเรื่องการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศ และช่วยทำให้เป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนสำเร็จได้ตลอดจนช่วยรักษาสมดุลของสิ่งแวดล้อมและกิจกรรมมนุษย์อย่างยั่งยืน
อัลบั้มภาพ 8 ภาพ