ส.ส.หญิง: สิทธิ-เสียงของผู้หญิง หรือแค่สีสันในสภา?
แม้ผู้อาวุโสท่านหนึ่งจะเคยกล่าวไว้ว่า “รัฐสภาไม่ใช่โรงละคร” แต่ในช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมา รัฐสภาดูเหมือนจะกลายเป็นละครหลังข่าวไปแล้ว จากวิวาทะระหว่าง ส.ส. หญิงในสภา เมื่อนางสาวปารีณา ไกรคุปต์ ส.ส. ราชบุรี พรรคพลังประชารัฐ ไลฟ์ผ่านเฟซบุ๊กส่วนตัว โดยใช้คำว่า “อีช่อ” คล้ายจะพาดพิงนางสาวพรรณิการ์ วานิช ส.ส.บัญชีรายชื่อและโฆษกพรรคอนาคตใหม่ ที่มีชื่อเล่นว่าช่อ พร้อมระบุภายหลังว่า เป็นภาษาถิ่น ใช้ตำหนิคนไม่มีวินัย จนกลายเป็นที่วิพากษ์วิจารณ์ในโลกโซเชียล และขณะที่กระแส “อีช่อ” ยังไม่ทันซา นางสาวปารีณาก็จุดไฟดราม่าขึ้นอีกครั้ง โดยการวิจารณ์การแต่งกายของนางสาวพรรณิการ์ว่าไม่เหมาะสมและผิดกฎระเบียบ พร้อมเกทับไปถึงว่าใครใส่ชุดนี้แล้วสวยกว่ากัน
>> หมัดต่อหมัด! ปารีณา ไกรคุปต์ ปะทะ ช่อ พรรณิการ์ ปมดราม่า "Eช่อ"
>> "ปารีณา" สะใจเห็นคนอื่นใช้คำว่า อีช่อ ฝากถึง "ธนาธร" หยุดคุกคามเพื่อน
>> ปารีณา ยืนยัน "อีช่อ" ใช้ด่าคนในบ้าน ขอใช้สิทธิแจ้งความเจอโซเชียลถล่มด่าหยาบคาย
>> ปารีณาด่า "Eช่อ" แต่งชุดแหกกฎรัฐสภา ป้องหมอพรทิพย์สุภาพ แม้ผมหลากสี
สำหรับผู้ที่ติดตามข่าวการเมือง ดราม่าในสภาเช่นนี้อาจเป็นเพียงสีสันหนึ่งในสภา แต่หากมองกันอย่างจริงจัง ดราม่าลักษณะนี้กลับสะท้อนประเด็นบางอย่างที่มากกว่า “ผู้หญิงทะเลาะกัน”
เรื่องที่มากกว่าผู้หญิงตีกัน
“กรณีนี้สะท้อนถึงปัญหาสังคมไทยในภาพรวมที่คนจำนวนไม่น้อย ทุกเพศ ทุกวัย ยังไม่ตระหนักเรื่องความเป็นคนเท่าเทียมของทุกคน ทุกเพศ” คุณนิธินันท์ ยอแสงรัตน์ สื่อมวลชนอาวุโส กล่าวถึงประเด็นเบื้องหลังดราม่าชุดหรูของนางสาวพรรณิการ์ ที่ถูกนางสาวปารีณาวิจารณ์ว่าผิดระเบียบ และลุกลามไปถึงรูปร่างหน้าตาของนางสาวพรรณิการ์ ซึ่งการวิพากษ์วิจารณ์เรื่อง “เปลือกนอก” อย่างรูปลักษณ์และการแต่งกาย ก็เป็นส่วนหนึ่งของการไม่เคารพในความเป็นมนุษย์ของผู้อื่น และทำให้ประเด็นสำคัญอย่างอุดมการณ์ทางการเมือง ทัศนคติ รวมทั้งนโยบายในการบริหารบ้านเมืองถูกมองข้ามไป
ด้าน อาจารย์ ดร.ชเนตตี ทินนาม อาจารย์ประจำภาควิชาการสื่อสารมวลชน คณะนิเทศศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย นักวิชาการผู้เชี่ยวชาญด้านเพศภาวะ มองว่ากรณีนี้สะท้อนให้เห็นถึงการเมืองที่ไม่สร้างสรรค์ ล้าหลัง และความล้มเหลวในการสร้างความเสมอภาคทางการเมืองของผู้หญิง
“ถ้าไม่ใช่มิติการเมือง เราจะพบว่าสถานภาพและบทบาทของผู้หญิงไทยกำลังขับเคลื่อนไปในทิศทางของการส่งเสริมความเท่าเทียม ลดอคติ หรือลดการปฏิบัติที่เป็นสองมาตรฐาน แต่พื้นที่ทางการเมืองกลับโฟกัสเฉพาะเรื่องความขัดแย้งระดับปัจเจกของผู้หญิงสองคน แล้วหยิบยกเรื่องการแต่งกายขึ้นมาเป็นจุดโฟกัส มันเป็นการสะท้อนภาพการเมืองที่ไม่สร้างสรรค์ ล้าหลัง และมันก็เป็นความล้มเหลวในการสร้างพื้นที่สาธารณะทางการเมืองให้ผู้หญิง เรามองว่าการเมืองฉุดรั้งสถานภาพของผู้หญิงที่กำลังจะดีขึ้นในสังคมไทย ให้ถอยหลังกลับลงไปอีก” อาจารย์ ดร.ชเนตตีให้ความเห็น พร้อมเสริมว่า
“การเมืองพยายามสร้างสปอตไลต์ให้ผู้หญิงมีคุณสมบัติแค่เป็นคนเจ้าอารมณ์ ไม่มีเหตุผล ไม่พอใจก็ใช้คำหยาบ ตั้งแฮชแท็กด่ากัน เป็นพื้นที่ที่ผู้หญิงก็จะจบได้แค่เรื่องความสวย ร่างกาย สรีระ คอสั้นยาว ใครจะแต่งตัวได้สวยกว่ากัน ใครแต่งตัวถูกกาลเทศะมากกว่ากัน ซึ่งประเด็นเหล่านี้มันไปกลบศักยภาพของผู้หญิง”
อย่างไรก็ตาม วิวาทะดังกล่าวอาจไม่ถูกพูดถึงมากนัก หากตัวละครสำคัญอย่างสื่อมวลชนและโซเชียลมีเดีย ไม่นำมาขยายให้เป็นประเด็นใหญ่ ซึ่งเรื่องนี้ ทั้งคุณนิธินันท์และ อาจารย์ ดร.ชเนตตี เห็นตรงกันว่าสื่อมวลชนเองก็ไม่ได้ให้ความสำคัญกับหน้าที่รับผิดชอบในฐานะ ส.ส. รวมทั้งเรื่องที่เป็นสาระในการขับเคลื่อนประเทศ แต่กลับโฟกัสที่ประเด็นความขัดแย้งระหว่างผู้หญิงสองคน จนทำให้บทบาททางการเมืองของผู้หญิงไม่ถูกนำเสนอ และยังตอกย้ำภาพลักษณ์ “ไม้ประดับในสภา” ที่ถูกกดทับบทบาทโดยผู้ชายเหมือนเดิม
“การที่เรามองเรื่องการเมืองของผู้หญิงเป็นคล้ายๆ ฉากหนึ่งในละครหลังข่าว คุณปารีณาเป็นตัวละครหนึ่ง คุณช่อเป็นตัวละครหนึ่ง กลายเป็นว่าตอนนี้เราไม่รู้เลยว่าผู้หญิงในสภามีอุดมการณ์ทางการเมืองอย่างไร เขาคิดอย่างไรกับการเมือง เขามีนโยบายอย่างไร สื่อก็เป็นตัวกำหนด ทำให้โลกโซเชียลแสดงความคิดเห็นในเชิงที่เป็นดราม่า ดูการเมืองก็เหมือนดูละครหลังข่าวสนุกสนาน ส.ส.ชายบางคนก็บอกว่าอยากให้เขาตีกันจริงๆ แบบนี้ขึ้นมาอีก ทำให้คุณค่าของผู้หญิงมันไม่มี” อาจารย์ ดร.ชเนตตีกล่าว
ต้นเหตุคือสังคมชายเป็นใหญ่
นอกจากประเด็นเรื่องความเสมอภาคทางเพศที่ล้มเหลวแล้ว สิ่งที่น่าจะมองให้ลึกลงไปอีก คือปัจจัยที่ทำให้ผู้หญิงคนหนึ่งสามารถด่าทอผู้หญิงอีกคนได้ราวกับเป็นเรื่องปกติ ซึ่งคุณนิธินันท์ระบุว่า มาจากความเคยชินในสังคมชายเป็นใหญ่นั่นเอง
“สังคมชายเป็นใหญ่ที่คนส่วนใหญ่คุ้นชิน มันกำหนดบทบาทหญิงชาย กำหนดความเชื่อเกี่ยวกับเพศ มันทำให้คนไทยยังคงมองผู้หญิงเป็นคนไม่เท่าผู้ชาย เป็นอะไรบางอย่างที่เล็กๆ น้อยๆ จุ๋มจิ๋ม สวยงาม ไม่ให้เกียรติสมองผู้หญิง และผู้หญิงส่วนหนึ่งก็เลยพลอยใช้สมองน้อยไปด้วยเพราะเคยชินกับค่านิยมเก่าๆ เหมือนกัน”
เช่นเดียวกับอาจารย์ ดร.ชเนตตี ที่มองว่าค่านิยมในสังคมชายเป็นใหญ่ปลูกฝังให้คนในสังคมมีทัศนคติที่มองว่าผู้หญิงต้องสวย ต้องอยู่ในกรอบของผู้หญิงที่ดี ต้องแต่งตัวให้ถูกต้องตามมาตรฐานที่จัดวางไว้ และเมื่อผู้หญิงบางคนไม่ได้ประพฤติตนตามกรอบที่กำหนด ผู้หญิงคนนั้นก็จะถูกโจมตี โดยเฉพาะจุดที่ง่ายที่สุดคือเรื่องสรีระร่างกาย ที่มุมมองของสังคมชายเป็นใหญ่เห็นว่าเป็นสิ่งที่วิพากษ์วิจารณ์ คุกคาม หรือใช้ความรุนแรงได้อย่างชอบธรรม
“เรามองว่าคุณปารีณาเป็นเหยื่อของระบบ คุณช่อเองก็เป็นเหยื่อของระบบ ทั้งสองคนต่างเป็นผู้ถูกกระทำภายใต้โครงสร้างของระบอบปิตาธิปไตย ซึ่งเป็นระบอบที่ปลูกฝังให้คนมีทัศนคติในการเหยียดเพศ การที่สังคมได้ถ่ายทอดชุดความคิดตรงนี้ ก็ทำให้ไม่ว่าผู้หญิงจะตกอยู่ในสถานการณ์ใดก็แล้วแต่ ชุดความคิดนี้ก็จะพุ่งเป้าโจมตีและทำให้ผู้หญิงเป็นคนที่ถูกเลือกปฏิบัติด้วยระบบสองมาตรฐานในสังคมนั่นเอง” อาจารย์ ดร.ชเนตตีกล่าว
นอกจากนี้ อาจารย์ ดร.ชเนตตี ยังระบุอีกว่าที่จริงแล้วผู้หญิงมีศักยภาพมากพอในทางการเมือง แต่บรรยากาศในการเมืองกลับลดทอนคุณค่าของผู้หญิง จากสัดส่วนของนักการเมืองในสภาที่มีผู้ชายมากกว่าผู้หญิง อีกทั้งผู้นำอย่างประธานสภาและนายกรัฐมนตรีก็เป็นผู้ชาย แสดงให้เห็นว่าผู้หญิงยังไม่มีบทบาทหรือพื้นที่ในทางการเมืองอย่างแท้จริงเลย
“รัฐธรรมนูญปี 2517 เป็นครั้งแรกที่มีการบัญญัติในรัฐธรรมนูญว่าหญิงชายเท่าเทียมกัน จากปี 2517 ถึง 2562 สี่สิบกว่าปีแล้ว เรายังไม่เห็นผู้หญิงมีพื้นที่หรือมีบทบาทในทางการเมืองที่แท้จริงเลย เพราะว่าระบอบการเมืองในประเทศไทยไม่เคยมองเห็นผู้หญิงเป็นพลเมือง จำนวนของผู้หญิงที่เป็น ส.ส.ในสภาน้อยมากจนน่าใจหาย มีแต่ผู้ชายเต็มไปหมด ประธานสภาก็เป็นผู้ชาย นายกรัฐมนตรีที่ได้รับการโหวตก็เป็นผู้ชาย นอกจากการเมืองจะไม่ให้คุณค่าของผู้หญิงในเชิงสัดส่วนแล้ว การหยิบยกเรื่องเพศวิถีมาโจมตีผู้หญิง เช่นเรื่องเสื้อผ้า สรีระ ความงาม สวยไม่สวย รวมไปถึงเรื่องความสัมพันธ์ทางเพศ ก็ทำให้ภาพของผู้หญิงกลายเป็นคนที่ไม่เหมาะกับพื้นที่ทางการเมือง” อาจารย์ ดร.ชเนตตีระบุ
การเมืองแบบนี้จะแก้ที่ใคร
ภายใต้ภาพผู้หญิงทะเลาะกัน แท้จริงแล้วมีรากของปัญหาที่หยั่งลึกกว่าที่คิด ก่อนที่กระแสดราม่าครั้งนี้จะจางหายไปเช่นเดียวกับดราม่าอื่นๆ ที่เคยเกิดขึ้น อาจารย์ ดร.ชเนตตีเสนอว่า สังคมไม่ควรมองเรื่องนี้เป็นปัญหาส่วนบุคคล แต่ควรมองไปถึงวิธีคิดแบบชายเป็นใหญ่ ซึ่งเป็นตัวการที่หล่อหลอมให้ผู้หญิงมีทัศนคติที่เหยียดเพศกันเอง และพยายามหยุดวงจรนี้ ซึ่งจะเป็นการแก้ปัญหาที่ยั่งยืนมากกว่า
“ถ้าเรามองแค่ปัญหาที่ต้องมองหาคนผิดคนถูก ให้มันเป็นเรื่องของคนสองคน ปัญหามันก็ไม่ถูกแก้ แล้วการเมืองในยุคหน้า เราก็จะเจอกรณีอย่างนี้เกิดขึ้นอีกอย่างไม่รู้จักจบสิ้น เพราะฉะนั้น ต้องเลิกมองเรื่องนี้ว่าเป็นแค่การทะเลาะกันของผู้หญิงสองคนในสภา แต่มันเป็นปัญหาสังคมที่มีวิธีคิดเหยียดเพศ และเราต้องไปหยุดการถ่ายทอดอุดมการณ์นี้ในสังคม ต้องหาวิธีการว่าจะทำอย่างไรให้ระบบการศึกษาไม่สอนให้เลือกปฏิบัติกับผู้หญิงและเพศหลากหลาย สังคมก็จะต้องร่วมด้วย ที่จะไม่ไปขยายให้มันบานปลายไปจนกระทั่งมันไปกลบสิ่งที่น่าสนใจในตัวของผู้หญิง ซึ่งก็คือความคิด อุดมการณ์ และนโยบายในฐานะนักการเมืองหญิง” อาจารย์ ดร.ชเนตตีกล่าว
ด้านคุณนิธินันท์ก็กล่าวว่า สิ่งที่ต้องแก้ไขอีกประการก็คือการทำงานของสื่อไทย ที่ควรจะให้ความสำคัญกับประเด็นที่เกี่ยวข้องกับคุณภาพชีวิตของประชาชนมากกว่าดราม่าตามกระแส
“ปัญหาสำคัญประการหนึ่งคือ การทำงานของสื่อไทย ซึ่งหลายสำนักไม่ใส่ใจประเด็นสำคัญเกี่ยวกับปากท้องประชาชน เกี่ยวกับผลประโยชน์ประชาชน ทำข่าวแนวบันเทิง ตามติดชีวิตเซเลบ ไม่สนใจความรู้ ไม่สนใจที่จะให้พื้นที่สื่อเป็นพื้นที่แลกเปลี่ยนความรู้ความเข้าใจเพื่อพัฒนาสังคมให้ก้าวหน้าขึ้นในทางสร้างสรรค์ สื่อไทยควรต้องปรับปรุงการทำงานด้วย” คุณนิธินันท์กล่าว
เคารพความเป็นคน = ประชาธิปไตย
เมื่อวิเคราะห์กันอย่างจริงจังแล้ว จะเห็นว่าวิวาทะระหว่าง ส.ส.หญิงนั้นไม่ใช่แค่เรื่องของผู้หญิงสองคน แต่เกี่ยวข้องกับการเมืองและสังคมอย่างเห็นได้ชัด โดยเฉพาะประเด็นเรื่องความเท่าเทียมกัน ซึ่งคุณนิธินันท์กล่าวว่า
“ถ้าเชื่อในความเป็นคนเท่ากัน ประเด็นเรื่องเหยียดเพศอะไรต่างๆ มันจะไม่มีไปเอง และเราสามารถเคารพความแตกต่างระหว่างเพศได้อย่างที่เป็นธรรมชาติจริงๆ”
ส่วนอาจารย์ ดร.ชเนตตีก็มองว่า ก่อนที่จะนำพาประเทศไปสู่สังคมประชาธิปไตย เราควรก้าวข้ามการเมืองเรื่องเปลือกนอกอย่างร่างกาย เสื้อผ้า และความงามก่อน
“ถ้าเรายังก้าวไม่พ้นการเมืองเรื่องร่างกาย เสื้อผ้า ความงาม เราก็ไม่ต้องไปหวังหรอกค่ะว่าเราจะเป็นประชาธิปไตย เพราะรากฐานของประชาธิปไตยที่สำคัญคือ เขาจะต้องเริ่มต้นที่การเคารพในคุณค่าของความเป็นมนุษย์ ซึ่งในระดับพื้นฐานคือ เคารพร่างกายของคนคนนั้นก่อน ถ้าคุณเคารพไม่ได้แม้กระทั่งว่าร่างกายของคนจะเป็นหญิงหรือเป็นชาย เขาเท่ากัน อย่าไปหวังว่าจะมีประชาธิปไตยที่แท้จริง ประชาธิปไตยที่แท้จริงจะเป็นเรื่องที่ไกลและยากมาก ถ้าคุณไม่กลับมารื้อการเมืองเรื่องร่างกายก่อน” อาจารย์ ดร.ชเนตตีสรุป