จับอาการ “รัฐบาล 500 (เสียง)” ส่อแววอายุสั้น?
แม้จะผ่านมาได้ด้วยเสียง 500 จนถูกประทับตรา “รัฐบาล 500 (เสียง)” แทนที่จะเป็น 501 เพราะ “สิริพงศ์ อังคสกุลเกียรติ” ส.ส.ศรีสะเกษ พรรคภูมิใจไทย ลุกขึ้นโหวตสวนมติพรรคด้วยเหตุไม่อาจฝืนความต้องการของประชาชน เลยขอ “งดออกเสียง” ซะงั้น โดยที่ “เสี่ยหนู” ก็ไม่ได้ว่าอะไร ราวกับจะเป็นนัยของ “หนังตัวอย่าง” ไปถึง “ดีล” ที่ยังไม่ “ลงตัว” ทำท่าจะเกิดเหตุ “ดึงอ้อยจากปากช้าง” ล้มดีลที่คุยกันมา
เพราะจากที่เป็นแค่กระแส ก็ปรากฏว่าบรรดากลุ่มการเมืองใหญ่น้อยที่มีอยู่ไม่ต่ำกว่า 10 กลุ่ม รวมทั้ง “กลุ่มสามมิตร” ในพรรคพลังประชารัฐที่ “สุริยะ-สมศักดิ์” เริ่มออกมาส่ง “สัญญาณ” จริงจังในการมีส่วนร่วมในโควตาเก้าอี้รัฐมนตรี และขอให้เอา “เก้าอี้เกรดเอ” คืนมาจาก 2 พรรค คือ ประชาธิปัตย์-ภูมิใจไทย โดย “สมศักดิ์” ถึงขั้นยืนกรานว่าพรรคพลังประชารัฐต้องได้คุมกระทรวงเกษตรฯ ขณะที่แกนนำก็ส่งสัญญาณย้ำว่า “พล.อ.ประยุทธ์” จะเป็นคนสรุปคนสุดท้ายในการวางตัวรัฐมนตรี โดยตั้งไทม์ไลน์ไว้ว่าการตั้งรัฐบาลต้องจบไม่เกิน 13 มิ.ย. เพื่อให้ทันการประชุมสุดยอดอาเซียนในวันที่ 22 มิ.ย.นี้
หลังการพูดคุยกันเองของแกนนำพลังประชารัฐ จะมีการส่งโผเก้าอี้ที่ลงตัวแล้วให้ “พล.อ.ประยุทธ์” พิจารณา ส่วนเก้าอี้ที่ยังต้องคุยกับพรรคร่วมหากเจรจาไม่ลงตัว ทางพลังประชารัฐก็จะให้สิทธิ์ขาด “พล.อ.ประยุทธ์” พิจารณา โดยเฉพาะกระทรวงเศรษฐกิจเกรดเออย่าง กระทรวงพาณิชย์ กระทรวงคมนาคม และกระทรวงเกษตรและสหกรณ์นั้น มีรายงานว่า “นายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์” รองนายกรัฐมนตรีมองว่าหากกระทรวงเหล่านี้ไม่อยู่กับพลังประชารัฐอาจทำงานไม่ได้ รวมถึงมีปัญหาเรื่องสุขภาพ เลยเป็นเหตุผลที่ทำให้ “นายสมคิด” ตัดสินใจจะไม่ไปต่อ
ที่ยกมาข้างต้นเป็นเพียงแค่ด่านแรกในการจัดองคาพยพตัวเองของรัฐบาล “พล.อ.ประยุทธ์” ภาค 2 แบบ “แบ่งสมบัติ” ที่ยากจะลงตัวเพราะน้อยกว่าคนขอแบ่ง ที่แน่นอนย่อมจบลงที่ร่องรอยของความไม่พอใจแต่ต้องจำยอมไปก่อนของบางพรรคบางกลุ่ม
แต่ถัดไปจากนี้ยังมีโจทย์ยากรออยู่อันสัมพันธ์กับการจัดการแบ่งสมบัติ “รัฐบาล 500 (เสียง)” ข้างต้น คือ เรื่องจำนวนเสียง ส.ส. ที่สนับสนุนรัฐบาลใหม่ซึ่งมีเพียง 251 เสียงเท่านั้น และมีเสียง ส.ส. ฝ่ายค้าน 245 เสียง เมื่อประธานและรองประธานสภาผู้แทนราษฎร 3 ท่านต้องงดออกเสียงตามประเพณีปฏิบัติ เท่ากับฝั่งรัฐบาลมีเสียงมากกว่าฝ่ายค้านเพียง 5 เสียงเท่านั้นซึ่งอันตรายมีโอกาสถูกคว่ำได้ตลอด โดยกรณี “หนังตัวอย่าง” ก็เกิดขึ้นให้เห็นกันไปแล้ว
ขณะเดียวกันปมความหลากหลายของนักการเมืองในพรรคพลังประชารัฐและการที่ “ประธานสภา” อยู่ในมือของประชาธิปัตย์ก็อันตรายเช่นกัน หากผลการ “แบ่งสมบัติ” ข้างต้นเกิดการกินใจ และ/หรือถัดไปจากนั้นเกิดปมการตรวจสอบปัญหาการทุจริตก็มีโอกาสจะคุมยากและย่อมเกิดอาการกินใจของ “คนกันเอง” เช่นกัน
ที่สำคัญพลันเมื่อ ครม.ใหม่ เข้าทำหน้าที่ เป็นเหตุให้อำนาจ คสช. คลายลงเมื่อใด ก็ยังไม่มีหลักประกันว่าแรงกระเพื่อมจากภายนอกสภาที่จะเกิดขึ้นเป็น “ตัวแปร” กับแรงเสียดทาน “ภายใน” มีมากน้อยเพียงใด และถึงเวลานั้น “นายกฯ ลุงตู่” ยังจะมีน้ำหนักกับ “คนกันเอง” หรือไม่ ทั้งหมดจึงเป็นที่มาของการคาดการณ์จากบรรดา “เกจิการเมือง” ว่ารัฐบาลใหม่อาจจะอายุสั้นกว่าที่คิดหรือไม่?
>> ดีลยื้อตั้งรัฐบาล รอ "บิ๊กตู่" เคาะ
>> เกลี่ยเก้าอี้รัฐมนตรียังไม่นิ่ง! เปิดลิสต์กระทรวงดึงกลับ-แลกแถมพ่วงอุตลุด