“เพจอีจัน” ในวันที่สื่อต้องเปลี่ยนแปลงตัวเอง

“เพจอีจัน” ในวันที่สื่อต้องเปลี่ยนแปลงตัวเอง

“เพจอีจัน” ในวันที่สื่อต้องเปลี่ยนแปลงตัวเอง
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

จากกระแส Media Disruption ที่เกิดขึ้นทั่วโลก สื่อประเภทต่างๆ ทั้งสิ่งพิมพ์และโทรทัศน์ ต่างพากันปรับตัวเข้าสู่โลกออนไลน์กันยกใหญ่ ขณะเดียวกันก็เกิดสื่อมวลชนหน้าใหม่ ที่ใช้โซเชียลมีเดียเป็นฐานทัพหลักในการนำเสนอข่าว แต่ไม่ว่าจะเป็นสื่อเก่าหรือสื่อใหม่ สิ่งที่หลีกเลี่ยงไม่ได้คือการต่อสู้ฟาดฟัน เพื่อนำเสนอข่าวที่อยู่ในกระแสความนิยมให้เร็วที่สุดเท่าที่จะทำได้ บรรยากาศของสื่อในขณะนี้จึงดูไม่ต่างจากสนามรบ เพียงแค่เปลี่ยนจากปืนผาหน้าไม้เป็นเทคโนโลยีการสื่อสาร

แต่ขณะที่สื่อมวลชนกำลังแข่งขันกันในสมรภูมิข่าวสารอันดุเดือด ก็เกิดมีสื่อหน้าใหม่เกิดขึ้นบนเฟซบุ๊ก ในชื่อสุดเร้าใจว่า “อีจัน” ซึ่งแจ้งเกิดจากคดีฆาตกรรมสะเทือนขวัญอย่าง “เปรี้ยวหั่นศพ” เมื่อช่วงกลางปี 2560 พร้อมภาพลักษณ์ที่ดูคล้ายรายการข่าวอาชญากรรมทางโทรทัศน์ และสโลแกน “ความยุติธรรม...มีจริง” ซึ่งเมื่อ 2 ปีผ่านไป อีจันกลายเป็นเพจข่าวยอดฮิตที่มีผู้ติดตามกว่า 8 ล้านคน

“อีจัน” คือใครกันแน่ และอะไรที่ทำให้เพจข่าวนี้สามารถยืนยงอยู่ในสมรภูมิสื่อสารมวลชนได้อย่างโดดเด่น Sanook! News มีคำตอบ

กำเนิด “อีจัน”

“เพจอีจันเริ่มต้นจาก ‘จัน’ ซึ่งเป็นนักข่าวอาชญากรรมของไอทีวี เขาก็ทำเกี่ยวกับคอนเทนต์ข่าวอาชญากรรมมาโดยตลอด” คุณพิชิต สุขไผ่ตา CEO เพจอีจัน เริ่มเล่าให้ฟังถึงที่มาที่ไปของเพจ จากการตัดสินใจเปลี่ยนวิธีการนำเสนอข่าวของ “จัน” จากโทรทัศน์มาเป็นออนไลน์ แต่ยังคงยึดถือแนวทางที่ตัวเองเชี่ยวชาญที่สุด นั่นคือข่าวอาชญากรรม และร่วมมือกับมิตรสหายในสายโปรดักชั่น ผลิตเนื้อหาข่าวอาชญากรรมแนวใหม่ ที่ไม่ใช่แค่การรายงานข่าวธรรมดา

“เรามีเซนส์ว่าถ้าใช้ชื่ออีจัน มันจะดัง ทุกคนก็บอกว่ามันไม่เกี่ยวกับอาชญากรรม ผมก็เลยบอกว่าให้ทุกคนคิดชื่อมา ก็มีอาชญากรรมวันนี้ ข่าวอาชญากรรม Crime Today อะไรต่ออะไร ผ่านไปประมาณ 15 นาที ชื่อที่ติดหูทุกคนคือ ‘อีจัน’ ทุกคนก็ยกมือเลือกชื่ออีจัน ตอนแรกทีมเราก็ไม่แน่ใจว่ามันจะเกี่ยวอะไร ลอกอีเจี๊ยบหรือเปล่า ก็บอกว่าไม่ต้องไปสนใจ ถ้าตกลงกันแล้วก็ลุยเลย” คุณพิชิตเล่าเกี่ยวกับที่มาของชื่อเพจ และจุดเริ่มต้นของรายการข่าวอาชญากรรมบนโลกโซเชียล


“Crimetainment”

ในขณะที่สื่ออื่นๆ พยายามรายงานข่าวตามสถานการณ์ที่เกิดขึ้น เพจอีจันกลับเลือกแนวทางที่แตกต่างจากสื่อทั่วไป โดยให้น้ำหนักทั้งเนื้อหาที่แข็งแรงและการนำเสนอที่มีประสิทธิภาพ ซึ่งส่งผลเกินคาดเลยทีเดียว

“จันบอกว่าเราเป็นทีมข่าวขนาดเล็ก เพราะฉะนั้น เราจะเลือกข่าวที่เราทำได้ดีกว่าที่อื่น เราจะไม่ทำข่าวที่ดังที่สุด แต่ทำข่าวที่เรามั่นใจว่าเรารู้ดีที่สุด เหมือนเลือกเกมที่เราถนัด ตอนนั้นเราทำแค่ 2 ข่าว คือข่าวเปรี้ยวกับเณรปลื้ม ที่นครศรีธรรมราช ทำได้แค่นั้น ปรากฏว่าเป็น 2 ข่าวที่ดังพอดี เณรปลื้มก็มีคนดูไลฟ์ประมาณแสนหนึ่ง ข่าวเปรี้ยวแสนหก” คุณชีวพันธ์ ฉัตรสุทธิพงษ์ Digital Media Director เล่าวิธีการทำงานของเพจในระยะแรก

นอกจากเลือกนำเสนอข่าวอาชญากรรม ซึ่งเป็นความเชี่ยวชาญของทีมแล้ว เทคนิคการนำเสนอข่าวก็เป็นอีกปัจจัยที่ทำให้การรายงานข่าวประสบความสำเร็จ และแทบจะเป็นการปฏิวัติวงการสื่อออนไลน์เลยทีเดียว ซึ่งคุณพิชิตเล่าว่า เป็นการนำเอาอาชญากรรมและความบันเทิงมารวมกัน กลายเป็น “Crimetainment” ด้วยฝีมือทีมงานที่ไม่ได้มีแค่นักข่าว ช่างภาพ และฝ่ายตัดต่อ แต่ยังต้องมีครีเอทีฟและฝ่ายการตลาดมาช่วยผลิตด้วย

“แต่เดิม กว่าจะรู้ว่าข่าวอะไร เราต้องอ่านว่าวันนี้วันอะไร พื้นที่ที่ไหน แล้วชื่อตำรวจอีก 20 คน เราก็เลยคิดว่า ทำไมเราต้องดูชื่อตำรวจก่อนล่ะ คนสนใจข่าวมากกว่า ก็เลยทิ้งทุกสิ่ง เหลือแค่พาดหัวข่าว ทำให้คนรู้ข่าวภายใน 5 สไลด์ แล้วฟีดบ่อยๆ คนก็จะรู้ว่ามันดูง่าย แอบดูแป๊บเดียวรู้เลยว่าเขาฆ่ากัน ส่วนเรื่องวิดีโอ แทนที่เราจะทำวิดีโอยืดยาวแบบข่าวทีวี เราเอาไฮไลต์มาวาง แล้วทำเหมือนพาดหัวข่าวตลอดเวลา วิดีโอเลยกลายมาเป็นรูปแบบของอีจันในปัจจุบัน ซึ่งสั้นและตัวหนังสือแรงๆ ถ้าคุณไม่ได้ยินเสียง คุณก็เข้าใจ ถ้าฟังเสียงด้วย จะยิ่งมันเข้าไปอีก อย่างคดีเปรี้ยว เราค่อยๆ นำเสนอด้วยวิธีของจัน คือ สั้น กระชับ ดึงอารมณ์ของเปรี้ยวและคนที่ไปกับเปรี้ยว และตัดต่อเหมือนหนัง ข่าวเลยน่าสนใจ ทำให้มันปัง” คุณพิชิตกล่าว

“อีจันเป็นที่แรกๆ ในเมืองไทย ที่ใช้ซับไตเติลเล่าเรื่อง แล้วผมก็เปลี่ยนฟอร์แมตจาก 16:9 เป็น 1:1 คนดูไม่ต้องพลิกจอ ปรากฏว่ายอดผู้ชมก็ไปเร็วมาก คอนเทนต์มันดีอยู่แล้วด้วย” คุณชีวพันธ์เล่าอย่างภาคภูมิใจ ส่วนคุณพิชิตก็เสริมว่าหลังจากที่อีจันใช้ฟอร์แมต 1:1 สื่อเจ้าอื่นๆ ก็หันมาใช้ฟอร์แมตเดียวกันนี้ เรียกว่าเป็นการ “disrupt” การนำเสนอข่าวอาชญากรรมทั้งประเทศเลยก็ว่าได้

พื้นที่สื่อของคนทุกฝ่าย

ไม่ใช่แค่เนื้อหาและการนำเสนอเท่านั้น แต่ยังมีเรื่องราวระหว่างบรรทัด ที่ทำให้อีจันแตกต่างจากสื่อทั่วไป คือการนำเสนอข่าวอย่างเป็นกลาง ให้พื้นที่แก่ทุกฝ่ายในการบอกเล่าเรื่องราวจากมุมของตัวเอง ซึ่งคุณพิชิตบอกกับเราว่ายอดผู้ติดตามเพจหลักล้านนั้น แทบจะไม่ได้มาจากความบังเอิญ แต่มาจากจรรยาบรรณของทีมงาน

“ข่าวแต่ละวันที่เกิดขึ้น บางทีไม่ใช่ข่าวดัง แต่พอจันเขาเห็น เขาจะรู้ทันทีด้วยประสบการณ์ 20 กว่าปี ว่าคดีแบบนี้ ถ้าหยิบมาพูดแล้วมันจะปัง แต่อยู่ภายใต้จริยธรรม ภายใต้การเสนอข่าวซึ่งเราบาลานซ์ทั้งหมด โจรอยากพูดเราก็ให้โจรพูด ตำรวจอยากพูด เราก็ให้ตำรวจพูด ผู้เสียหายฝั่งไหน หรือใครอยากจะพูด เราให้พูด เราจะมีเวทีให้เขา เพราะฉะนั้น เวลาเดินไปไหน ทุกคนจะยินดีให้อีจันสัมภาษณ์ เพราะเราไม่เคยทำร้ายใคร เราเอาสถานการณ์เป็นตัวตั้ง” คุณพิชิตกล่าว

แม้จะมีจุดยืนที่จะไม่ใช้ปากกาในมือทำร้ายคนอื่น แต่เมื่อเข้าสู่โลกออนไลน์ที่เต็มไปด้วยผู้คนร้อยพ่อพันแม่ ย่อมเลี่ยงไม่ได้ที่จะต้องรับมือกับคอมเมนต์รุนแรงและสร้างความเกลียดชัง ซึ่งทั้งคุณพิชิตและคุณชีวพันธ์ยอมรับว่า เมื่อก่อตั้งเพจใหม่ๆ คอมเมนต์เชิงลบเหล่านี้ทำให้ทีมงานถึงกับจิตตก ด้วยคิดไม่ถึงว่าทำไมคนเราจึงสามารถด่าทอเหยียดหยามกันได้ขนาดนี้

“คอมเมนต์ในโลกออนไลน์มันมีอยู่ 3 ประเภท หนึ่ง เป็นนักเล่นออนไลน์ที่มีคุณภาพ คืออ่านก่อนแล้วค่อยคอมเมนต์ เป็นคอมเมนต์ที่มีประโยชน์ สองคือพวกเกรียน แค่เห็นพาดหัวก็เอาความรู้สึกมาใส่เต็มๆ ถือว่าเป็นคอมเมนต์ที่ไร้ประโยชน์โดยสิ้นเชิง เราไม่นับว่าเป็นกระแสสังคม อีกอันเป็นคอมเมนต์ที่เป็นทัศนคติเชิงลบ อ่านเหมือนกัน แต่แทนที่จะช่วยส่งเสริมสังคม กลับลากทุกเรื่องในโลกนี้มาด่าในเคสนี้ได้ แรกๆ ที่เราทำ เราไปกันไม่เป็นนะครับ พอเจอพวกเกรียน เรานั่งจิตตกกัน ทำไมคนเป็นอย่างนี้ เราพยายามเข้าไปอธิบายว่าสิ่งที่คุณคิดมันไม่ใช่ แต่กลายเป็นว่า เมื่อเราอธิบาย ก็เหมือนเราตั้งให้เขาตบไปเรื่อยๆ แต่พอผ่านไปสักระยะ เราเริ่มกรองคนได้ สิ่งที่ตลกที่สุดก็คือคอมเมนต์พวกนี้ พอสู้กันไป พรุ่งนี้มันก็ลืมแล้ว” คุณพิชิตเล่า

บทบาทใหม่ของสื่อออนไลน์

ข้อดีของการเป็นสื่อออนไลน์ โดยเฉพาะในเฟซบุ๊ก คือการเข้าถึงผู้ชมและมีปฏิสัมพันธ์กับ “ลูกเพจ” ได้โดยตรง ทำให้เพจข่าวหลายเพจเพิ่มบทบาทจากการรายงานข่าว เป็นช่องทางรับเรื่องราวร้องทุกข์ ไปจนถึงใช้ความเป็นสื่อเข้ามาชี้นำสังคม ซึ่งหลายครั้งก็บานปลายไปเป็นการใช้ศาลเตี้ยลงโทษผู้กระทำผิด แทนที่จะเข้าสู่กระบวนการตามกฎหมาย ประเด็นนี้ คุณชีวพันธ์มองว่าอาจเป็นเพราะสังคมไทยยังไม่ไว้ใจกระบวนการยุติธรรม และเป็นเพราะทัศนคติที่เชื่อว่าคนจนต้องไม่ได้รับความยุติธรรมเสมอ

“ผมมองว่าสังคมไทยอาจจะไม่มีความไว้ใจในกระบวนการยุติธรรม มันฝังในหัวเขาแล้วว่าคนจนไม่ได้รับความยุติธรรม ก็เลยต้องทำทุกวิถีทางให้ดัง ถ้าดังก็จะได้รับความช่วยเหลือ ผมว่าระบบมันไม่มีความสมบูรณ์อยู่แล้วล่ะ แต่ก่อนที่จะมาถึงอีจัน เราอยากให้เข้าสู่กระบวนการก่อน แล้วค่อยมาหาเรา อย่างน้อย จะได้หรือไม่ได้ คุณทำในระบบแล้ว เพราะว่าการร้องเรียนมันต้องมีหลักฐาน มีชื่อ มีอะไรหลายๆ อย่าง ซึ่งจะทำให้เราทำงานง่ายขึ้น” คุณชีวพันธ์กล่าว

นอกจากนี้ ทั้งคู่ยังกล่าวว่า นับตั้งแต่เปิดเพจมา ก็ได้รับเรื่องราวร้องเรียนหลากหลายประเภท ตั้งแต่แมวหายไปจนถึงคดีโกงโฉนดที่ดิน ซึ่งนอกจากจะรับเรื่องและส่งต่อไปยังหน่วยงานที่เกี่ยวข้องแล้ว คดีใดที่สามารถนำมาทำข่าวได้ ทีมงานเพจอีจันก็จะตรวจสอบเรื่องราวจากผู้เกี่ยวข้องในพื้นที่เกิดเหตุ ก่อนที่จะนำเสนอข่าวด้วย ซึ่งคุณพิชิตเล่าว่า

“สมมติว่ามีเรื่องเดือดร้อนเข้ามา บางครั้งเราขอให้หน่วยงานรัฐในพื้นที่ที่รับผิดชอบช่วยไปตรวจสอบเคสเหล่านั้น พอเราเช็ค เราไม่มั่ว ความน่าเชื่อถือมันก็เกิด คนที่เราช่วยก็บอกกันปากต่อปาก ตอนนี้เรากล้าพูดเลย ทีมข่าวอาชญากรรมของเราทั้งหมดผลิตรายการคุณภาพจริงๆ และจนถึงตอนนี้ยังไม่มีเรื่องเสียหายเกี่ยวกับทีมงานอีจันและนักข่าวของอีจัน แม้กระทั่งนักข่าวภาคสนามที่เราใช้อยู่ อันนี้ต้องฝากขอบคุณพวกเขาทุกคน เพราะว่าเมื่อติดแบรนด์อีจันแล้ว ความเป็นอีจันมันเหมือนละลายอยู่ในดีเอ็นเอจริงๆ”

“ใส่เสื้ออีจันแล้วมีพลัง ต้องมีความรับผิดชอบเหมือนสไปเดอร์แมน” คุณชีวพันธ์เสริม

อย่างไรก็ตาม แม้จะมีบทบาทในการขับเคลื่อนสังคม คุณพิชิตก็ยืนยันว่า เพจอีจันไม่ใช่เพจศาลเตี้ย และไม่ได้ถูกจัดตั้งขึ้นมาเพื่อเอาเปรียบหรือทำร้ายคนอื่น แต่มีหน้าที่นำเสนอเรื่องราวเพื่อให้เกิดกระแสสังคม ซึ่งอาจช่วยให้กระบวนการดำเนินไปอย่างรวดเร็วยิ่งขึ้น

“ความยุติธรรมมันมีจริง แต่คนน่ะใจร้อน เพราะกระบวนการมันโคตรนาน สื่อช่วยได้แค่นำเสนอ ทำให้กระแสสังคมเกิด บีบให้คดีเร็วขึ้น เรามีส่วนช่วยจับตาดูให้กระบวนการและคดีเหล่านั้นเป็นกลางและเป็นจริงมากที่สุด นี่คือหน้าที่ของสื่อที่ช่วยเหลือประชาชน แต่สำหรับคนใจร้อนที่ใจไม่ดี คิดจะยืมมือเราไปทุบคนอื่น เราก็ฉลาดพอ เพราะเราต้องดูแลตัวเอง” คุณพิชิตกล่าว

อีจัน FC

“พอใส่เสื้ออีจัน สิ่งที่เกิดขึ้นคือเราจะโดนซุบซิบ ถ้าเรามีตติ้งกัน แล้วใส่เสื้ออีจันสักประมาณ 5 – 6 คน นั่งกินสตาร์บัคส์ หรือเดินเข้าไปในตึก ก็จะมีคนมาถามว่า ‘พี่...ใครตายเหรอ’” คุณพิชิตเล่าประสบการณ์เมื่อพบกับแฟนคลับของเพจโดยบังเอิญ ซึ่งน่าจะเป็นหลักฐานอย่างดีว่าอีจันเป็นเพจข่าวอาชญากรรมยอดนิยมจริงๆ

“เราถามแฟนๆ ว่าทำไมชอบเพจอีจัน เขาบอกว่า เร็วและไม่ด่าใคร ความชัดเจนที่เรารักษามาตลอดคือความเป็นกลาง มันออกไปแล้วพี่น้องประชาชนเห็นได้ชัด เมื่อไม่เทข้างใคร ไม่คอร์รัปชัน ไม่เล่นการเมือง มันก็เป็นอาชญากรรมที่เป็นอาชญากรรมล้วนๆ และบุคลิกของผู้สื่อข่าวที่เป็นมิตร น่ารัก ไม่รุนแรง ไม่มีความทะนงว่าฉันเป็นสื่อใหญ่ เดินไปงงๆ แต่เวลานำเสนอข่าวชัดเจนมาก แฟนคลับก็เลยเหมือนกับว่าเป็นคนใกล้ชิดกัน เข้าใจกัน เมื่อเขาต้องการความช่วยเหลือ เราช่วยเขาได้”

“ความช่วยเหลือที่เราทำแล้วเราภาคภูมิใจมากก็คือ เวลาเกิดน้ำท่วมหรือภัยพิบัติ เราจะรวมตัวกันกับค่ายใหญ่ แล้วลงไปในพื้นที่ การส่งทีมไปช่วยก็เหมือนเราลงไปอยู่กับเขา ไปเดือดร้อนกับเขา ไปช่วยเขา และในจุดที่ไม่มีใครพูดแทนเขา เราลงไป หลักการคือ ถ้าไม่มีใครช่วยคุณ เดี๋ยวเราพูดผ่านสื่อ ความช่วยเหลือก็จะมา เราไม่ใช่สื่อใหญ่ที่ระดมเงินได้เป็นล้านหรอก แต่เราไปอยู่กับคุณนะ นี่คือสิ่งแฟนเพจเข้าใจ” คุณพิชิตกล่าว

อีจันอะคาเดมี

กระแส Media Disruption ไม่ได้บีบให้สื่ออย่างเพจอีจันต้องปรับบทบาทของตัวเองเท่านั้น แต่ยังจุดประกายให้อีจันอยากส่งต่อความรู้เกี่ยวกับสื่อยุคใหม่ให้สถาบันการศึกษาอื่นๆ ผ่านการบรรยายในสถาบันต่างๆ เพื่อสร้างความมั่นใจให้กับคนรุ่นใหม่ ครูอาจารย์ และผู้ปกครอง ว่าวิชาชีพด้านนิเทศศาสตร์ยังคงมีทางไปอยู่เสมอ

“อาจารย์ที่เป็นรุ่นพี่รุ่นน้องของผมขอให้ผมไปช่วยบรรยาย เพราะเขาเป็นอาจารย์อย่างเดียว ไม่รู้จะอธิบายนักศึกษาอย่างไร เด็กรู้มากกว่าแล้ว โดยเฉพาะนิเทศศาสตร์ วารสารศาสตร์ ที่ทฤษฎีที่สอนมาแทบจะใช้ไม่ได้ หลักการในการนำเสนอมันเปลี่ยนไปหมด สิ่งที่อาจารย์และมหาวิทยาลัยต้องการคือ ให้เราไปเล่าให้ฟังหน่อย ว่าจบไปแล้วหากินอะไรได้ เราเลยจะบอกว่า ไม่ว่าคุณเรียนอะไร ถ้าคุณใช้วิชานิเทศศาสตร์เป็น คุณพูดได้ Content is king. Execution is queen. ช่องทางมีให้คุณเลือกเยอะแยะ เรากลับไปสร้างความมั่นใจให้เด็ก ผู้ปกครอง และอาจารย์ว่า เรียนจบมาหางานได้ แต่ต้องขึ้นอยู่กับตัวเอง เราอยากให้รู้ว่าอาชีพที่เราทำ ใครก็เป็นนักข่าวได้ ถ้าคุณมีมุมมอง วิธีคิด วิธีนำเสนอ กล้าพูด กล้านำเสนอ” คุณพิชิตกล่าว

“เป้าหมายคือทำให้อีจันมันยั่งยืน เป็นสำนักข่าวที่เลี้ยงตัวเองได้ ตอนนี้มันอยู่ในช่วงที่สื่อสารมวลชนมัน disrupt เราก็ทำให้เป็นตัวอย่างว่าถึงมัน disrupt แต่มันก็ยังไปได้” คุณชีวพันธ์กล่าวเสริม

How to be อีจัน

เมื่อในยุคนี้ ใครๆ ก็สามารถเป็นสื่อมวลชนได้ด้วยสมาร์ทโฟนเครื่องเดียว แต่การจะเป็นสื่อที่มีคุณภาพ และรักษามาตรฐานของตัวเองได้ในระยะยาวนั้นอาจไม่ใช่เรื่องง่าย ซึ่งคุณพิชิตกล่าวว่า การจะเป็นเพจข่าวที่มีคุณภาพจะต้องมีต้นทุน 2 อย่าง คือความหลงใหลในสิ่งที่ตนเองสนใจ และความคิดสร้างสรรค์ โดยยกตัวอย่างเพจเกี่ยวกับกีฬา

“ผมถามกลับคำเดียว นาทีแรกที่คุณตื่นจนกระทั่งสิ้นสติบนเตียง คุณหายใจเข้าออกเป็นกีฬาไหม ถ้าคุณหายใจเข้าออกเป็นกีฬา อันนั้นเป็นต้นทุนที่โคตรดี มันคือ inner และ insight ถ้าคุณรักมันจริง คุณจะพูดถึงมันได้ตลอดเวลา อันนี้คือคอนเทนต์ ส่วนวิธีการนำเสนอ เวลาผมสอนเด็ก เด็กมักจะบอกว่า เพจกีฬาเขาทำกันหมดแล้ว ผมก็จะเรียกมาคุย อันที่หนึ่ง ผมเชื่อว่าในมหาสมุทรของโซเชียลมีเดียมันยังมีช่องว่าง เพียงแต่คุณต้องนั่งดูมันอย่างจริงจัง แล้วก็หาช่องให้ได้ พยายามคิด และคิด และคิด ต้นทุนในการทำโปรดักชั่นในปัจจุบันมันไม่มีแล้ว channel คุณก็มี โปรดักชั่นคุณก็ใช้มือถือ โปรแกรมตัดต่อก็ฟรี ถามว่าเพจกีฬาทำได้ไหม ทำได้ ถ้าสมมติจะทำจริง มาปรึกษากันก็ได้ ผมไม่ใช่คนเก่ง ผมแค่เป็นคนช่างคิด โมเดลเดียวกัน จะไปเข้ากับอะไรก็ได้ แต่คุณต้องรู้เรื่องนั้นอย่างจริงจัง” คุณพิชิตกล่าวทิ้งท้าย

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook