แพทย์รามาฯ แจงภาพเอกซเรย์ "ไข่มุก" อืดเต็มท้องเด็กจีน แท้จริงอาจเป็น "อุจจาระ"
จากกรณีสำนักข่าวประเทศจีนรายงานว่า เสี่ยวเฉิน (นามสมมติ) เด็กหญิงวัย 14 ปี ถูกพ่อแม่นำตัวส่งห้องฉุกเฉินของโรงพยาบาลเมื่อวันที่ 28 พ.ค. ที่ผ่านมา หลังจากมีอาการปวดท้องรุนแรง การขับถ่ายอุจจาระมีปัญหา และทานอะไรไม่ลงมาหลายวัน เมื่อทำการซีทีสแกนช่องท้องพบว่า พื้นที่ระบบอาหารภายในร่างกายของเธอ ทั้งกระเพาะ ลำไส้ใหญ่ทุกส่วน และทวารหนัก เต็มไปด้วยไข่มุกจากชานมที่ไม่ย่อย ผสมผสานกับอาหารชนิดอื่นๆ ที่เธอรับประทาน ทำให้อุจจาระเหนียวกว่าปกติ และเป็นอุปสรรคต่อการขับถ่าย
>> สาวน้อยปวดท้องหนัก-ถ่ายไม่ออก หมอตะลึงตรวจเจอ “ไข่มุก” ชานมอืดเต็มท้อง
ล่าสุด (12 มิ.ย.62) เพจเฟซบุ๊กรามาแชนแนล Rama Channel ได้ออกมาให้ความรู้กรณีดังกล่าว โดย นพ.นรินทร์ อจละนันท์ สาขาวิชาโรคทางเดินอาหารและตับ ภาควิชาอายุรศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล ได้ให้ข้อสังเกตว่า ข่าวที่เกิดขึ้นและสิ่งที่เห็นอาจไม่ใช่เรื่องจริงด้วยเหตุผล 2 ประการ คือ
1.ไข่มุกในชานมเป็นแป้ง แต่ภาพในฟิล์มเอกซเรย์ เห็นเป็นสีขาว ซึ่งโดยทั่วไปแล้วการเอกซเรย์จะเห็นเป็นสีขาวได้ สิ่งนั้นต้องมีความแข็งพอสมควร เช่น กระดูก หรือ อุจจาระที่อัดแน่น
2. เม็ดของไข่มุกในชานม เป็นแป้งมันสำปะหลัง เมื่อกินเข้าไปแล้วจะถูกย่อยที่ลำไส้เล็ก เพราะฉะนั้นจึงไม่มีเหตุที่จะเห็นลักษณะเป็นเม็ดๆ ในฟิล์มเอกซเรย์ แต่สิ่งที่เห็นน่าจะเป็นอุจาระที่อัดแน่นมากกว่า
นพ.นรินทร์ ระบุว่า ตัวไข่มุกในชานมไม่น่าจะเป็นสาเหตุของการอุดตันในลำไส้ได้ ยกเว้น ผู้ที่บริโภคมีโรคผิดปกติ เช่น ลำไส้เล็กตีบจากพังผืด ก้อน หรือแผล และโดยทั่วไปเม็ดไข่มุกที่ทำจากแป้งมันสำปะหลังจะไม่สามารถอุดตันในลำไส้ได้ แต่สิ่งที่ผสมในไข่มุกที่ไม่ใช่แป้งหรือเป็นไข่มุกปลอมอาจจะทำให้เกิดการอุดตันได้