“แจ็ค หม่า” ร่วมประชุมยูเอ็น อภิปรายความร่วมมือดิจิทัลระดับโลก
สำนักข่าวซินหัวรายงานว่า เมื่อวันจันทร์ที่ผ่านมา (10 มิ.ย.) แจ็ค หม่า ประธานบริษัทอาลีบาบา กรุ๊ป เข้าร่วมการพูดคุยกับอันโตนีโอ กูเตอร์เรส (Antonio Guterres) และเมลินดา เกตส์ (Melinda Gates) ผู้ก่อตั้งมูลนิธิบิลและเมลินดาเกตส์ เพื่ออภิปรายสดในหัวข้อความร่วมมือด้านดิจิทัลระดับโลกเพื่ออนาคตของอุตสาหกรรมดิจิทัลที่ปลอดภัยและมั่นคงยิ่งขึ้น
การเสวนาระดับโลกที่ออกอากาศทางออนไลน์ครั้งนี้นับเป็นโอกาสอันดีที่จะร่วมอภิปรายว่าภาครัฐ ภาคเอกชน และภาคประชาสังคมจะทำงานร่วมกันอย่างไรให้ตระหนักได้ถึงศักยภาพของเทคโนโลยีดิจิทัล เพื่อพัฒนาความเป็นอยู่ของมนุษย์ให้ก้าวหน้า ขณะเดียวกันก็สามารถบรรเทาความเสี่ยงได้ด้วย
หม่า ประธานบริษัทอาลีบาบา กรุ๊ป และประธานร่วมคณะผู้ทรงคุณวุฒิระดับสูงว่าด้วยความร่วมมือด้านดิจิทัลขององค์การสหประชาชาติ กล่าวว่า “ในยุคดิจิทัลเช่นนี้ ยิ่งคุณเป็นคนที่มีตำแหน่งสูงเท่าใด คุณก็ควรจะแบกรับความรับผิดชอบสูงยิ่งขึ้นด้วย”
หม่ากล่าวว่า หน้าที่ของเขาคือ “หัวหน้าด้านการให้ความรู้” เนื่องจากเขาเป็นผู้ที่ให้ความรู้กับลูกค้าและพยายามชักจูงให้ลูกค้ายังอยู่เคียงข้างกับการพัฒนาเทคโนโลยีเสมอ พร้อมกับระบุว่า “หากคุณไม่ใส่ใจกับความเป็นส่วนตัว หากคุณไม่ใส่ใจกับความปลอดภัยของข้อมูล หากคุณไม่ใส่ใจกับสิทธิมนุษยชน หากคุณไม่ใส่ใจกับความสนใจของสังคม คุณก็อาจจะหายตัวไปอย่างรวดเร็ว”
หม่ากล่าวว่า ทุกวันนี้โทรศัพท์มือถือเป็นอุปกรณ์ที่มีอำนาจมากกว่าคอมพิวเตอร์ส่วนบุคคลในยุค 20 ปีก่อน หากภาครัฐ ภาคเอกชน และภาคประชาสังคมทำงานร่วมกัน ก็จะสามารถออกนโยบายที่ชาญฉลาดร่วมกันได้
ด้านกูเตอร์เรสชี้ให้เห็นความสำคัญของวิธีการที่เน้นคนเป็นศูนย์กลาง โดยกล่าวว่าไม่ใช่เพียงแค่ความรับผิดชอบของรัฐบาล แต่เป็นความรับผิดชอบของสังคม
“ผมคาดหวังความเป็นไปได้ในการสร้างความร่วมมือพหุภาคีที่ครอบคลุม และความเป็นไปได้ที่จะมีการพูดคุยกันและร่วมมือกันระหว่างผู้ที่มีบทบาทสำคัญของแต่ละฝ่าย” กูเตอร์เรสกล่าว โดยเสริมว่าเขาคิดว่าขณะนี้กำลังมีการสร้างเงื่อนไขต่างๆ ขึ้นมาเพื่อให้ได้ข้อกำหนดที่ชาญฉลาดและมีประสิทธิภาพ และได้รับความร่วมมือของทุกฝ่ายในการหลีกเลี่ยงความเสี่ยงต่างๆ ที่มีอยู่ในขณะนี้
ในเวลาเดียวกันนี้ที่ประชากรกว่าครึ่งโลกยังคงไม่สามารถเข้าถึงอินเทอร์เน็ตได้ คณะผู้อภิปรายเรียกร้องให้เกิดการรับรองว่าทุกคนจะต้องเข้าถึงเครือข่ายดิจิทัลได้ด้วยราคาที่จับต้องได้ รวมถึงได้รับบริการทางการเงินและสุขภาพที่จะเข้าถึงได้ทางดิจิทัลภายในปี 2030
นอกจากนี้ ผู้อภิปรายกล่าวว่า สตรีและกลุ่มคนชายขอบก็ต้องได้รับการสนับสนุนด้วยนโยบายเฉพาะที่จะรับรองได้ว่าพวกเขาจะได้รับ “ความครอบคลุมด้านดิจิทัล” อย่างเต็มที่ ในขณะเดียวกันต้องหาวิธีซึ่งต้องได้รับการยอมรับในระดับนานาชาติเพื่อที่จะตรวจวัดความครอบคลุมนั้นด้วย
นอกจากชุมชน องค์กร และปัจเจกบุคคลที่เข้ามาร่วมพูดคุยประเด็นนี้ ตั้งแต่เรื่องความครอบคลุมด้านดิจิทัล สิทธิด้านดิจิทัล ไปจนถึงความปลอดภัยแล้ว ยังมีภาคการปกครองที่มาร่วมการสนทนาออนไลน์ในระหว่างการออกอากาศผ่านเว็บไซต์จากสำนักงานใหญ่องค์การสหประชาชาติด้วย