"เบร็กซิต" คืออะไร เผยอาถรรพ์บีบ 2 นายกฯ อังกฤษลาออกกลางคัน แถมไร้วี่แววสำเร็จ
สหภาพยุโรป (EU) เป็นสหภาพทางเศรษฐกิจและการเมือง พัฒนามาจากประชาคมถ่านหินและเหล็กกล้าแห่งยุโรป (ECSC) และประชาคมเศรษฐกิจยุโรป (EEC) ที่ก่อตั้งขึ้นเมื่อ พ.ศ. 2494 และ พ.ศ. 2501 ตามลำดับ โดยประเทศสมาชิกในภาคพื้นทวีปยุโรป 6 ประเทศ คือ
1) เบลเยียม
2) ฝรั่งเศส
3) เยอรมนี
4) อิตาลี
5) ลักเซมเบิร์ก และ
6) เนเธอร์แลนด์
ที่มีวัตถุประสงค์คือ การจัดตั้ง “ตลาดร่วม” ระหว่างประเทศสมาชิก มีการเคลื่อนย้ายของสินค้า บริการ เงินทุน และผู้คนอย่างไม่มีอุปสรรคใดๆ เหมือนกับ 6 ประเทศนั้นอยู่ในประเทศเดียวกัน แบบว่าอยู่เมืองไทยก็สามารถขนกะหล่ำปลีจากจังหวัดเชียงรายไปขายที่จังหวัดนราธิวาสได้เลย ไม่ต้องเสียภาษีซ้ำซ้อนนั่นเอง
ครั้นใน พ.ศ. 2504 ทางการอังกฤษซึ่งเป็นประเทศเกาะไม่ได้ตั้งอยู่บนภาคพื้นทวีปเห็นประโยชน์ในการเป็นสมาชิกของประชาคมเศรษฐกิจยุโรป แต่โดนปฏิเสธเนื่องจากอังกฤษมักจะแยกตัวออกไปถือว่าตนเองไม่ใช่ส่วนหนึ่งของภาคพื้นทวีปเพราะมีกำหนดกฎเกณฑ์ที่ตรงข้ามกับประเทศในภาคพื้นยุโรป อาทิ การเดินรถที่อังกฤษใช้ข้างซ้ายมือเป็นหลัก ซึ่งตรงกันข้ามกับการเดินรถในภาคพื้นทวีปที่ใช้ทางขวามือเป็นหลัก และการใช้มาตราชั่ง ตวง วัด ก็ไปคนละขั้วโดยทางภาคพื้นทวีปเขาใช้มาตราเมตริก ส่วนอังกฤษก็ใช้มาตราอังกฤษ ฯลฯ
อังกฤษต้องคอยไปอีกกว่า 10 ปีจึงสามารถเข้าเป็นสมาชิกประชาคมเศรษฐกิจยุโรปได้สำเร็จในวันที่ 1 มกราคม พ.ศ. 2516 แต่ก็นั่นแหละครับพออังกฤษเปลี่ยนรัฐบาลจากพรรคอนุรักษ์นิยมไปเป็นพรรคแรงงาน ก็เล่นลวดลายว่าจะขอแยกตัวออกจากประชาคมเศรษฐกิจยุโรป หากไม่ได้สิทธิพิเศษข้อยกเว้นเพิ่มเติมจากประชาคมเศรษฐกิจยุโรปโดยจัดแจงให้มีการลงประชามติครั้งแรกในประวัติศาสตร์ชาติอังกฤษเลยทีเดียวว่าอังกฤษจะอยู่หรือจะแยกตัวออกจากประชาคมเศรษฐกิจยุโรป ทั้งๆ ที่เพิ่งเข้าเป็นสมาชิกได้เพียง 2 ปีเท่านั้น
ผลการลงประชามติครั้งแรกของอังกฤษเมื่อวันที่ 5 มิถุนายน พ.ศ. 2518 (44 ปีมาแล้ว) ชาวอังกฤษลงคะแนนว่าจะยังคงเป็นสมาชิกของประชาคมเศรษฐกิจยุโรปอยู่ดังเดิมด้วยคะแนนแบบขาดลอยไปเลย คือ 67.2% ต้องการคงอยู่ในประชาคมเศรษฐกิจยุโรป มีเพียง 32.8% ที่ต้องการแยกตัวออกไป
ครั้นประชาคมทั้งสองมีขนาดเติบโตขึ้นโดยการเข้าร่วมของสมาชิกใหม่และมีอำนาจมากขึ้นโดยการเพิ่มขอบเขตนโยบายในการจัดการสนธิสัญญามาสทริชท์ สถาปนาสหภาพยุโรปใน พ.ศ. 2536 ประกอบด้วยประเทศสมาชิก 28 ประเทศ ซึ่งตั้งอยู่ในทวีปยุโรปทั้งสิ้น มีพื้นที่ 4,324,782 ตารางกิโลเมตร มีประชากรที่ประเมินกว่า 510 ล้านคน
สหภาพยุโรปพัฒนาตลาดเดี่ยวภายใน มีการผ่านระบบกฎหมายทำให้เป็นมาตรฐานซึ่งใช้บังคับในรัฐสมาชิกทุกประเทศ นโยบายสหภาพยุโรปมุ่งประกันการเคลื่อนย้ายผู้คน สินค้า บริการและทุนอย่างเสรีในตลาดเดี่ยว ตรากฎหมายด้านยุติธรรมและกิจการในประเทศและธำรงนโยบายร่วมกันด้านการค้า เกษตรกรรม การประมงและการพัฒนาภูมิภาค มีข้อตกลงเชงเก้นคือการอนุญาตให้พลเมืองของประเทศสมาชิกสามารถเดินทางระหว่างกันได้โดยไม่ต้องถือหนังสือเดินทาง ซึ่งรวมไปถึงการอนุญาตให้เดินทางเป็นการชั่วคราวให้กับผู้ที่ถือวีซ่าเชงเก้นด้วย
โดยปัจจุบันประเทศที่อยู่ในข้อตกลงเชงเก้นนั้นมี 26 ประเทศ (ยกเว้นอังกฤษ) ซึ่งมีทั้งประเทศสมาชิก มีการตั้งสหภาพการเงินใน พ.ศ. 2542 และมีผลบังคับเต็มที่ในปี 2545 ประกอบด้วยรัฐสมาชิกสหภาพยุโรป 19 ประเทศ (ยกเว้นอังกฤษ) ซึ่งใช้สกุลเงินยูโร
ทั้งนี้ สหภาพยุโรปดำเนินการผ่านระบบผสมระหว่างสหภาพเหนือชาติและความร่วมมือระหว่างรัฐบาล องค์กรตัดสินใจหลัก 7 องค์กร เรียกว่า สถาบันของสหภาพยุโรป ได้แก่ ที่ประชุมยุโรป คณะมนตรีแห่งสหภาพยุโรป รัฐสภายุโรป คณะกรรมาธิการยุโรป ศาลยุติธรรมแห่งสหภาพยุโรป ธนาคารกลางยุโรป และศาลผู้สอบบัญชียุโรป
มีการนำเสนอความเป็นพลเมืองยุโรป การแก้ไขหลักพื้นฐานรัฐธรรมนูญล่าสุดของสหภาพยุโรป นั่นคือ สนธิสัญญาลิสบอน มีผลใช้บังคับในปี 2552 สหภาพยุโรปมีประชากรคิดเป็น 7.3% ของประชากรโลกในปี 2559 สหภาพยุโรปผลิตผลิตภัณฑ์มวลรวมภายใน 16.477 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐ คิดเป็น 22.2% ของจีดีพีราคาตลาดโลก และ 16.9% เมื่อวัดในแง่ความเท่าเทียมกันของอำนาจซื้อ
นอกจากนี้ ประเทศสหภาพยุโรป 26 จาก 28 ประเทศมีดัชนีการพัฒนามนุษย์สูงมาก ตามข้อมูลของโครงการพัฒนาแห่งสหประชาชาติ ในปี 2555 สหภาพยุโรปเคยได้รับรางวัลโนเบลสาขาสันติภาพ รวมทั้งพัฒนาบทบาทด้านความสัมพันธ์ภายนอกและการกลาโหมผ่านนโยบายต่างประเทศและความมั่นคงร่วม อีกทั้งยังมีคณะผู้แทนทางการทูตถาวรทั่วโลกและมีผู้แทนในสหประชาชาติ จัดว่าสหภาพยุโรปเป็นอภิมหาอำนาจปัจจุบันได้เลยทีเดียว
คราวนี้ทางพรรคอนุรักษ์นิยมของอังกฤษใช้ลูกไม้ขู่สหภาพยุโรปว่าอังกฤษจะถอนตัวจากสมาชิกภาพของสหภาพยุโรปหากอังกฤษไม่ได้สิทธิพิเศษที่เป็นข้อยกเว้นหลายข้อจากสหภาพยุโรป ซึ่งทางสหภาพก็ได้อ่อนข้อให้ตามประสงค์ของอังกฤษ แต่ทางพรรคอนุรักษ์นิยมซึ่งเป็นรัฐบาลอังกฤษนั้นต้องจัดการลงประมติตามที่ได้สัญญาหาเสียงไว้ในวันที่ 23 มิถุนายน พ.ศ. 2559 ซึ่งนายกรัฐมนตรีอังกฤษคือ นายเดวิด คาเมรอน ก็ออกไปรณรงค์ให้ชาวอังกฤษลงคะแนนที่จะคงอยู่เป็นสมาชิกของสหภาพยุโรปต่อไปเพราะไปเจรจาได้สิทธิพิเศษมามากมายแล้ว
AFP
>> 9 เหตุผลทำไมอังกฤษต้องออกจากสหภาพยุโรป
>> อะไรจะเกิดขึ้นต่อไป? หลังอังกฤษโหวต Brexit ออกจากอียู
แต่ปรากฏว่าชาวอังกฤษ 51.89% กลับลงคะแนนต้องการถอนตัวออกจากสหภาพยุโรป โดยมีชาวอังกฤษอีก 48.11% ต้องการที่จะคงอยู่ในสหภาพยุโรป เรียกว่าพวกเบร็กซิต (Brexit คือต้องการถอนตัวจากสหภาพยุโรป) ชนะไปอย่างเฉียดฉิว ทำให้นายกรัฐมนตรีเดวิด คาเมรอนต้องลาออกจากตำแหน่งไป เนื่องจากเล่นลูกไม้มากเกินไปนั่นเอง
>> เดวิด คาเมรอน ลาออกจากนายกฯ อังกฤษ หลังผลประชามติ
ส่งผลให้ นางเทเรซา เมย์ รัฐมนตรีมหาดไทยจึงได้ขึ้นเป็นนายกรัฐมนตรีคนต่อไป และได้ดำเนินการเบร็กซิตถึง 3 ปี แต่ก็ยังไม่บรรลุข้อตกลงว่าอังกฤษจะถอนตัวออกจากสหภาพยุโรปอย่างไร?
AFP
>> เทเรซา เมย์ นายกฯ อังกฤษลาออกจากตำแหน่ง หลังเบร็กซิตยังไร้วี่แวว
ครับ! เหมือนกับสามีภรรยาตกลงจะหย่าขาดจากกันแต่แบ่งบุตรแบ่งสมบัติกันยังไม่เป็นที่ตกลงกันได้ จนกระทั่งนางเทเรซา เมย์ต้องยื่นใบลาออกจากตำแหน่งนายกรัฐมนตรีในวันที่ 7 มิถุนายน พ.ศ. 2562 ซึ่งเรื่องเบร็กซิตก็ยังตกลงกับสหภาพยุโรปไม่ได้นะครับ