บุกตรวจค้น 12 จุด ยึดสินค้าเสริมความงามผิดกฎหมาย มูลค่ากว่า 80 ล้านบาท

บุกตรวจค้น 12 จุด ยึดสินค้าเสริมความงามผิดกฎหมาย มูลค่ากว่า 80 ล้านบาท

บุกตรวจค้น 12 จุด ยึดสินค้าเสริมความงามผิดกฎหมาย มูลค่ากว่า 80 ล้านบาท
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

วันนี้ (13 มิถุนายน 2562) นายแพทย์ธเรศ กรัษนัยรวิวงค์ เลขาธิการคณะกรรมการอาหารและยา พร้อมด้วย นายแพทย์สุรโชค ต่างวิวัฒน์ เภสัชกรหญิงสุภัทรา บุญเสริม รองเลขาธิการคณะกรรมการอาหารและยา ร่วมกับ กรมสนับสนุนบริการสุขภาพ (สบส.) นำโดย ทันตแพทย์อาคม ประดิษฐสุวรรณ รองอธิบดีกรมสนับสนุนบริการสุขภาพ และ กรมสอบสวนคดีพิเศษ นำโดย พันตำรวจเอก ไพสิฐ วงศ์เมือง อธิบดีกรมสอบสวนคดีพิเศษ นายมณฑล แก้วเก่า รองอธิบดีกรมสอบสวนคดีพิเศษ พันตำรวจโท พเยาว์ ทองเสน ผู้อำนวยการกองคดีทรัพย์สินทางปัญญา และพันตำรวจโท นิรุติ พัฒนรัฐ รองผู้อำนวยการกองคดีทรัพย์สินทางปัญญา ร่วมกันแถลงข่าวต่อสื่อมวลชนว่าได้สนธิกำลังเข้าตรวจค้นเป้าหมาย 12 จุด

ซึ่งจากการสืบสวนพบว่าเป็นขบวนการนำเข้าและตัวแทนจำหน่ายสินค้าเสริมความงาม เช่น โบท็อกซ์ ฟิลเลอร์ ฯลฯ ลักลอบนำเข้าและเป็นผลิตภัณฑ์ยาที่ละเมิดเครื่องหมายการค้าของบุคคลอื่นที่จดทะเบียนไว้แล้วในราชอาณาจักร จำหน่ายให้กับลูกค้าหลายกลุ่ม ได้แก่ กลุ่มลูกค้าที่เป็นคลินิก กลุ่มลูกค้าที่ซื้อยาไปใช้เอง และกลุ่มลูกค้าที่นำยาไปรับจ้างฉีดให้กับบุคคลอื่นทั้งในกรุงเทพมหานครและต่างจังหวัด

โดยเป้าหมายดังกล่าวได้กระจายสินค้าทางไปรษณีย์เอกชนหรือฝากให้รถจักรยานยนต์รับจ้างนำส่งสินค้าให้กับลูกค้าอีกต่อหนึ่ง ส่วนลูกค้าที่อยู่ต่างจังหวัดจะฝากส่งต่อให้กับรถตู้โดยสารประจำทาง หรือรถทัวร์ประจำทางตามสถานีขนส่งแล้วแต่กรณี พบยังมีเครือข่ายที่เป็นลูกค้ารับสินค้ามาจำหน่ายให้กับลูกค้าผ่านอินสตาแกรม (IG) แอปพลิเคชั่นไลน์ โดยเช่าห้องพักในอาคารเป็นสถานที่เก็บสินค้าและส่งสินค้าประเภทยาฉีดโบท็อกซ์ ยาฉีดกลูตาไธโอน ยาฉีดสเต็มเซลล์ ยาฉีดรกแกะ ยาฉีดลดไขมัน และยาเสริมความงามประเภทอื่น เป็นต้น โดยนำสินค้าไปกระจายเก็บซุกซ่อนในสถานที่ต่างๆ หลายจุดทั่วกรุงเทพมหานคร ซี่งในการตรวจค้นครั้งนี้ได้แบ่งกำลังกันเข้าตรวจค้นเป้าหมาย ดังนี้

1. บ้านเลขที่ 167 (หมู่บ้านการเคหะนคร ซอย 46) ซอยพัฒนาการ 52 แขวงพัฒนาการ เขตสวนหลวง กรุงเทพฯ บ้านพักอาศัย 1 ชั้น มีบริเวณเป็นสถานที่หลักในการเก็บและกระจายสินค้าไปยังลูกค้า

2. บ้านเลขที่ 122/142 (หมู่บ้านศรีวรา) ซอยรามคำแหง 63/1 ถนนรามคำแหง แขวงหัวหมาก เขตบางกะปิ กรุงเทพฯ (ลักษณะเป็นทาวน์เฮ้าส์ 2 ชั้น)

3. บ้านเลขที่ 146/94 (หมู่บ้านคอลเลจทาวน์ ซอย 10) ซอยรามคำแหง 24 แยก 34 แขวงหัวหมาก เขตบางกะปิ กรุงเทพฯ (ลักษณะเป็นทาวน์เฮ้าส์ 2 ชั้น ไม่มีผู้พักอาศัย)

4. บ้านเลขที่ 769 (หมู่บ้านสินธร ซอย 3) ถนนแฮปปี้แลนด์ แขวงคลองจั่น เขตบางกะปิ กรุงเทพฯ (ลักษณะเป็นทาวน์เฮ้าส์ 2 ชั้น ไม่มีผู้พักอาศัย)

5. บ้านเลขที่ 1240 (หมู่บ้านเสนาวิลล่า 84 ซอย 24) ซอยแฮปปี้แลนด์ 1 แยก 3 ถนนแฮปปี้แลนด์ แขวงคลองจั่น เขตบางกะปิ กรุงเทพฯ (ลักษณะเป็นทาวน์เฮ้าส์ 2 ชั้น ไม่มีผู้พักอาศัย)

6. บ้านเลขที่ 13/301(1015) ถนนอินทราภรณ์ แขวงพลับพลา เขตวังทองหลาง กรุงเทพฯ (ลักษณะเป็นทาวน์เฮ้าส์ 2 ชั้น ไม่มีผู้พักอาศัย)

7. บ้านเลขที่ 85/95 (หมู่บ้านเกนุติการ์เด้น) ซอยลาดพร้าว 94 ถนนลาดพร้าว แขวงพลับพลา เขตวังทองหลาง กรุงเทพฯ (ลักษณะเป็นทาวน์เฮ้าส์ 2 ชั้น ไม่มีผู้พักอาศัย)

8. บริษัทเดอร์มาลิงค์ จำกัด อาคาร AIA CAPITAL CENTER บ้านเลขที่  89 ห้อง 804 ชั้น 8 ถนนรัชดาภิเษก แขวง/เขตดินแดง กรุงเทพฯ (บริษัทเซ่าพื้นที่อยู่ในอาคาร)

9. บริษัทเอเมค อินเตอร์เนชั่นแนล กรุ๊ป จำกัด อาคาร AIA CAPITAL CENTER บ้านเลขที่  89 ห้อง 804 ชั้น 8 ถนนรัชดาภิเษก แขวง/เขตดินแดง กรุงเทพฯ (บริษัทเซ่าพื้นที่อยู่ในอาคาร)

10. อาคารรัชดาเพลส อพาร์ทเมนท์ เลขที่ 335  ชั้น 1 (ห้องที่ 3 ขวามือ) ซอยรัชดาภิเษก 13 ถนนรัชดาภิเษก แขวง/เขตดินแดง กรุงเทพฯ (ห้องเช่าอพาร์ทเมนท์)

11. คลินิก เอเมค สาขาทองหล่อ อาคารฟิฟตี้ฟิฟ (fifty fifth) ชั้นที่ 2 เลขที่ 90 ซอยทองหล่อ สุขุมวิท 55 แขวงคลองตันเหนือ เขตวัฒนา กรุงเทพฯ

12. คลินิก เอเมค สาขาสีลม อาคารดวงทิพย์ เลขที่ 68/1 ชั้น 4 ถนนสีลม แขวงสุริยวงศ์ เขตบางรัก กรุงเทพฯ

ซึ่งในคดีนี้ กรมสอบสวนคดีพิเศษได้ดำเนินการสืบสวนติดตามการกระทำความผิดของขบวนการนี้มาเป็นระยะเวลานานแล้ว ซึ่งเมื่อมีพยานหลักฐานว่ามีการกระทำความผิดจริง จึงได้รับไว้เป็นคดีพิเศษที่ 30/2560 ซึ่งจากการตรวจค้นในครั้งนี้ พบของกลางเป็นยาที่ไม่ได้ขึ้นทะเบียนตำรับยา ยาที่ละเมิดเครื่องหมายการค้าของบุคคลอื่นที่จดทะเบียนไว้แล้วในราชอาณาจักร นอกจากนี้ ยังพบเครื่องสำอางที่ไม่จดแจ้งและไม่มีฉลากภาษาไทย เช่น ยาฉีดกลูตาไธโอน ยาฉีดสเต็มเซลล์ ยาฉีดรกแกะ ยาฉีดโบท็อกซ์ และยาฉีดลดไขมัน โดยมูลค่าของกลางรวมทั้งสิ้นประมาณ 80 ล้านบาท ซึ่งการกระทำดังกล่าวมีความผิดตาม

พระราชบัญญัติยา พ.ศ. 2510

1. นำเข้าและขายยาที่ไม่ได้ขึ้นทะเบียนตำรับยา ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน 3 ปี หรือปรับไม่เกิน 5,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ

2. นำเข้าและขายยาแผนปัจจุบันโดยไม่ได้รับอนุญาต ต้องระวางโทษจำไม่เกิน 5 ปี และปรับไม่เกิน 10,000 บาท

พระราชบัญญัติเครื่องสำอาง พ.ศ. 2558

1. จำหน่ายเครื่องสำอางที่ไม่จดแจ้ง ต้องระวางโทษปรับไม่เกิน 20,000 บาท  

2. จำหน่ายเครื่องสำอางที่ไม่แสดงฉลากภาษาไทยและเครื่องสำอางที่แสดงฉลากภาษาไทยไม่ครบถ้วน ไม่ถูกต้อง ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน 1 เดือน หรือปรับไม่เกิน 10,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ

พระราชบัญญัติเครื่องหมายการค้า พ.ศ. 2534

1. จำหน่าย เสนอจำหน่าย มีไว้เพื่อจำหน่ายซึ่งสินค้าที่มีเครื่องหมายการค้าปลอมเครื่องหมายการค้าของผู้อื่นที่ได้จดทะเบียนไว้แล้ว ในราชอาณาจักร ต้องระวางโทษ จำคุก ไม่เกิน 4 ปีหรือปรับไม่เกิน 400,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ

2. จำหน่าย เสนอจำหน่าย มีไว้เพื่อจำหน่ายซึ่งสินค้าที่มีเครื่องหมายการค้าเลียนเครื่องหมายการค้าของผู้อื่นที่ได้จดทะเบียนไว้แล้ว ในราชอาณาจักร ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน 2 ปีหรือปรับไม่เกิน 200,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ

พระราชบัญญัติศุลกากร พ.ศ. 2560

นอกจากนี้ ยังมีความผิดตามกฎหมายของศุลกากรฐานนำเข้าของที่ยังไม่ได้ผ่านพิธีการศุลกากร หรือเคลื่อนย้ายโดยไม่ได้รับอนุญาตจากศุลกากร โทษจำคุกไม่เกิน 10 ปี หรือปรับ 4 เท่า ของราคาของที่รวมค่าอากรด้วยแล้ว หรือทั้งจำทั้งปรับและริบของนั้นด้วย

ด้านนายแพทย์สุรโชค ต่างวิวัฒน์ รองเลขาธิการคณะกรรมการอาหารและยา กล่าวว่า อย.พร้อมร่วมมือกับทาง DSI และ สบส. กวาดล้างสินค้าละเมิดลิขสิทธิ์เพราะผลิตภัณฑ์ดังกล่าวไม่ทราบว่าผลิตที่ใด สถานที่ผลิตได้มาตรฐานหรือไม่ ตัวยาเป็นตัวยาจริงหรือไม่ อาจมีการปนเปื้อนสิ่งแปลกปลอมที่เป็นอันตราย การเก็บรักษาไม่อยู่ในอุณหภูมิที่เหมาะสมอาจส่งผลต่อคุณภาพของตัวยาที่ก่อให้เกิดอันตรายอย่างร้ายแรงถึงแก่ชีวิตได้

ขณะที่ทันตแพทย์อาคม ประดิษฐสุวรรณ รองอธิบดีกรมสนับสนุนบริการสุขภาพ ได้กล่าวเตือนไปยังผู้ประกอบวิชาชีพเวชกรรมและสถานพยาบาลทุกแห่ง ทั้งแพทย์ผิวหนัง แพทย์ศัลยกรรม แพทย์ด้านความงาม จะต้องปฏิบัติตามกฎหมายอย่างเคร่งครัด ต้องมีจรรยาบรรณแห่งวิชาชีพ ต้องใช้ยาที่มีทะเบียนตำรับยาและให้การบริการเป็นไปตามมาตรฐาน หากพบการกระทำความผิดจะถูกดำเนินคดีอย่างเคร่งครัด กรณีแพทย์เป็นผู้กระทำผิดกฎหมายจะถูกส่งไปยังแพทยสภาให้ดำเนินการเอาผิดทางจรรยาบรรณแพทย์ต่อไป

ด้านพันตำรวจเอก ไพสิฐ วงศ์เมือง อธิบดีกรมสอบสวนคดีพิเศษ แจ้งการกระทำของกลุ่มบุคคลดังกล่าวเข้าเป็นความผิดทางอาญาฐาน “จำหน่าย เสนอจำหน่าย และมีไว้เพื่อจำหน่ายซึ่งสินค้าที่มีเครื่องหมายการค้าปลอมและเลียนเครื่องหมายการค้าของบุคคลอื่นที่ได้จดทะเบียนไว้แล้วในราชอาณาจักร” จึงขอเตือนผู้ที่ลักลอบนำเข้ายาที่ผิดกฎหมายเข้ามาในราชอาณาจักร ขอให้คำนึงถึงความปลอดภัยของผู้บริโภคเป็นหลัก และคำนึงถึงประเทศชาติที่การกระทำดังกล่าวอาจส่งผลกระทบอย่างรุนแรงต่อความสัมพันธ์ระหว่างประเทศและระบบเศรษฐกิจของประเทศ อาจส่งผลกระทบต่อการตัดสิทธิพิเศษทางการค้าทำให้สินค้าไทยบางรายการไม่สามารถแข่งขันกับต่างประเทศได้ เนื่องจากประเทศไทยได้รับการจัดอันดับตามมาตรา 301 พิเศษของประเทศสหรัฐอเมริกาให้อยู่ในระดับ Watch List (WL) ซึ่งกรมสอบสวนคดีพิเศษมุ่งหวังจะให้ประเทศไทยหลุดพ้นจากทุกบัญชีที่ถูกจับตามองของต่างประเทศ นอกจากนี้ กรมสอบสวนคดีพิเศษพร้อมที่จะดำเนินการกับผู้กระทำความผิด โดยใช้กฎหมายทุกประเภทกับผู้กระทำความผิด รวมถึงกฎหมายว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการฟอกเงินด้วย

เภสัชกรหญิงสุภัทรา บุญเสริม รองเลขาธิการคณะกรรมการอาหารและยา กล่าวในตอนท้ายว่า ปัจจุบันพบว่าสาวไทยส่วนใหญ่ชอบที่จะเข้ารับบริการเสริมความงามตามคลินิกที่มีอยู่มากมาย ทำให้มีโฆษณาขายยาฉีดฟิลเลอร์ ฉีดโบท็อกซ์ ฉีดคอลลาเจน ฉีดกลูตาไธโอน และเครื่องสำอางอย่างแพร่หลายผ่านทางเว็บไซต์ รวมทั้งติดหน้าร้านเสริมความงาม จึงขอเตือนประชาชนโดยเฉพาะสาวๆ ทั้งรุ่นเล็กรุ่นใหญ่ ให้ระวังการเข้ารับบริการ

หากผู้บริโภครายใดมีความประสงค์ที่จะฉีดสารใดๆ เพื่อความสวยงาม ควรเข้ารับบริการฉีดกับสถานพยาบาลที่มีใบอนุญาตประกอบสถานพยาบาลตามกฎหมายและเลือกคลินิกที่มีแพทย์ผู้เชี่ยวชาญและต้องอยู่ประจำ ก่อนการฉีดควรสอบถามและขอดูตัวยาที่ใช้ว่ามีการอนุญาตขึ้นทะเบียนถูกต้องตามกฎหมายจาก อย. หรือไม่ และขอย้ำเตือนไปยังผู้บริโภคอย่าซื้อยาไปใช้เอง หรือฉีดกับหมอเถื่อน อาจเสี่ยงต่อการเสียชีวิต เพราะการฉีดบนใบหน้าต้องดำเนินการโดยแพทย์ที่มีความรู้ด้านกายวิภาคบนใบหน้าเป็นอย่างดี เนื่องจากบนใบหน้ามีกล้ามเนื้อเล็กๆ และเส้นเลือดมากมาย จึงต้องฉีดด้วยความระมัดระวัง หากเกิดอันตรายจากการแพ้ ทางสถานพยาบาลจะได้รับผิดชอบและช่วยเหลือได้ทันท่วงที

ที่ผ่านมา อย. ได้ตรวจสอบคลินิกและสถานพยาบาลเสริมความงาม พบว่ามีการนำสารฟิลเลอร์ โบท็อกซ์ คอลลาเจน กลูตาไธโอน ที่ไม่ผ่านการขึ้นทะเบียน มาใช้ในสถานพยาบาล ซึ่ง อย. มีการตรวจจับผลิตภัณฑ์สุขภาพที่ผิดกฎหมายอยู่เสมอ และหากผู้บริโภคพบเห็นผลิตภัณฑ์สุขภาพผิดกฎหมาย หรือพบผลิตภัณฑ์ที่ต้องสงสัย สามารถแจ้งร้องเรียนได้ที่สายด่วน อย. 1556 หรือ E-mail:1556@fda.moph.go.th หรือตู้ ปณ.1556 ปณฝ. กระทรวงสาธารณสุข จ.นนทบุรี 11000 หรือผ่านทาง Oryor Smart Application หรือ LINE @FDAthai หรือสำนักงานสาธารณสุขจังหวัดทั่วประเทศ เพื่อ อย. จะทำการตรวจสอบและดำเนินการทางกฎหมายกับผู้ที่กระทำผิดต่อไป

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook