“แคร์รี หล่ำ” ผู้ว่าฯ ฮ่องกงอยู่ยาวถึง 2565 ชี้อำนาจปลดอยู่ที่ “สี จิ้นผิง”
โฆษกรัฐบาลจีนเมินการเรียกร้องของชาวฮ่องกงที่กดดัน แคร์รี หล่ำ ลาออกจากตำแหน่ง เผยอำนาจตัดสินใจอยู่ที่ “สี จิ้นผิง” ส่วนการต่อต้านกฎหมายส่งผู้ร้ายข้ามแดนนั้นเคารพการเคลื่อนไหวของอีกฝ่าย
วันนี้ (18 มิ.ย. 62) สำนักข่าวต่างประเทศรายงานจากกรุงปักกิ่ง ประเทศจีน ว่า นายลู่ คัง โฆษกกระทรวงการต่างประเทศจีน แถลงเมื่อวันจันทร์ ว่านางแคร์รี หล่ำ จะดำรงตำแหน่งหัวหน้าคณะผู้บริหารเกาะฮ่องกงจนครบวาระ 5 ปี คือในปี 2565
พร้อมกันนี้รัฐบาลปักกิ่งก็ยังสนับสนุนและเคารพการตัดสินใจของอีกฝ่าย ในการเลื่อนการอภิปรายและพิจารณาร่างกฎหมายเนรเทศผู้กระทำความผิดสัญชาติใดก็ตาม “ในคดีอาญาอุกฉกรรจ์” กับมาเก๊า ไต้หวัน และจีน “ออกไปอย่างไม่มีกำหนด” ซึ่งเมื่อสัปดาห์ที่แล้วเกิดการประท้วงอย่างงรุนแรง มีการปะทะกันระหว่างเจ้าหน้าที่กับประชาชน จนมีผู้ได้รับบาดเจ็บมากกว่า 80 คน ในจำนวนนี้เป็นตำรวจปราบจลาจล 22 นาย
>> เจ็บ 72 คน ตำรวจฮ่องกงปะทะม็อบ ผู้ว่าฯ ประณามก่อจลาจล
ด้านแหล่งข่าวในการประชุมฉุกเฉินของคณะผู้บริหารฮ่องกงเผยว่า การพ้นจากตำแหน่งของนางหล่ำไม่ว่าด้วยวิธีใดก็ตาม “จะไม่เกิดขึ้น” ต่อให้เธอเสนอตัวลาออกก็ตาม เนื่องจากนางหล่ำถือเป็น “เจ้าหน้าที่ของรัฐบาลแผ่นดินใหญ่” ด้วยเหตุนี้ บุคคลที่มีอำนาจชี้ขาดในเรื่องนี้คือประธานาธิบดี สี จิ้นผิง ผู้นำจีนเพียงคนเดียวเท่านั้น
ทั้งนี้ บรรยากาศการเมืองของฮ่องกงถือเป็น “เรื่องละเอียดอ่อน” นับตั้งแต่สหราชอาณาจักรส่งมอบเกาะแห่งนี้กลับคืนให้แก่จีนเมื่อวันที่ 1 ก.ค. 2540 ภายใต้ข้อตกลง “1 ประเทศ 2 ระบบ” หมายความถึงการที่ฮ่องกงมีสถานะเขตบริหารพิเศษของแผ่นดินใหญ่ เป็นเวลา 50 ปี หรือจนถึงปี 2590
ขณะที่การเคลื่อนไหวทางการเมืองครั้งใหญ่ของชาวฮ่องกงลักษณะนี้ไม่ใช่ครั้งแรก ย้อนกลับไปเมื่อปี 2546 ชาวฮ่องกงชุมนุมประท้วงต่อต้านร่างกฎหมายแก้ไขมาตรา 23 ของกฎหมายพื้นฐาน หรือ “เบสิกลอว์” ที่มีสาระสำคัญเกี่ยวกับการที่ฮ่องกงควรมี “กฎหมายเป็นของตัวเอง” เพื่อป้องกันการปลุกระดมและความพยายามก่อการให้เกิดการแบ่งแยกดินแดน หรือการกบฏ
แต่การชุมนุมครั้งนั้นส่งผลให้นายตง ชีหว่า ผู้บริหารฮ่องกงคนแรก ลาออกจากตำแหน่งกลางสมัยที่ 2 โดยให้เหตุผลเรื่องสุขภาพ และรัฐบาลฮ่องกงเลื่อนการพิจารณาเรื่องดังกล่าวออกไปอย่างไม่มีกำหนด
>> คนฮ่องกงนัดแต่งชุดดำออกเดินขบวน ประณามตำรวจสลายเหตุประท้วง