"Gray Zones" ภาพถ่ายชีวิตธรรมดาใน "3 จังหวัดชายแดนภาคใต้"
นับเป็นเวลานานหลายปีแล้วที่ข่าว “3 จังหวัดชายแดนภาคใต้” ปรากฏในสื่อต่างๆ ด้วยเหตุรุนแรงที่เกิดขึ้นบ่อยครั้ง จนทำให้พื้นที่แห่งนี้ถูกขนานนามว่าเป็น “พื้นที่สีแดง” ที่ถูกมองว่าเป็นแหล่งซ่องสุมของผู้ก่อการร้าย เต็มไปด้วยระเบิดรายวัน เป็นพื้นที่ที่เหมาะจะส่งเหล่านักเลงหัวไม้ไปดัดนิสัย ไปจนถึงการบัญญัติคำเรียกอย่างเหมารวมว่า “โจรใต้” แม้คนหลายกลุ่มจะพยายามนำเสนอภาพความปลอดภัยในพื้นที่ ซึ่งต่างจากที่สื่อนำเสนอ แต่ดูเหมือนภาพเหล่านั้นก็ยังไม่สามารถฝ่าปราการแห่งอคติออกมาสู่สายตาคนภายนอกได้เท่าที่ควร
แต่ท่ามกลางกระแสความเกลียดกลัว “โจรใต้” ก็ยังมีความพยายามครั้งใหม่ในการนำเสนอวิถีชีวิตของคนใน 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ ผ่านภาพถ่ายที่ว่าด้วย “ความธรรมดา” ในพื้นที่ ในนิทรรศการ “Gray Zones” นิทรรศการภาพถ่ายฝีมือ “ยศธร ไตรยศ” ช่างภาพอิสระ
เดินทางสู่ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้
ด้วยความสนใจในเรื่องการเมืองและสิทธิของประชาชน คุณยศธรเริ่มต้นทำงานด้านสื่อสารองค์กรให้กับ NGO แห่งหนึ่ง ควบคู่ไปกับการถ่ายภาพ ซึ่งเขาเล่าว่างาน NGO นี้ได้นำพาเขาไปสู่การเล่าเรื่องของผู้คนผ่านภาพถ่าย และยังทำให้เขาได้เรียนรู้ชีวิตของคนตัวเล็กๆ ที่ส่งผลต่อนโยบายระดับชาติ ไม่ว่าจะเป็นกลุ่มชาติพันธุ์ต่างๆ แรงงานจากประเทศเพื่อนบ้าน จนได้เดินทางไปยังพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ ที่ใครๆ ก็ว่าน่ากลัวเป็นครั้งแรก ซึ่งเขายอมรับว่าตอนนั้นก็มีความกลัวเป็นธรรมดา แต่เมื่อเดินทางไปถึง เขากลับพบว่าพื้นที่แห่งนี้ไม่ได้น่ากลัวอย่างที่คิด
“เรื่องที่เราเคยกังวล เคยรู้สึกว่ามันต้องน่ากลัวจากภาพที่เราเห็นภายนอก มันก็ไม่ได้ขนาดนั้น มันยังมีชีวิตชีวา มีความน่าสนุก มีแหล่งท่องเที่ยว มีร้านกาแฟชิคๆ มีอาร์ตแกลเลอรีสวยๆ เหมือนที่อื่นๆ แหละ แต่ภาพที่มันออกไปทำให้คุณคิดว่านี่คือพื้นที่สีแดงนะ ถ้าคุณเดินอยู่ คุณอาจจะโดนยิงหรือโดนระเบิด ที่จริงคนมันไม่ได้ตายกันง่ายขนาดนั้น ส่วนใหญ่มันไม่ได้เกิดขึ้นแบบ คุณเดินอยู่แล้วก็เกิดระเบิดตาย มันก็เหมือนที่อื่นน่ะ มีทั้งดีและไม่ดี เป็นธรรมดาของทุกพื้นที่” คุณยศธรกล่าว
ด้วยข้อมูลจากภาครัฐที่ไม่มีความชัดเจน คุณยศธรมองว่า พื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ ดูเหมือนมีบางอย่างคลุมทับอยู่ ภาพที่ออกมาก็มีแต่ภาพความรุนแรง และไม่มีใครลงมาทำงานในพื้นที่แห่งนี้อย่างจริงจังด้วยข้อจำกัดหลายอย่าง ประกอบกับการที่สังคมดูเหมือนจะ “หันหลัง” ให้กับสถานการณ์ความรุนแรง และเพิกเฉยต่อชะตากรรมของผู้คนในพื้นที่ เขาจึงเลือกที่จะกลับไปยังที่นั่นอีกครั้ง เพื่อสื่อสารภาพชีวิตธรรมดาของคนที่นั่นให้คนภายนอกรับรู้
“เรารู้สึกว่าคนส่วนใหญ่หันหลังให้กับปัญหาสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ คือไม่รู้สึกเชื่อมโยงกับคนในพื้นที่นั้นแล้ว มันทำให้ผู้มีอำนาจทำอะไรกับตรงนั้นก็ได้ เพราะไม่มีใครสนใจ เมื่อเขาจะทำอะไรบางอย่าง หรือละเมิดใครบางคน ก็จะใช้ข้ออ้างว่ามันเป็นเรื่องของความมั่นคง พอเจอเรื่องความมั่นคงเข้าไป ทุกคนก็จะรู้สึกว่ามันจำเป็น เขาไม่ได้สนใจแล้วว่าตรงนี้มีอะไรดี”
“เหตุผลพื้นฐานสุดๆ ของงานชุดนี้ ก็คือเราต้องทำให้เขาอยู่ในพื้นที่สื่อ ที่จับตาดูว่าเกิดอะไรขึ้นกับคนที่นี่ ใครเป็นคนทำ จับคนร้ายได้จริงไหม เหมือนกับคดีอื่นๆ ที่เกิดขึ้นในพื้นที่อื่นแล้วอยู่หน้าสื่อ ซึ่งพอมันเกิดขึ้นใน 3 จังหวัด เราจะรู้แค่ว่าเกิดระเบิดขึ้นกี่จุด ใครตายบ้าง ตายกี่คน จับคนร้ายได้ไหม จบ แล้วก็หายไป แต่เบื้องหลังคุณจับคนร้ายตัวจริงหรือเปล่า จับแพะหรือเปล่า ถ้าเป็นที่อื่น ตำรวจจับได้เร็วคือจับแพะ แต่พอเป็นที่ 3 จังหวัด เออ ตำรวจทำงานดี ฝ่ายความมั่นคงทำงานดี จับคนร้ายได้แล้ว ไม่มีใครตั้งคำถามว่าคุณรู้ได้อย่างไรว่าเป็นคนนี้จริง” คุณยศธรระบุ
ชีวิตธรรมดาในพื้นที่ไม่ธรรมดา
“ในพื้นที่อื่นของประเทศ เราอาจจะเป็นคนส่วนใหญ่ แต่ถ้าคุณลงไปตรงนั้น คุณจะรู้สึกได้เลยว่าเราเป็นคนส่วนน้อย อย่างเดือนรอมฎอนที่ผ่านมา ถ้าคุณจะหาข้าวกินตอนกลางวันก็จะหายากหน่อย เพราะว่าเขาปิดกันหมด กิจวัตรหรือระบบต่างๆ ในพื้นที่ มันจะสอดรับกับวิถีชีวิตของเขาที่อิงอยู่กับศาสนา ก็คล้ายๆ กับเวลาที่คุณเข้าไปในชุมชนปกาเกอะญอหรือชุมชนชาวเล มันก็จะมีวิถีของเขาอยู่ เพียงแต่วิถีของ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้มันกินพื้นที่ค่อนข้างกว้าง แล้วก็เป็นระบบเศรษฐกิจที่ออกแบบมาเพื่อให้สอดคล้องกับวิถีชีวิตที่อิงกับศาสนา มันก็เลยดูพิเศษหน่อย” คุณยศธรเล่าภาพรวมจากการลงพื้นที่ไปใช้ชีวิตใน 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ ซึ่งเขามองว่าไม่ใช่เรื่องยาก เพราะเมื่อก้าวข้ามอคติบางอย่างในใจ เขาพบว่าการทำงานครั้งนี้ก็เหมือนกับการเที่ยวต่างจังหวัดหรือต่างประเทศ เพียงแต่ต้องมีเครื่องมือที่ช่วยสร้างความสัมพันธ์กับคนในพื้นที่ คือเวลาและ “คอนเนคชั่น” ที่ดี
“ถ้าเราลงไปเองเลย มันก็อาจจะต้องใช้เวลานาน เพราะว่าความอึมครึมและความไม่ไว้ใจกันมันมีจริง เราสัมผัสได้ แต่เรามีคนในพื้นที่ที่พูดภาษามลายูพาเข้าไปในพื้นที่ต่างๆ เขาก็แนะนำได้ว่าเรามาทำอะไร ถามว่าเขาให้การต้อนรับเราดีไหม โอเคมากๆ ก็คล้ายๆ ไทยพุทธหรือคนไทยทั่วไป คือไปไหนก็มีข้าวกิน ข้าว น้ำชา ขนม ต้องมีติดบ้านไว้สำหรับแขก แต่เราต้องชัดเจนว่าเรามาทำอะไร เราต้องบอกว่ารูปถ่ายที่เราได้ ถ้าเราจะใช้ จะเอาไปใช้ที่ไหน ไม่ได้สัญญาแต่ว่าเราจริงจัง ขอให้เชื่อใจว่าเวลาที่เราอยู่ที่นี่ เราจะไม่ก่อปัญหา ก็พูดเปิดอกกันตั้งแต่ทีแรก บางอย่างมันต้องใช้เวลา แต่ถ้าเราใช้เวลาในพื้นที่จริงๆ ทุกอย่างมันเป็นไปได้” คุณยศธรเล่า
เรื่องราวในภาพถ่าย
นอกเหนือจากมิตรภาพที่ได้รับจากคนในชุมชน สิ่งที่คุณยศธรสัมผัสได้อีก คือภายใต้ชีวิตประจำวันที่ธรรมดา ไม่ต่างจากพื้นที่อื่นๆ ยังมีการกดทับและความไม่เป็นธรรมที่คนในพื้นที่ต้องประสบมาอย่างยาวนาน และมีแนวโน้มที่จะคงอยู่ต่อไป ตามสถานการณ์ความรุนแรงที่ไม่มีทีท่าว่าจะลดลง
“มันมีเรื่องการถูกคุกคามหรือความรู้สึกไม่ปลอดภัย การถูกเยี่ยมเยียนโดยแขกที่ไม่ได้รับเชิญ เราอาจจะรู้สึกว่าเต็มที่มันก็มีแค่ด่านตรวจ แล้วคุณไม่ได้ทำอะไรผิด ก็ไม่ต้องกลัวอะไร แต่ในความเป็นจริงมันไม่ได้มีแค่นั้น การล่วงละเมิดหรือการถูกคุกคามมันเกิดขึ้นตลอดเวลา” คุณยศธรเล่าถึงสถานการณ์ที่ไม่ธรรมดา ซึ่งซุกซ่อนอยู่ในชีวิตประจำวันของคนในพื้นที่ โดยเฉพาะการจับกุมตัวและล่วงละเมิดเพื่อให้รับสารภาพ เมื่อมีเหตุรุนแรงเกิดขึ้น ซึ่งคุณยศธรมองว่า ไม่ว่าคนเหล่านั้นจะเป็นผู้ก่อเหตุจริงหรือไม่ วิธีการได้มาซึ่งข้อมูลที่อาจละเมิดสิทธิมนุษยชนและทำลายศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์นั้นก็ไม่ใช่วิธีที่ถูกต้อง
“เราไม่เคยไปคะยั้นคะยอให้เขาเล่า มันจะมีจังหวะที่เราเปิดอกคุยกัน บรรยากาศที่เขาโอเค แล้วเขาจะพร้อมเล่าให้ฟัง เรารู้สึกว่าสิ่งที่เขาต้องการอย่างแรกๆ เลย คือคนที่รับฟังอย่างเข้าใจ เชื่อว่าเขาโดนอะไรมาจริงๆ นะ ถ้าคนนอกพื้นที่อย่างเราเชื่อมั่นในตัวเขา รับฟังเขา เขาจะเปิดใจ เขาไม่เคยรู้สึกว่าคนนอกจะรับฟังหรือมองเขาในด้านดี เขามักจะคิดว่าคนในพื้นที่อื่น คนในกรุงเทพจะมองว่าที่นี่อันตราย แล้วก็จะกลัว เขารู้สึกว่าเขาเป็นที่หวาดกลัว นี่คือสิ่งที่เราสัมผัสได้จากการพูดคุย เมื่อไรก็ตามที่เราไม่กลัวเขา เขาก็พร้อมจะเล่าให้เราฟัง” คุณยศธรเล่า
นอกจากนี้ ช่างภาพผู้นี้ยังเสริมว่า ลึกๆ แล้ว คนเหล่านี้ก็อยากจะให้เรื่องนี้จบไป ขณะเดียวกันก็อยากลุกขึ้นสู้กลับเพื่อความเป็นธรรม ทว่าด้วยบรรยากาศในพื้นที่ และอำนาจต่างๆ ที่กดทับทำให้พวกเขามองไม่เห็นทางชนะ ซ้ำยังอาจทำให้พวกเขาถูกคุกคามไม่จบสิ้น จึงทำให้การเปิดเผยเรื่องราวต่างๆ ทำได้ยาก
อย่างไรก็ตาม สำหรับคุณยศธรแล้ว อุปสรรคในการทำงานมีเพียงอย่างเดียว คือการรับมือกับเจ้าหน้าที่ ที่คอยสอดส่องและซักถามเมื่อเดินทางไปยังที่ต่างๆ ทั้งๆ ที่เขามีสิทธิเดินทางไปที่ใดก็ได้ในประเทศ ในฐานะประชาชนคนไทยคนหนึ่ง
“ความยากอย่างเดียวของเราคือการถูกทหารลาดตระเวนถามว่าคุณมาตรงนี้ทำไม ทั้งที่เราก็เป็นคนไทยคนหนึ่งที่มีสิทธิจะไปไหนก็ได้ในประเทศนี้ ตราบใดที่คนในพื้นที่ต้อนรับ เจ้าของบ้านต้อนรับ แต่เราต้องมาตอบคำถามเกือบทุกวันว่าไปไหน ทำอะไร มันจะมีคำพูดว่า คุณไม่ได้ทำผิด ทำไมต้องกลัว ผลกระทบมันไม่ได้อยู่ที่เราคนเดียว มันจะไปอยู่กับคนที่เป็นเจ้าของบ้าน ว่าเขาให้ข้อมูลอะไรกับเรา เราเป็นนักข่าวมาขุดคุ้ยเรื่องอะไรหรือเปล่า ทำให้เขากลายเป็นที่เพ่งเล็งโดยไม่จำเป็น คนในพื้นที่เขาไม่มาถามเราหรอก เขาก็ถามกันเอง ถามคนที่พาเราไป บ้านไหนที่เราเข้าไป เขาก็ไปสื่อสารกันเอง แต่พอเป็นเจ้าหน้าที่รัฐ มันถามแล้วไม่จบน่ะ เราก็โทษเขาไม่ได้เหมือนกัน เพราะเขาทำตามหน้าที่ เขาแค่บังเอิญมาเจอเรา แล้วเขาก็ถูกฝึกมาแบบนั้น พอเราตอบไป เขาก็จะรู้สึกว่าจริงเหรอ มีคนที่อยากจะมาถ่ายรูปแบบนี้จริงเหรอ เพราะมันไม่เคยมี หรือนานๆ มาที แต่เป็นลักษณะที่รัฐบาลพามา มันไม่มีใครมาเองแบบนี้” คุณยศธรกล่าว
Gray Zones พื้นที่สีเทา
สำหรับนิทรรศการภาพถ่าย “Gray Zones” หรือ “พื้นที่สีเทา” ที่จัดขึ้นที่หอศิลปวัฒนธรรมแห่งกรุงเทพมหานคร (BACC) คุณยศธรตั้งใจที่จะบอกเล่าเรื่องราว “เทาๆ” จากพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ ที่ไม่ใช่สถานที่สวยงามอย่างโลกในอุดมคติ ขณะเดียวกันก็ไม่ได้มีแต่ความดำมืด เต็มไปด้วยความรุนแรง แต่เป็นพื้นที่เทาๆ ที่มีทั้งมิตรภาพ วัฒนธรรม แหล่งท่องเที่ยวที่สวยงาม รวมถึงปัญหาสังคมอื่นๆ เช่น ยาเสพติด การละเมิดสิทธิมนุษยชน การเมืองท้องถิ่นที่รุนแรง ไม่ต่างจากจังหวัดอื่นในประเทศไทย เป็นการนำเสนอความจริงอีกชุดหนึ่ง นอกเหนือจากภาพสถานการณ์ความรุนแรงที่ยังคงเกิดขึ้น
“เราไม่ได้ต้องการพูดเรื่องความเป็นกลาง แต่เราพูดเรื่องความเป็นจริง เราไม่อยากไปบอกว่าที่นี่มันดีกว่าที่อื่น ถ้าคุณนำเสนอเสียจนมันดีเว่อร์ มันก็จะเกิดคำถามว่าที่นี่มันดีขนาดนั้นเลยเหรอ มันดีกว่าที่อื่นเหรอ แต่ที่จริงมันก็มีทั้งข้อดีข้อเสีย เหมือนที่อื่นๆ เราแค่อยากให้มันอยู่ในระดับที่เท่าๆ กัน ไม่ได้อยากให้โดดเด่นมากกว่า เราค่อนข้างเชื่อว่า อะไรที่มันเหนือจริงมากๆ คนก็ไม่เชื่อ เดี๋ยวนี้คนตั้งคำถามกับความดีมากขึ้นเรื่อยๆ เราไม่ต้องการให้คนมามองพื้นที่ตรงนี้ว่า ‘เฮ้ย มันดีจริงเหรอวะ’ เพราะมันไม่ได้ดีขนาดนั้น แต่มันก็เหมือนบ้านของคุณน่ะ แค่นั้นเอง”
สิทธิมนุษยชนในพื้นที่สีเทา
แม้จะรู้ว่าการทำงานในพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้เป็นเรื่องที่ค่อนข้างละเอียดอ่อน และการเปิดเผยข้อมูลที่ได้จากการทำงานอาจเสี่ยงที่จะส่งผลกระทบต่อคนในพื้นที่ แต่คุณยศธรก็ยังคงยืนยันว่า สิทธิมนุษยชนของคนในพื้นที่นี้ควรได้รับการเอาใจใส่เช่นเดียวกับคนในพื้นที่อื่นๆ เพราะนั่นหมายถึงสิทธิมนุษยชนของคนทั้งประเทศ
“สิทธิมนุษยชนใน 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้มันเป็นเรื่องพื้นฐาน ถ้าคุณรณรงค์เรื่องสิทธิมนุษยชนให้กับชาวบ้านเหมืองทอง เหมืองแร่ คนที่ถูกละเมิดการใช้ประโยชน์ที่ดิน คนถูกจับเพราะว่าบุกรุกป่า คุณก็ต้องพูดถึงความเท่าเทียมของคนในพื้นที่ 3 จังหวัด พูดถึงการถูกล่วงละเมิดในพื้นที่ 3 จังหวัด ได้เหมือนกัน มันก็ควรจะให้พื้นที่เขาเท่าๆ กัน ไม่ใช่ว่าพื้นที่นี้ต้องมีความสำคัญเป็นอันดับแรก แต่มันต้องพูดถึงบ้าง เหมือนพื้นที่อื่นๆ ที่มีองค์กรเข้าไปรองรับ มีสื่อมวลชนนำเสนอทุกมุมที่หลากหลาย เราแคร์ทุกพื้นที่ แต่อยากให้มันเป็นมาตรฐานเดียวกัน เราเชื่อว่าวันหนึ่ง ถ้าสิทธิมนุษยชนตรงนี้มันดีขึ้น มาตรฐานของคนทั้งประเทศจะได้รับการดูแล หรือมีชีวิตความเป็นอยู่ที่ดีกว่านี้แน่นอน” คุณยศธรสรุป
นิทรรศการ Gray Zones จัดแสดงที่บริเวณ Corner space ชั้น 1 หอศิลปวัฒนธรรมแห่งกรุงเทพมหานคร (BACC) ระหว่างวันที่ 11 – 23 มิถุนายน 2562