จับตา! ติมอร์เลสเต ลุ้นเป็นสมาชิกรายที่ 11 ระหว่างประชุมสุดยอดอาเซียน หลังล่าช้าร่วมปี

จับตา! ติมอร์เลสเต ลุ้นเป็นสมาชิกรายที่ 11 ระหว่างประชุมสุดยอดอาเซียน หลังล่าช้าร่วมปี

จับตา! ติมอร์เลสเต ลุ้นเป็นสมาชิกรายที่ 11 ระหว่างประชุมสุดยอดอาเซียน หลังล่าช้าร่วมปี
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

โปรตุเกสเป็นประเทศที่เก่าแก่มากชาติหนึ่งตั้งอยู่บนปลายสุดของภาคตะวันตกสุดของทวีปยุโรป ในช่วงพุทธศตวรรษที่ 20 นับเป็นช่วงปีทองของโปรตุเกสซึ่งมีความเจริญรุ่งเรืองอย่างมากทั้งทางด้านการทหาร การค้าขาย การเดินเรือ และการขยายอาณานิคม

โดยเฉพาะอย่างยิ่งการเดินเรือ โปรตุเกสประสบความสำเร็จอย่างมากเนื่องจากความได้เปรียบทางด้านที่ตั้งภูมิศาสตร์ เทคโนโลยีความก้าวหน้า และความชำนาญในการเดินเรือ ทำให้โปรตุเกสค้นพบเส้นทางเดินเรือใหม่ๆ ผู้มีชื่อเสียงทางด้านการเดินเรือและเป็นที่รู้จักอย่างดี คือ เจ้าชายเฮนรี นาวิกบุรุษผู้ค้นพบเส้นทางเดินเรืออ้อมทวีปแอฟริกา และวัสโก ดา กามา ซึ่งเป็นผู้ค้นพบเส้นทางเดินเรือไปยังประเทศอินเดีย

จากความเจริญรุ่งเรืองทางด้านการเดินเรือ จึงส่งผลให้โปรตุเกสเป็นประเทศที่ยิ่งใหญ่ชาติหนึ่งและมีอาณานิคมมากมายในแอฟริกา ได้แก่ แองโกล่า โมซัมบิก กีนีบิสเซา เซาโตเม ปรินซิเป และเคปเวิร์ด ในละตินอเมริกา ได้แก่ บราซิล และในเอเชีย (โปรตุเกสเป็นยุโรปชาติแรกที่เข้ามาบุกเบิกการติดต่อกับชาวเอเชีย) ประกอบด้วย เมืองกัวในอินเดีย ลังกา มะละกา มาเก๊า และเกาะติมอร์ส่วนตะวันออก

โปรตุเกสเพิ่งยอมปล่อยบรรดาอาณานิคมทั้งหมดให้เป็นเอกราชเมื่อปี พ.ศ. 2518 นี่เอง แต่ติมอร์ตะวันออกกลับถูกอินโดนีเซียเข้ายึดครองโดยผนวกเป็นส่วนหนึ่งของอินโดนีเซียจนกระทั่งปี พ.ศ. 2542 ทางองค์การสหประชาชาติได้จัดให้มีการลงประชามติว่าชาวติมอร์ตะวันออกจะเลือกเป็นเอกราชหรือจะอยู่กับอินโดนีเซีย ผลปรากฏว่าชาวติมอร์ตะวันออกเลือกเอาทางเอกราชอย่างท่วมท้น และติมอร์ตะวันออกจึงได้เอกราชในนามประเทศติมอร์เลสเต (ติมอร์ เป็นภาษามลายูแปลว่า "ตะวันออก" ส่วนชื่อประเทศเป็นทางการว่า ติมอร์เลสเต คำว่า "เลสเต" เป็นภาษาโปรตุเกสแปลว่า ตะวันออก) และได้เป็นสมาชิกองค์การสหประชาชาติในปี พ.ศ. 2545

ประเทศติมอร์เลสเต ตั้งอยู่บนเกาะติมอร์ซึ่งแบ่งออกเป็น 2 ส่วนคือ ส่วนติมอร์ตะวันตกของอินโดนีเซียกับส่วนตะวันออกคือ ประเทศติมอร์เลสเต มีเนื้อที่ประมาณ 14,874 ตารางกิโลเมตร มีเมืองหลวงคือ กรุงดิลี มีประชากรของประเทศรวมทั้งสิ้นประมาณ 1.1 ล้านคน มีภาษาราชการ 2 ภาษา คือ ภาษาโปรตุเกส (ติมอร์เลสเตตกเป็นเมืองขึ้นของโปรตุเกสนานกว่า 400 ปี) และภาษาเตตุม (ภาษามลายูแขนงหนึ่ง) โดยมีภาษาอังกฤษและภาษาอินโดนีเซียเป็นภาษาที่ใช้ในการติดต่อสื่อสารทั่วไป ประชาชนส่วนใหญ่ร้อยละ 91 นับถือศาสนาคริสต์นิกายโรมันคาทอลิก การเมืองการปกครองอยู่ในระบอบประชาธิปไตยแบบประธานาธิบดี

นอกจากนี้ ติมอร์เลสเตยังมีความเคลื่อนไหวอย่างเป็นลำดับที่ต้องการจะเข้ามาเป็นส่วนหนึ่งของประชาคมอาเซียน (ประชาคมอาเซียนคือการรวมตัวของกลุ่มประเทศในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ให้เป็นชุมชนที่มีความแข็งแกร่ง สามารถสร้างโอกาสและรับมือสิ่งท้าทายทั้งด้านการเมือง ความมั่นคง และเศรษฐกิจ เริ่มก่อตั้งในปี พ.ศ. 2510 โดยอินโดนีเซีย มาเลเซีย ฟิลิปปินส์ สิงคโปร์ และไทยเป็นสมาชิกชุดแรก และต่อมามีการรับสมาชิกเพิ่มคือ บรูไน กัมพูชา ลาว พม่า และเวียดนาม จึงรวมมีสมาชิก 10 ประเทศ)

โดยติมอร์เลสเตมีการยื่นความประสงค์ที่จะเข้าร่วมเป็นประเทศสมาชิกอาเซียนเป็นลายลักษณ์อักษรเป็นครั้งแรกเมื่อปี พ.ศ. 2554 ขณะนั้นมีอินโดนีเซียเป็นประธานอาเซียน โดยอาเซียนได้จัดตั้งคณะทำงานภายใต้คณะมนตรีประสานงานอาเซียน เพื่อศึกษานัยของการรับติมอร์เลสเตเข้าเป็นสมาชิกในทุกมิติ และพิจารณาดำเนินการตามหลักเกณฑ์การรับสมาชิกใหม่ของอาเซียน ตามข้อ 6 ของกฎบัตรอาเซียน เพื่อให้การรับสมาชิกใหม่ของอาเซียนมีกระบวนการที่ชัดเจน และนำไปสู่ข้อสรุปที่เป็นที่ยอมรับของทุกฝ่าย ทั้งนี้ ได้มีการตั้งเป้าหมายว่าจะผลักดันให้ติมอร์เลสเตสามารถเข้าร่วมเป็นสมาชิกประชาคมอาเซียนได้ภายในปี พ.ศ. 2561

ครับ! การประชุมสุดยอดอาเซียนระหว่างวันที่ 20-23 มิถุนายน พ.ศ. 2562 ที่กรุงเทพมหานคร โดยมีไทยเป็นประธานในที่ประชุม อาจจะมีข่าวความก้าวหน้าที่จะรับติมอร์เลสเตเป็นสมาชิกอันดับที่ 11 ของประชาคมอาเซียน เพราะว่าจนถึงตอนนี้เป้าหมายที่จะผลักดันให้ติมอร์เลสเตเป็นสมาชิกประชาคมอาเซียนก็ช้าไปกว่าที่กำหนดร่วม 1 ปีแล้วนั่นเอง

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook