คดี เดวิด คาร์ราดีน...บทวิพากษ์มาตรฐานจริยธรรม นสพ.ไทย

คดี เดวิด คาร์ราดีน...บทวิพากษ์มาตรฐานจริยธรรม นสพ.ไทย

คดี เดวิด คาร์ราดีน...บทวิพากษ์มาตรฐานจริยธรรม นสพ.ไทย
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

มันเป็นสิทธิของคนตาย ไม่มีใครอยากเห็นจดหมายลาตายด้วยลายมือตัวเองอยู่ในหน้าหนึ่ง เพราะเป็นเรื่องส่วนตัวที่จะเขียนถึงใคร คนตายแล้ว ก็มีสิทธิเช่นเดียวกัน จะต้องถูกดูแลกำกับอย่างสมศักดิ์ศรี

หมายเหตุ - มติชนออนไลน์ นำเสนอบทสัมภาษณ์ของ นายวรากรณ์ สามโกเศศ ผ่านรายการ"เช้าทันโลก" เอฟเอ็ม 96.5 ถึงมาตรฐานของสื่อหนังสือพิมพ์ไทย กรณีหนังสือพิมพ์ไทยรัฐนำรูปศพ นายเดวิด คาร์ราดีน มาตีพิมพ์

นายวรากรณ์ สามโกเศศ นักวิชาการอิสระและอดีตรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงศึกษาธิการ กล่าวว่า หลังจากเกิดเหตุการณ์ขึ้น ก็รู้สึกสนใจเรื่องนี้ จึงลองค้นดูคำว่า ออโต้อีโรติก พบว่ามีมาตั้งแต่ปีค.ศ.1600 เนื่องจากสังเกตเห็นว่าผู้ที่ถูกแขวนคอตาย หลังจากตายไปแล้วพบว่า ผู้ชายอวัยวะแข็งตัว จากนั้นก็เกิดความพยายามที่จะรักษาโรคที่ทำให้อวัยวะอ่อนตัว คนจึงคิดว่าอาการขาดออกซิเจนตายโดยการถูกแขวนคอมีผลกระทบทางสมอง ทำให้อวัยวะแข็งตัวได้ จึงมีคนที่กระตุ้นความรู้สึกทางเพศของตนเอง โดยทำให้ขาดออกซิเจน และเริ่มทำมาตั้งแต่ปีค.ศ. 1700 ทั้งนี้ ประเทศสหรัฐอเมริกามีคนเสียชีวิตด้วยการพยายามทำอย่างนี้ 250-1000 คนต่อปี

ผู้ดำเนินรายการถามว่า นิตยสารต่างประเทศระบุว่าคนที่กระทำออโต้อีโรติก จะมีผ้ารองเพื่อไม่ให้คอเป็นรอย นายวรากรณ์ กล่าวว่า จากเอกสารที่มีพบว่ามีหลายกรณีที่พยายามผูกคอเพื่อให้ขาดออกซิเจน และมีเชือกที่สามารถปลดออกขณะที่ผ่านภาวะนั้นไปแล้ว แต่บางคนกลับขาดออกซิเจนอย่างรุนแรงจนไม่สามารถปลดเชือกได้ ซึ่งเป็นการตายโดยไม่ตั้งใจ

"ปัญหาที่เกิดขึ้น คือ ครอบครัวของ เดวิด คาร์ราดีน ไม่อยากให้ผู้คนจำระลึกถึงภาพเขาอย่างนี้ ผมอ่านในหนังสือพิมพ์ต่างประเทศที่พูดถึงการตายของเขา ก็อยากให้จำภาพเขาของ กังฟู หรือดาราที่ยิ่งใหญ่ในวัย 40-50 มากกว่าคนแก่ที่เสียชีวิตด้วยข้อสงสัยนี้ในวัย 70 นี่เป็นความรู้สึกตอนแรก ต่อมาเมื่อเห็นภาพนี้ในหนังสือพิมพ์ไทย ก็ตกใจ ครอบครัวก็ไม่อยากให้เชื่ออย่างนี้ จึงบอกออกมาว่า ต้องมีเงื่อนงำ นี่เป็นการคาดเดาของผมเอง ทั้งที่ตำรวจไทยพูดแต่แรกว่า กระทำการอย่างรอบคอบ เพราะรู้ว่ากรณีนี้เป็นกรณีที่สำคัญอย่างมาก กรณีระหว่างประเทศ เจ้าหน้าที่สถานทูตก็ร่วมอยู่ในการเก็บหลักฐานต่างๆ" นายวรากรณ์ กล่าว

นายวรากรณ์กล่าวว่า ว่า รายการ ลาร์รี คิง ไลฟ์ ที่ให้สัมภาษณ์ว่ามีเงื่อนงำที่ต้องสงสัยอย่างแน่นอน หลังจากนั้นก็ระบุว่าเป็นแก๊งคล้ายๆ อั้งยี่ กังฟู เหมือนบรูซ ลี ทำให้ไม่เป็นผลดีต่อภาพพจน์ประเทศไทย

นายวรากรณ์ กล่าวถึงกรณีสื่อไทยเอารูปมาลงพาดหัวหน้าหนึ่งว่า สื่อไทยใช้มาตรฐานไทย นำรูปเหล่านี้ลงในหนังสือพิมพ์ใหญ่ๆ ภาพเลือด แขวนคอ ซึ่งไม่เคยเห็๋นในหนังสือพิมพ์ด้อยพัฒนาประเทศอื่น ทั้งประเทศอินเดียหรือฟิลิปปินส์ แต่ครั้งนี้เป็นเรื่องระหว่างประเทศ เพราะเป็นคนที่มีชื่อเสียงระดับโลก ในมาตรฐานต่างประเทศ จะไม่มีเรื่องอย่างนี้เด็ดขาด ญาติก็ต้องรู้สึกเป็นธรรมดา

นอกจากนี้ คำถามคือ ภาพอย่างนี้หลุดออกมาได้อย่างไร ไม่มีสื่อไปถ่ายรูป จึงตั้งข้อสงสัยกันว่า หลุดออกไปจากกองสืบสวนสอบสวนหรือไม่ "มันเป็นสิทธิของคนตาย ไม่มีใครอยากเห็นจดหมายลาตายด้วยลายมือตัวเองอยู่ในหน้าหนึ่ง เพราะเป็นเรื่องส่วนตัวที่จะเขียนถึงใคร ไม่ใช่แค่มนุษย์ที่มีสิทธิ แต่คนตายแล้ว ก็มีสิทธิเช่นเดียวกัน จะต้องถูกดูแลกำกับอย่างสมศักดิ์ศรี"

นายวรากรณ์ กล่าวด้วยว่า การนำภาพมาเผยแพร่เป็นประเด็นที่สังคมไทยควรจะพูดกันว่าสมควรหรือไม่ที่ภาพเต็มไปด้วยเลือด โดยเฉพาะหนังสือพิมพ์กรอบบ่ายว่า เราควรจะมีข้อจำกัดหรือไม่ รวมทั้งเรื่องการแถลงข่าวว่า จะพูดแค่ไหน อย่างไร ก็ควรมีระเบียบปฏิบัติ ขอบเขตของหน่วยงานไหนควรจะพูดเรื่องนี้อย่างไร

เรื่องออโต้อีโรติก ที่มีการให้สัมภาษณ์จากสถาบันนิติเวช กระทรวงยุติธรรม ทำให้คนพูดกันว่าเป็นกรณีนี้อย่างแน่นอน โดยปกติในต่างประเทศจะระบุว่าเสียชีวิตด้วยกรณีที่น่าสงสัย แต่จะไม่ลงในรายละเอียด จึงควรเป็นประเด็นที่สภาการหนังสือพิมพ์แห่งชาติและสังคมต้องพูดคุยกัน ถึงเรื่องมาตรฐานดังกล่าว ขณะนี้เราเป็นโลกาภิวัฒน์ จึงน่าจะเป็นการยกจิตใจของคนในเรื่องดีงาม

ผู้ดำเนินรายการ ยังกล่าวถึงงานวิทยานิพนธ์ของมหาวิทยาลัยหอการค้าไทย ที่สำรวจหนังสือพิมพ์หัวสี 3 ฉบับ ประกอบด้วย เดลินิวส์ ไทยรัฐ และข่าวสด ตั้งแต่เดือนมกราคม-ธันวาคม ปี 2540 ทั้งหมด 366 ฉบับ พบว่ามีภาพข่าวที่มีความรุนแรงประมาณ 221 ภาพ จาก 1,708 ภาพ ซึ่งมีความรุนแรงทั้งภาพและคำ โดยไทยรัฐเป็นหนังสือพิมพ์ที่นำเสนอรุนแรงที่สุดในแง่ปริมาณภาพ ส่วนขนาดของภาพนั้น คือ ข่าวสด

นายวรากรณ์ กล่าวว่า คยถามคนที่ดูแลหน้าหนึ่งหนังสือพิมพ์เหล่านี้ และได้คำตอบว่า เพราะขายดี เมื่อถามถึงภาพของประหลาดๆ ที่ลงตีพิมพ์เช่นกัน ก็พบว่า คนซื้อเพื่อตีความไปแทงหวย แค่นี้ก็เห็นมาตรฐานของคนอ่านว่า คนชอบเรื่องตื่นเต้น เหมือนภาพยนต์ไทยสมัยก่อน มาตรฐานอยู่ที่ว่าคนดูแค่ไหน มาตรฐานก็แค่นั้น แต่ผู้สร้างดีๆ ก็กำหนดสิ่งดีๆ คนไทยก็ติด และไม่ดูหนังที่ไม่ดี จึงอยากนำมาตรฐานมาใช้ในกรณีนี้ มองว่าการที่สังคมร่วมกันชี้แนะ และสภาการหนังสือพิมพ์ฯควรพิจารณาภายในถึงเรื่องเหล่านี้ ควรร่วมกำหนดกับภาคประชาชน เพราะความรุนแรงไม่ดีต่อเด็ก ซึ่งพวกเขาก็บอกว่าไม่อ่าน เพราะกลัวภาพดังกล่าว ทำให้เสียโอกาสในการอ่าน

เมื่อถามว่า สื่อไทยทรงอิทธิพลมาก เพราะที่ผ่านมาไม่มีใครกล้าร้องเรียน นายวรากรณ์ กล่าวว่า คงไม่ใช่ หนังสือพิมพ์ด้วยกันเอง ต้องพิจารณาร่วมกัน โดย เฉพาะสภาการหนังสือพิมพ์ฯที่มีตัวแทนทั้งจากฉบับใหญ่และฉบับเล็ก มาเป็นกรรมการร่วมกัน แต่อาจจะเป็นความเคยชินที่ไม่วิจารณ์ซึ่งกันและกัน แต่กลับทำให้สาธารณชนเสียประโยชน์ สังคมจะต้องเรียกร้อง และทางสภาการหนังสือพิมพ์ฯก็ต้องคิดว่าถึงเวลาแล้วหรือยัง ที่จะพิจารณาเรื่องต่างๆ เหล่านี้

ผู้ดำเนินรายการถามอีกว่า เมื่อเดือนกุมภาพันธ์ปีนี้ ทางสมาคมวิชาการนิเทศศาสตร์และสื่อสารมวลชนแห่งประเทศไทย เคยทำหนังสือเปิดผนึกถึงสื่อมวลชนเรื่อง หยุดความรุนแรงและการละเมิดสิทธิ์ในสื่อมวลชน เนื้อหาระบุว่าหนังสือพิมพ์ประชานิยม ยอดจำหน่ายสูง ได้ตีพิมพ์ถึงความรุนแรง ความอุจาด น่าหวาดเสียว ไม่คำนึงถึงความรู้สึกของสาธารณชนและความรู้สึกของประชาชน โดยขอให้เลิกเรื่องเหล่านี้

นายวรากรณ์ กล่าวว่า สภาการหนังสือพิมพ์ฯ เป็นกลไกที่สังคมน่าจะเรียกร้องได้อย่างมีประสิทธิภาพ เนื่องจากมีหน้าที่ดูแลกันเอง โดยคิดว่าหากทำเรื่องนี้ให้เป็นประเด็น จะมีแรงกดดันในการเปลี่ยนแปลง ถ้ามีความรู้สึกในเรื่องนี้ต้องมีการแสดงออก อย่างเช่น อินเตอร์เน็ตก็สามารถแจ้งได้โดยตรงไปสู่สภาการหนังสือพิมพ์ฯ หากพวกเราแสดงความเห็นอย่างชัดเจนก็เชื่อว่าจะมีการพิจารณาในเรื่องนี้

ผู้ดำเนินรายการระบุว่า ทางเว็บไซต์มีการพูดคุยเรื่องประเด็น ญาติของ เดวิด คาร์ราดีน ฟ้องในเรื่องนี้ เพราะว่าเป็นการเขย่าวงการ นายวรากรณ์ กล่าวว่า ควรจะต้องเปลี่ยนทิศทาง หากสื่อโทรทัศน์ ภาคประชาชน ภาครัฐ และหน่วยราชการต้องช่วยกันเรียกร้องเพื่อสิทธิมนุษยชน อาทิ กรณีเด็กเชียงใหม่ที่มีภาพแขวนคอ โดยความรุนแรงทางภาพ ก็เป็นความรุนแรง ขอเรียกร้องคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนว่า ควรมีผู้รับผิดชอบ อย่างเจ้าหน้าที่ตำรวจก็มีบทบาทที่สำคัญเช่นกัน นอกจากนั้น ยังมีกระทรวงวัฒนธรรม ซึ่งคิดว่า หากออกมาพร้อมๆ กัน ในหลากหลายมุม โดยเฉพาะประชาชนที่มีความรู้สึกนี้อยู่ในใจ และอยากเรียกร้องให้สภาการหนังสือพิมพ์ฯ ทำสิ่งที่สอดรับกับความต้องการของประชาชน

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook