จับตา "แผลเก่า" ของว่าที่คณะรัฐมนตรีลุงตู่ 2 จะยอมปิดตาข้างเดียวหรือยึดหลักการ?
ตามคิว เสร็จจากประชุมสุดยอดอาเซียนที่กรุงเทพฯ “นายกฯ ลุงตู่” พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ต้องเดินทางไปประชุมจี 20 ที่นครโอซากา ประเทศญี่ปุ่น วันที่ 27-28 มิ.ย. ถัดจากนั้นกลับมาน่าจะมีเวลาเคาะสรุปเสียทีกับปม “ศึกเก้าอี้ดนตรี” โผรายชื่อ 35 รัฐมนตรีใน ครม. “ลุงตู่ภาค 2” ที่อยู่ในขั้นตอน “ตรวจสอบคุณสมบัติ” อีกรอบ
ด้วยการให้ “ว่าที่รัฐมนตรี” ของแต่ละพรรคกรอกเอกสารคุณสมบัติส่งกลับมาให้ “ลุงตู่” พิจารณาให้ถ่องแท้ทั้ง “นิตินัย” และ “พฤตินัย” รวมถึง “พฤติกรรม” ที่จะต้องมีความ “ถูกต้อง” และ “เหมาะสม” ตอบโจทย์ทั้งการจัดการ “โควตา” แบบ “บัวไม่ให้ช้ำ..น้ำไม่ให้ขุ่น” กับ 17 พรรคร่วมรัฐบาล และต้องสามารถกลบข้อครหา “ครม.ยี้” หรือ “ครม.ครอบครัว” เรียกว่าต้อง “สแกนกรรม” ขั้นสุดท้ายอย่างละเอียดก่อนนำขึ้นทูลเกล้าฯ ถวาย ในช่วงปลายเดือนนี้หรือต้นเดือนกรกฎาคม เพื่อเข้าสู่โหมดต่อไปในการบริหารประเทศของรัฐบาลใหม่ไม่ให้สะดุด
ที่น่าสนใจคือการยอมรับจาก “วิษณุ เครืองาม” ว่ามีการร้องเรียนเรื่องคุณสมบัติรัฐมนตรี ทำให้ต้องใช้วิธี “สแกนกรรม” อย่างเข้มข้นขึ้น โดยมีการนำมาตรา 98 ของรัฐธรรมนูญมาปรับใช้โดยอนุโลมกับ ส.ว. และรัฐมนตรี ซึ่งมีลักษณะคล้ายกัน โดยแยก 2 ประเภท คือ 1. เรื่องคุณสมบัติและลักษณะต้องห้ามตามกฎหมาย ซึ่งจะหลบจะเลี่ยงไม่ได้ 2. เรื่องของความเหมาะสม คือแม้ไม่ผิดกฎหมายแต่โลกตำหนิก็ต้องเป็นดุลยพินิจของคนตั้งรัฐบาลจะเป็นผู้พิจารณา ซึ่งในอดีตเคยมีตรวจสอบแล้วลักษณะต้องห้ามไม่ผ่าน ก็ต้องแจ้งพรรคไปให้เปลี่ยนคน ซึ่งในส่วนนี้ยังรวมถึงต้องดูไม่ให้ขัดกันของผลประโยชน์ด้วย
น่าสนใจเช่นกันว่าในรัฐธรรมนูญ มาตรา 160 ที่กำหนดคุณสมบัติรัฐมนตรียังเขียนค่อนข้างละเอียดจนแทบจะ “ผูกมัด” ซึ่งอาจเกิดปัญหาการ “ตีความ” หรือถูกย้อนแย้งได้สำหรับคนที่จะเข้ามาเป็น “รัฐมนตรี” หรือ “นายกรัฐมนตรี” โดยเฉพาะในมาตรา 160 (4) ที่ระบุว่า “รัฐมนตรี” ต้องมีคุณสมบัติ “มีความซื่อสัตย์สุจริตเป็นที่ประจักษ์” ที่ “เกจิการเมือง” ท่านหนึ่งถึงกับชี้ว่าข้อนี้อาจจะเป็นปัญหาและก่อวิกฤติเช่นกับกรณีการกำหนดคุณสมบัติ “ห้ามเป็นเจ้าของหนังสือพิมพ์และสื่อมวลชนใดๆ” ที่กำลังเป็นปัญหาทั้ง ส.ส. และ ส.ว. อยู่ในขณะนี้
โดยเฉพาะคำว่า “เป็นที่ประจักษ์” ที่หากมีการร้องถึง “บาดแผลเก่า” ในอดีตของหลายคน หรือร้องถึงการไม่ซื่อตรงในคำสัญญาที่หาเสียงในช่วงเลือกตั้งเป็นที่ประจักษ์ หรือการที่ใครหลายคนที่มีโผเป็น “ว่าที่รัฐมนตรี” บอกว่าไม่เรียกร้องตำแหน่งทางการเมืองแต่กลับแสดงอาการต่อรองกันอย่างชัดเจน จะถือเป็นความซื่อสัตย์หรือไม่ หรือแม้กระทั่งการที่มีข่าวคราวชื่อเสียงด่างพร้อยในการไม่รักษาประโยชน์ประเทศชาติ หรือมีความเกี่ยวพันเกี่ยวข้องในการทุจริตฉ้อฉลหรือเอื้อประโยชน์ให้ต่างชาติหรือนายทุนใหญ่จะถือเป็นความสุจริตที่ประจักษ์หรือไม่?
เรียกว่า “รัฐธรรมนูญ” ฉบับ “ซือแป๋” ได้เขียน “ล็อก” ในหลายสิ่งหลายอย่างไว้ ที่ทางหนึ่งดูจะเป็นประโยชน์ แต่ทางหนึ่งก็ส่งผลยากในทางปฏิบัติ ยิ่งในยุคสมัยที่เข้าสู่โหมดการเมืองที่ย่อมจะมีการ “ตีความ” กฎหมายเข้าข้างตัวเองอยู่แล้ว ที่สำคัญมักไม่จบในชั้นเดียว เพราะยังมีกลไกกลเกมในสภาเป็น “ปัจจัย” ในการตรวจสอบแบบเป็นมิตรและศัตรู ขึ้นอยู่กับ “ผลประโยชน์” และ “การต่อรอง” รออยู่ทุกช็อต
แน่นอนว่านาทีนี้สำหรับ “นายกฯ ลุงตู่” ผู้ที่จะ “สแกนกรรม” ว่าที่รัฐมนตรีด่านสุดท้าย ก็ย่อมต้องคิดหนักก่อนตัดสินใจเคาะว่าจะยอม “ปิดตาข้างเดียว” คำนึงถึง “โควตา” เพื่อ “ความสงบสุขภายใน” หรือจะยึดตาม “หลักการ”
เพราะยังไงหากมีการตรวจสอบย้อนกลับมา “ลุงตู่” ก็ต้องรับผิดชอบทั้งสิ้นกับผลพวงที่ตามมา เมื่อมีการนำรายชื่อ “ว่าที่รัฐมนตรี” เหล่านี้ขึ้นทูลเกล้าฯ ถวายไปแล้ว...