บีทีเอส ชี้มีโทษปรับ "ดึงคันโยกฉุกเฉิน" ย้ำโปรดใช้ยามจำเป็นเท่านั้น
ใช้เฉพาะฉุกเฉินเท่านั้น! รถไฟฟ้าบีทีเอสชี้แจง "ดึงคันโยกฉุกเฉิน" เพื่อให้ขบวนรถหยุดกระทบต่อการเดินรถ เจ้าหน้าที่ควบคุมต้องใช้เวลารีเซ็ตขบวนรถทุกครั้ง จึงมีโทษปรับหากใช้โดยไม่จำเป็น
นายสุมิตร ศรีสันติธรรม ผู้อำนวยการใหญ่สายปฏิบัติการบีทีเอส ระบุว่า จากกรณีที่มีผู้โดยสารรถไฟฟ้า BTS ดึงคันโยกฉุกเฉิน (PER - Passenger Emergency Release หรือ พีอีอาร์) เพื่อให้ขบวนรถหยุดรอเพื่อน ในวันที่ 30 มิถุนายน 2562 ที่ผ่านมานั้น
จึงขอเรียนผู้โดยสารทุกท่านทราบว่า ทุกครั้งที่ดึง PER จะกระทบต่อการเดินรถ เพราะเจ้าหน้าที่ควบคุมรถจะต้องใช้เวลารีเซ็ตขบวนรถทุกครั้ง ขบวนที่ตามหลังมาก็ต้องจอดคอยต่อๆ กันไป เพื่อรักษาระยะห่างให้ปลอดภัยเสมอ แต่เกิดความล่าช้าสะสม และกระทบผู้โดยสารท่านอื่นๆ จึงมีข้อกำหนดให้มีโทษปรับหากใช้โดยไม่จำเป็น
สำหรับ PER มีไว้ใช้เปิดประตูขบวนรถ เมื่อเกิดเหตุฉุกเฉินในขณะที่รถจอดสนิท ซึ่งติดตั้งอยู่บริเวณด้านข้างประตูทุกประตู และทุกขบวนรถ พร้อมติดสติกเกอร์ที่มีคำแนะนำการใช้งานคาดไว้ทุกชิ้น ตัวอย่างการใช้ PER เช่น ขบวนรถไฟฟ้าจอดสนิทที่สถานี ท่านอยู่ในขบวนรถ แต่พบผู้โดยสารท่านอื่นขาตกในช่องว่างระหว่างชานชาลา ก็สามารถดึง PER เพื่อไม่ให้รถเคลื่อนที่ได้
แต่หากพบผู้โดยสารเป็นลม หรือป่วย หรือต้องการความช่วยเหลือขณะที่อยู่ในขบวนรถ โปรดกดปุ่มกระดิ่ง แจ้งเจ้าหน้าที่ได้ทันที จากนั้นเจ้าหน้าที่จะประสานสถานีถัดไปให้เตรียมการช่วยเหลือทันที โดยไม่ต้องเสียเวลาจอดนาน เพื่อรีเซ็ตขบวนรถ สำหรับปุ่มกระดิ่ง อยู่บริเวณเดียวกับ PER ในทุกตู้โดยสาร
ซึ่งที่ผ่านมา มีกรณีที่พบได้บ่อยกว่ากรณีอื่น คือ มีผู้เป็นลมในขบวนรถ ผู้โดยสารจึงดึง PER ซึ่งทำให้ขบวนรถต้องหยุดนานกว่าปกติที่สถานีถัดไปโดยไม่จำเป็น
ทั้งนี้ ระบบการเดินรถของบีทีเอส ยึดหลัก fail - safe คือ หากตรวจพบความผิดปกติใดก็ตามในการเดินรถ ไม่ว่าจะเป็น ขบวนรถ ระบบอาณัติสัญญาณ หรือราง คอมพิวเตอร์ควบคุมการเดินรถ จะสั่งให้ขบวนรถหยุดไว้ก่อนเสมอ นี่คือที่มาของเสียงประกาศจัดการจราจรในขบวนรถ แต่ช่วยให้การเดินรถตลอด 20 ปีที่ผ่านมา มีความปลอดภัย และไม่เคยเกิดอุบัติเหตุร้ายแรง