"ผู้ช่วยรัฐมนตรี" ตำแหน่งสุดแปลก เอี่ยวการเมืองแต่ไม่ต้องยื่นบัญชีทรัพย์สินต่อ ป.ป.ช.

"ผู้ช่วยรัฐมนตรี" ตำแหน่งสุดแปลก เอี่ยวการเมืองแต่ไม่ต้องยื่นบัญชีทรัพย์สินต่อ ป.ป.ช.

"ผู้ช่วยรัฐมนตรี" ตำแหน่งสุดแปลก เอี่ยวการเมืองแต่ไม่ต้องยื่นบัญชีทรัพย์สินต่อ ป.ป.ช.
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

ผู้ช่วยรัฐมนตรีหรือที่เรียกกันเต็มๆ แบบเป็นทางการว่า “กรรมการผู้ช่วยรัฐมนตรี” โดยตำแหน่ง “กรรมการผู้ช่วยรัฐมนตรี” เป็นตำแหน่งที่ตั้งขึ้นมาในสมัยรัฐบาลทักษิณตามระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรี ฉบับลงวันที่ 6 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2546 แบบว่าตั้งขึ้นมาช่วยงานรัฐมนตรีนั่นแหละ นัยว่าใหญ่กว่าปลัดกระทรวงเสียอีก

เดิมทีเดียวกรรมการผู้ช่วยรัฐมนตรีต้องมีจำนวนไม่เกิน 30 คน และผู้ช่วยรัฐมนตรีเหล่านี้ไม่มีเงินเดือนได้แต่ค่าเบี้ยประชุมเท่านั้น แต่ต่อมาไม่นานเพียง 2 เดือน ในเดือนเมษายน พ.ศ. 2546 ก็มีระเบียบของกระทรวงการคลังออกมากำหนดให้ผู้ช่วยรัฐมนตรีได้เงินเดือนๆ ละ 63,800 บาท แต่เพิ่งจะลดเงินเดือนตอนหลังการตั้งรัฐบาลใหม่หลังการรัฐประหาร พ.ศ. 2557 เพื่อที่จะเพิ่มจำนวนผู้ช่วยรัฐมนตรีเป็น 40 คน ใน พ.ศ. 2559

สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาชี้แจงว่า ผู้ช่วยรัฐมนตรีไม่ใช่ “ข้าราชการการเมือง” เนื่องจากการเป็นข้าราชการการเมืองนั้นเป็นสถานะที่จะต้องกำหนดให้มีขึ้นตามกฎหมาย ดังเช่น ในพระราชบัญญัติระเบียบข้าราชการการเมือง พ.ศ. 2535 พระราชบัญญัติระเบียบข้าราชการฝ่ายรัฐสภา พ.ศ. 2518 หรือพระราชบัญญัติระเบียบบริหารราชการกรุงเทพมหานคร พ.ศ. 2528 เป็นต้น

โดยตามพระราชบัญญัติดังกล่าวบัญญัติไว้ชัดเจนว่า ผู้ซึ่งจะเป็นข้าราชการการเมืองได้ต้องเป็นผู้ดำรงตำแหน่งที่กำหนดไว้ในกฎหมายนั้นๆ แต่เมื่อตรวจสอบกฎหมายที่เกี่ยวข้องแล้ว ไม่ปรากฏว่ามีกฎหมายใดกำหนดให้ตำแหน่งผู้ช่วยรัฐมนตรีเป็นตำแหน่งข้าราชการการเมือง ดังนั้นผู้ดำรงตำแหน่งผู้ช่วยรัฐมนตรีจึงไม่มีฐานะเป็นข้าราชการการเมือง

แต่อย่างไรก็ตาม แม้ว่าไม่ใช่ข้าราชการการเมือง แต่ผู้ช่วยรัฐมนตรีก็เป็น “ผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง” ซึ่งหมายถึง ผู้ดำรงตำแหน่งที่มีหน้าที่อำนวยการบริหารประเทศหรือควบคุมการบริหารราชการแผ่นดิน โดยรวมถึงบรรดาผู้ที่รับผิดชอบงานด้านการเมืองทั้งหมด ซึ่งมีความหมายกว้างกว่าคำว่า “ข้าราชการการเมือง” และมีตัวอย่างเช่น คณะรัฐมนตรี สมาชิกรัฐสภา และผู้ดำรงตำแหน่งอื่นที่มีลักษณะทำนองเดียวกันที่มีอำนาจหน้าที่ในการอำนวยการบริหารประเทศหรือควบคุมการบริหารราชการแผ่นดิน

และเมื่อพิจารณาอำนาจหน้าที่ของผู้ช่วยรัฐมนตรีในระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรีว่าด้วยคณะกรรมการผู้ช่วยรัฐมนตรี พ.ศ. 2546 ก็กำหนดให้มีอำนาจหน้าที่ในการช่วยเหลือการปฏิบัติหน้าที่ของคณะรัฐมนตรี รัฐมนตรี หรือรัฐมนตรีต่างๆ นั่นทำให้ผู้ช่วยรัฐมนตรีจึงเป็นผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองด้วย

สำหรับการแสดงบัญชีรายการทรัพย์สินและหนี้สินอันเป็นมาตรการหนึ่งในการตรวจสอบป้องกันการฉ้อราษฎร์บังหลวง โดยกำหนดให้ผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองต้องยื่นแสดงบัญชีรายการทรัพย์สินและหนี้สินของตน คู่สมรส และบุตรที่ยังไม่บรรลุนิติภาวะต่อคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (คณะกรรมการ ป.ป.ช.) มีขึ้นทุกครั้งที่เข้ารับตำแหน่งหรือพ้นจากตำแหน่ง

ซึ่งโทษของการไม่ยื่นบัญชีรายการทรัพย์สินและหนี้สิน มีการยื่นข้อความอันเป็นเท็จ หรือปกปิดข้อเท็จจริง คือ ต้องพ้นจากตำแหน่งหรือถูกตัดสินมิให้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองเป็นเวลา 5 ปี ส่วนผู้ที่มีทรัพย์สินเพิ่มขึ้นผิดปกติจะถูกดำเนินคดีโดยให้ทรัพย์สินที่เพิ่มขึ้นนั้นตกเป็นของแผ่นดิน

เมื่อผู้ช่วยรัฐมนตรีไม่ใช่ข้าราชการการเมืองตามที่คณะกรรมการกฤษฎีกาชี้ขาดแล้ว แต่เป็นผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง เหตุใดจึงไม่ต้องแสดงบัญชีรายการทรัพย์สินและหนี้สินดังเช่นผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองอื่นๆ

น่าสงสัยเหลือเกิน...

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook