"วินัย ไกรบุตร" ป่วยโรคตุ่มน้ำพอง ทีมแพทย์จุฬาฯ เผยรักษาหาย ข่าวลือถึงตายไม่จริง

"วินัย ไกรบุตร" ป่วยโรคตุ่มน้ำพอง ทีมแพทย์จุฬาฯ เผยรักษาหาย ข่าวลือถึงตายไม่จริง

"วินัย ไกรบุตร" ป่วยโรคตุ่มน้ำพอง ทีมแพทย์จุฬาฯ เผยรักษาหาย ข่าวลือถึงตายไม่จริง
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

จากกรณีที่ เมฆ-วินัย ไกรบุตร นักแสดงชื่อดัง หรือชื่อจริง นายหัฒศนัย ไกรบุตร ได้เข้ารับการรักษาอาการป่วยตุ่มน้ำพอง ที่โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ จนในช่วงแรกอาการเริ่มกลับมาดีขึ้น แต่เมื่อวันที่ 30 มิ.ย. ที่ผ่านมา ต้องกลับเข้าไปนอนโรงพยาบาลอีกครั้ง เนื่องจากมีภาวะเม็ดเลือดขาวที่สูงขึ้นและมีผื่นกลับมาขึ้นมาบนผิวหนัง ต้องอยู่ในความดูแลอย่างใกล้ชิด

ล่าสุด เมื่อช่วงเวลาประมาณ 15.00 น. ของวันนี้ (5 ก.ค.) ทีมคณะแพทย์โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ ได้ตั้งโต๊ะแถลงข่าว ณ ห้องประชุม 1210 ชั้น 12 อาคารภูมิสิริมังคลานุสรณ์ โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ ถึงอาการป่วยของ วินัย ไกรบุตร ซึ่งถือว่าเป็นโรคที่หายากอัตราพบเพียงแค่ 1 ใน 4 แสนคนเท่านั้น 

 

โดย ศ.ดร.นพ.ประวิตร อัศวานนท์ หัวหน้าสาขาวิชาตจวิทยา ภาควิชาอายุรศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และฝ่ายอายุรศาสตร์ โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ สภากาชาดไทย กล่าวว่า 

"โรคผิวหนังมีจำนวนหลายพันโรค เพราะผิวหนังเป็นอวัยวะที่อยู่ภายนอก เมื่อเกิด ผื่น ตุ่ม ฝี หรือมีร่องรอยต่างๆ มักจะเห็นได้ง่าย จึงทำให้มีการตั้งชื่อโรคผิวหนังต่างๆ มากมาย บางชื่ออาจไม่เป็นที่คุ้นหูมากนักสำหรับคนไทย อาทิ เพมฟิกอยด์ ทำให้เข้าใจว่าเป็นโรคใหม่ ทั้งๆ ที่จริงมีมานานแล้ว ร่างกายของแต่ละคนมักมีโอกาสทำงานผิดปกติ โดยที่ตนเองไม่รู้ตัว อาจเนื่องมาจากสาเหตุที่ระบบอื่นๆ ในร่างกายเข้ามาจัดการควบคุมดูแลกันเอง ทำให้ไม่มีอาการแสดงออกมา"

"ภูมิต้านทานของคนเรานั้นมีหน้าที่คอยต่อสู้กับเชื้อโรคและสิ่งแปลกปลอม และมะเร็ง คล้ายกับตำรวจ ทหาร ที่คอยปกป้องประเทศ ต้องฆ่าศัตรูโดยต้องไม่ทำร้ายประชาชนของตนเอง แต่บางครั้งภูมิต้านทานเหล่านี้ก็จำผิด เลยกลับมาทำอันตรายอวัยวะของตนเองทำให้เกิดโรคแพ้ภูมิ ตัวเองขึ้น ในส่วนของโรคตุ่มน้ำพอง เป็นโรคผิวหนังเรื้อรังที่พบได้ไม่บ่อย แต่ก็ไม่ใช่โรคหายาก"

"สาเหตุเกิดจากความผิดปกติของระบบภูมิคุ้มกันที่มาทำลายโครงสร้างที่ทำหน้าที่ยึดเซลล์ผิวหนัง ทำให้ผิวหนังหลุดออกจากกันกลายเป็นตุ่มน้ำและแผลถลอก รอยโรคสามารถพบได้ทั้งผิวหนังและเยื่อบุ โรคที่พบบ่อย มี 2 กลุ่ม ได้แก่ โรคเพมฟิกัสและโรคเพมฟิกอยด์ โรคเพมฟิกัส มักพบในช่วงอายุ 50-60 ปี มีความผิดปกติที่ชั้นผิวหนังกำพร้า จะเกิดในผิวหนังชั้นตื้นกว่า แต่อาจกินบริเวณกว้าง ผู้ป่วยจึงมีแผลเสมือนถูกน้ำร้อนลวกเป็นบริเวณกว้าง และผู้ป่วยส่วนใหญ่มักมีแผลถลอกในช่องปากร่วมด้วย  มีอาการเจ็บ และอาจพบแผลถลอกที่เยื่อบุบริเวณอื่นได้ เช่น ทางเดินหายใจ เยื่อบุช่องคลอดและอวัยวะเพศ ที่ผิวหนังมีลักษณะเป็นตุ่มน้ำ แตกได้ง่าย กลายเป็นแผลถลอก มีอาการปวดแสบมากเมื่อแผลหายมักทิ้งรอยดำโดยไม่เป็นแผลเป็น"
 
"โรคเพมฟิกอยด์พบได้บ่อยกว่าโรคเพมฟิกัส มักพบในอายุมากกว่า 60 ปี หรือผู้สูงอายุเกิดจากมีการหลุดลอกของชั้นหนังกำพร้าออกจากชั้นหนังแท้ จะเกิดการแยกชั้นของผิวหนังที่ลึกกว่า แต่ก็มักจะกินบริเวณไม่กว้างมากนัก ผู้ป่วยมักมาด้วยอาการผื่นแดงคันนำมาก่อน ต่อมาเริ่มมีตุ่มน้ำใสขนาดต่างๆ กัน โดยตุ่มน้ำมีลักษณะพอง แตกยากหรืออาจแตกออกเป็นแผลถลอก รอยโรคที่เยื่อบุพบได้น้อยกว่าโรคเพมฟิกัส และมักไม่เจ็บ โดยทั่วไปความรุนแรงของโรคมักน้อยกว่าเพมฟิกัส"

"โรคตุ่มน้ำพองมักต้องอาศัยการตรวจชิ้นเนื้อทางพยาธิวิทยาร่วมกับการตรวจทางอิมมูนเรืองแสงในการวินิจฉัยโรคด้วย ยาที่ใช้รักษาเป็นหลักคือยาคอร์ติโคสเตียรอยด์และยากดภูมิคุ้มกัน ในโรคเพมฟิกอยด์ที่มีอาการไม่รุนแรง อาจใช้ยาทาคอร์ติโคสเตียรอยด์หรือยากลุ่มที่ไม่ใช่ยากดภูมิคุ้มกัน ในรายที่ตุ่มน้ำหรือแผลถลอกมีการติดเชื้อแบคทีเรียแทรกซ้อน อาจจำเป็นต้องใช้ยาปฏิชีวนะร่วมด้วย โรคตุ่มน้ำพองมีการดำเนินโรคค่อนข้างเรื้อรังเป็นเวลาหลายเดือนหรือหลายปี หลังจากโรคสงบแล้วอาจเป็นซ้ำได้ ในกรณีที่สงสัยว่าจะเป็นโรคตุ่มน้ำพอง แนะนำให้รีบไปพบแพทย์เพื่อจะได้รับการวินิจฉัยและการรักษาที่ถูกต้อง ซึ่งจะช่วยลดโอกาสการเกิดภาวะแทรกซ้อนจากโรค"

 

"คำแนะนำในการปฏิบัติตัวเมื่อเป็นโรค ควรทำความสะอาดร่างกายอย่างสม่ำเสมอ บริเวณที่เป็นแผลให้ใช้น้ำเกลือ (Normal saline)ทำความสะอาด ไม่แกะเกาผื่นเพื่อลดความเสี่ยงในการติดเชื้อ ผู้ป่วยที่มีแผลในปาก ควรงดอาหารรสจัด งดรับประทานอาหารแข็ง เช่น ถั่ว ปลาแห้ง ของขบเคี้ยว เนื่องจากอาจกระตุ้นการหลุดลอกของเยื่อบุในช่องปาก หลีกเลี่ยงการออกกำลังกายหนักๆ ไม่ควรใส่เสื้อผ้ารัดคับ เพื่อลดการถลอกที่ผิวหนัง หลีกเลี่ยงแสงแดด และความเครียด ซึ่งเป็นปัจจัยกระตุ้นที่สำคัญ"

"ทั้งนี้ ผู้ป่วยต้องมารักษาต่อเนื่องมาตามแพทย์นัดอย่างสม่ำเสมอ ทานยาต่อเนื่อง ไม่ควรลดหรือเพิ่มยาเองและดูแลรักษาแผลอย่างถูกวิธี จะช่วยให้โรคสงบได้เร็วขึ้น ทำให้ผู้ป่วยสามารถดำรงชีวิตได้เหมือนคนปกติทั่วไป ไม่มีรอยโรคใหม่เกิดขึ้น" 

ทั้งนี้ ทีมแพทย์ได้เปิดโอกาสให้สื่อมวลชนได้สักถามข้อสงสัย 

คุณหมอประเมินการรักษาไว้อย่างไร ?

"โดยทั่วไปเราดูคนไข้เป็นคนๆ บางทีการประเมินข้อมูลรวมๆ มันจะบอกยาก อย่างคุณวินัยเองก็ต้องดูอาการต่อเนื่องกัน แต่สิ่งหนึ่งที่เราทราบคือ เพมฟิกอยด์ ที่เป็นในผู้สูงอายุจะง่ายกว่าคนที่เป็นในช่วงอายุที่ไม่ได้มาก บางทีต้องดูไปตามระยะยาว ไม่ใช่ดูวันต่อวัน หรือสัปดาห์ต่อสัปดาห์ อย่างน้อยที่สุดต้องดูกันประมาณ 3 เดือนครับ ต่อไปก็เป็น 6 เดือน อะไรก็ว่ากันไป"

"แต่โรคนี้อย่างที่เรียนว่าภูมิต้านทานคนเรามันควบคุมตัวเองได้ บางทีหลายๆ ท่านจะเข้าสู่ช่วงสงบยาวๆ เลย จนเรียกว่าหายได้ แต่โรคตระกูลนี้เขาไม่ได้เรียกว่าหายสนิท เขาเรียกว่าสงบ บางครั้งสงบไปนานๆ จนถึงคล้ายว่าหายขาด"

โอกาสที่คนอายุน้อยๆ จะเป็นโรคนี้มีเยอะไหม ?

"มีโอกาสเป็นครับ แต่จะไม่เท่าคนอายุมากๆ ครับ บางทีคนเราอายุมาก การสร้างภูมิเพี้ยนบางตัวมันมากขึ้น ในขณะที่บางโรคมันจะเป็นในคนที่อายุน้อย มันแล้วแต่โรคครับ มันมีเป็นหมื่นโรคที่เกี่ยวกับภูมิ"

ที่คุณหมอบอกว่าโรคนี้อาจจะเป็นซ้ำได้ ปัจจัยที่จะทำให้เป็นซ้ำได้คืออะไร ?

"คือในคนที่เป็นแล้ว มีโอกาสเซลล์ที่ผิดๆ พวกนี้มันก็จะมาสร้างภูมิเพี้ยนๆ ใหม่ เพมฟิกอยด์มันก็หายไปนานๆ ได้ แต่วันดีคืนดีหลายๆ ปีมันอาจจะโผล่มา สิ่งที่จะบอกคนไข้ทุกคนคืออย่าไปคิดถึงจุดนั้น เพราะคนไปคิดว่าเดี๋ยวมันก็มาๆ แบบนี้มันจะทำให้ชีวิตเราจิตตก ดังนั้นไม่ต้องไปคิดถึงจุดนั้น ถ้าไปมันถึงจุดนั้น ก็รักษาใหม่ ด้วยวิทยาการที่ดีกว่าปัจจุบันก็ได้ อีก 8 ปี 10 ปี"

การออกกำลังกายเยอะมีส่วนให้เป็นโรคนี้ไหม ?

"จริงๆ ไม่น่ามี แล้วก็จริงๆ คุณเมฆก็โพสต์ในเฟซบุ๊ก ว่าโดนน้ำร้อนลวกมาก่อน ผิวหนังถลอก เป็นสาเหตุไหม อันนี้ก็ไม่เกี่ยวนะครับ เนื่องจากว่ากลไกตรงๆ หรือโรคตรงๆ มันเกิดจากภูมิที่อยู่ในเลือดเรา ที่มันเพี้ยนขึ้นมา ดังนั้นสิ่งที่อยากจะบอกคือไม่ต้องโทษอะไรเลย ไม่ต้องโทษว่ากินอาหารมื้อนั้นมา มันไม่ใช่การแพ้แบบนั้น ไม่ต้องโทษว่าไปขึ้นบีทีเอสแล้วมีคนจามใส่ แล้วติดเชื้อมา มันไม่ได้เป็นโรคติดเชื้อ มันเป็นโรคของตัวเราเอง ซึ่งบังเอิญสร้างภูมิผิดปกติขึ้นมา"

สาเหตุที่ทำให้ภูมิในร่างกายมันเพี้ยน เกิดจากอะไร มีวิธีป้องกันอย่างไรบ้าง ?

"จริงๆ ในบางโรคเราเข้าใจ เช่นสมมติว่าติดไวรัสบางตัวมา ทำให้เกิดการสร้างภูมิเพี้ยนๆ ไป หรือบางคนกินยาบางตัว ทำให้เกิดการสร้างภูมิเพี้ยนๆ ขึ้นมา อย่างนี้มีส่วนในบางโรค เพมฟิกอยด์เองก็มีส่วนจากยาบางตัวเหมือนกัน ในบางท่านถ้าทานยาบางตัวมา ก็มีส่วนทำให้เกิดได้ครับ แต่ในส่วนมากเกิน 90 เปอร์เซ็นต์ เกิดเองโดยที่ไม่มีสาเหตุ ร่างกายคนเราทุกอย่างเหมือนเครื่องจักร มันทำงานผิดพลาดได้ตลอดเวลา แต่ว่าในบางครั้งถ้ามันผิดรุนแรงพอสมควร มันก็เกิดเป็นโรคขึ้นมา"

วิธีการป้องกัน ?

"เพมฟิกอยด์ไม่มีวิธีป้องกันครับ คือเราไม่จำเป็นต้องไปคาดการณ์ล่วงหน้า โรคผิวหนังมาอยู่ 4 พันกว่าโรค ถ้าจะกันทุกโรคล่วงหน้าคงลำบาก โรคบางโรคถ้ามันมีการติดเชื้อ พวกนี้เรากันได้ เช่นฉีดวัคซีน โรคบางโรคเกี่ยวกับการกินอย่างเบาหวาน ก็ป้องกันได้ แต่โรคในกลุ่มนี้เราไม่รู้เลยว่ามันจะเพี้ยนไปตอนไหน เชื่อว่าในห้องนี้ก็มีบางโรคที่เกี่ยวข้องกับภูมิอยู่บ้าง มันเกิดขึ้นได้ตลอดเวลา แต่ไม่ต้องไปจิตตกว่าจะเป็นโรคอะไร เมื่อเกิดขึ้นก็ไปรับรักษาให้ถูกต้อง"

แนวทางการรักษาต่อจากนี้จะเป็นอย่างไร ?

"แนวทางการรักษาของคุณเมฆคือการกดภูมิในระยะแรก แล้วก็ใช้ปริมาณยาที่เหมาะสมพอสมควร เพื่อจะทำให้โรคมันหยุดนะครับ ในขณะเดียวกันก็จะปรับยาลงไปเรื่อยๆ ตามความเหมาะสม โดยที่ให้ตุ่มมันขึ้นน้อยที่สุด ขณะเดียวกันก็ไม่กดภูมิมากจนเกินไป เดี๋ยวจะไปติดเชื้อมา แต่สิ่งที่ขอคุณเมฆตอนนี้คืออย่าเพิ่งไปการกุศลมากนัก ตอนนี้เป็นช่วงพักผ่อน อย่าเพิ่งไปลุยอะไรมากๆ"

อาการตอนนี้เป็นอย่างไรบ้าง ?

"ถ้าเทียบใน 1 เดือน 1 วันที่ผ่านมา ผมถือว่าดีขึ้นมาก แต่ถ้าดูตอนนี้ ถ้าไม่รู้จักโรคจะเห็นว่าทำไมตัวมันลายจัง แต่ถ้าดูดีๆ จะเป็นลายที่แห้ง ที่หน้าก็จะมีรอยของการหาย แต่ถ้าดูเทียบกับปีที่แล้วคงหล่อน้อยลง ถ้าดูในเชิงของโรคอันนี้คือผื่นที่หาย เริ่มแห้งแล้ว ตุ่มน้ำไม่มีแล้ว ในอนาคตสีมันก็จะกลืนไปเอง"

ที่บอกว่าโรคนี้สามารถเกิดขึ้นได้ตลอดเวลา ต้องระวังอะไรเป็นพิเศษไหม ในการใช้ชีวิตประจำวัน ?

"ไม่ต้องระวังอะไรเป็นพิเศษ แต่ว่าเราคงต้องเจอกันอยู่เรื่อยๆ การรักษาด้วยยาที่สม่ำเสมอเป็นเรื่องสำคัญ อันนี้จริงๆ เป็นธรรมชาติของคนไข้หลายๆ ท่าน ที่กลับบ้านไป แล้วพอได้ยาไปทาน บางทีงานยุ่งก็ทานบ้าง ไม่ทานบ้าง ในบางกรณีถ้าเป็นยารักษาตามอาการ ก็จะไม่มีผล เป็นเมื่อไหร่ก็กิน แต่ยาในกลุ่มนี้ เราต้องการรักษาระดับยาให้มันคงที่พอสมควร เพมฟิกอยด์ส่วนใหญ่ รักษาที่บ้านคนไข้อยู่ที่บ้าน แต่คุณเมฆเราคิดว่าผื่นเยอะพอสมควร เราต้องรักษาระดับ เราก็เลยเอาจากที่ให้ทางเส้นเลือด เพื่อจะคุมโรคได้ดีกว่า กลับไปบ้านก็ต้องทานยาสม่ำเสมอ ถ้าต้องออกก่อนถ่ายข้ามคืน ก็หวาดเสียวเหมือนกันเพราะว่ายามันจะแกว่ง ยากดภูมิทั้งหลายยิ่งเวลายาไม่สม่ำเสมอ บางทีมันแก้แค้น พอกดไปนิดหนึ่งแล้วหยุด มันจะกลับมาแรงกว่าเดิม มันถึงมีช่วงแกว่งๆ ที่บอกว่าไปฉีดยามาแล้วดีขึ้น แล้วเห่อใหม่ ฉะนั้นการวางแผนรักษาจริงๆ มันต้องยาว"

เมื่อไหร่วินัยจะสามารถกลับบ้านได้ ?

"ต้องดูเป็นช่วงๆ นะครับ แต่ว่าด้วยความที่ไม่มีใครอยากอยู่โรงพยาบาลนาน ในบางครั้งถ้าคุณเมฆต้องกลับไปบ้าน คิดถึงลูก ก็อาจจะได้เป็นครั้งคราว แต่ก็ต้องคุมให้แน่ใจในระดับหนึ่งก่อน"

ต้องเฝ้าระวังภาวะแทรกซ้อนไหม ?

"เราดูอยู่ครับ เนื่องจากเป็นยากดภูมิ มันก็มีพวกเชื้อต่างๆ ที่ต้องระวัง แต่ถ้าอยู่ในโรงพยาบาล มันก็เป็นที่ที่สะอาดพอสมควร พอกลับไปบ้าน ก็เดินทางทั่วประเทศ เราก็ไม่รู้ว่าไปไหนเจออะไรบ้าง แม้แต่อาหารก็ต้องระวัง"

แผลที่ผิวหนังตอนนี้ จะหายเป็นปกติไหม ?

"เวลาหายคือหายปกติเลยครับ เพราะว่าพวกนี้มันเป็นแค่ตรงหนังกำพร้าตื้นๆ ไม่ได้ลึก แต่มันจะมีช่วงด่าง ซึ่งเป็นปกติของคนเอเชียเรา เพราะฉะนั้นเวลาผิวหนังอักเสบ มันจะด่างอยู่พักหนึ่ง เดี๋ยวมันจะจางไปเอง แต่ถ้าโดนแดดเยอะ มันก็อาจจะด่างนานหน่อย แต่ไม่เป็นแผลเป็นครับ"

ตอนแรกที่บอกว่าเม็ดเลือดขาวของวินัยมีค่าสูงผิดปกติ ตอนนี้เป็นปกติหรือยัง ?

"เม็ดเลือดขาวที่ว่า ตอนที่ข่าวออกว่ามีคนโพสต์ว่าช็อกเข้าโรงพยาบาล เม็ดเลือดขาวพุ่ง คนที่ไม่เข้าใจโรคนี้อาจจะเข้าใจว่าติดเชื้อ ซึ่งก็เป็นสิ่งที่เจอได้ แต่ที่เจอในของคุณเมฆ คือเม็ดเลือดขาวชนิดหนึ่ง มันเป็นชนิดเลือดที่เจอโรคตุ่มน้ำพองชนิดนี้ ช่วงที่ตุ่มน้ำเยอะๆ เม็ดเลือดตัวนี้มันจะสูง ซึ่งตอนที่กลับมาเข้าโรงพยาบาลเม็ดเลือดที่ควรจะลง มันกลับขึ้นไป ตอนนั้นเราก็เลยไม่ประมาท ตามหมอทางโรคเลือดมาช่วยดูด้วย พอเราให้ยาเข้าเส้นเลือดดีๆ เม็ดเลือดมันก็ลงเลย ตุ่มน้ำก็ลดลง"

อัลบั้มภาพ 13 ภาพ

อัลบั้มภาพ 13 ภาพ ของ "วินัย ไกรบุตร" ป่วยโรคตุ่มน้ำพอง ทีมแพทย์จุฬาฯ เผยรักษาหาย ข่าวลือถึงตายไม่จริง

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook